ภาษาลาวในรั้วโรงเรียน

-

เดือนตุลาคมเป็นเดือนสำคัญด้านการศึกษาของ สปป. ลาว เนื่องจากเป็นเดือนที่มี “วันครู” อันเป็นวันหยุดแห่งชาติ วันครูของลาวตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม ของทุกปี มีที่มาจากวันที่นายคำ หรือ ครูคำ ນາຍຄູຄໍາ ซึ่งเป็นชาวลาวได้สำเร็จวิชาครูจากโรงเรียนของฝรั่งเศสที่ฮานอยในปี 1907 และแทนที่ครูคำจะกลับมาถ่ายทอดวิชาความรู้ให้รับใช้จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว ก็ได้ปลูกฝังสอนความรักชาติและปลุกระดมชาวลาวให้มีสำนึกเรียกร้องเอกราชด้วยจนตัวเองถูกจับกุมคุมขัง รัฐบาล สปป.ลาวเมื่อปฏิวัติสำเร็จ จึงเชิดชูเกียรติของครูคำ โดยกำหนดให้วันที่ท่านสำเร็จการศึกษานี้เป็นวันครูแห่งชาติและเป็นวันหยุดรัฐการต่อมาจนถึงปัจจุบัน

คำลาวที่ใช้เกี่ยวกับการศึกษาและโรงเรียน ส่วนมากคล้ายกับคำไทยที่ใช้คำบาลี-สันสกฤต เป็นพื้นฐาน แต่ก็มีบางคำที่แตกต่างไปน่าสนใจ

 

 

ດຸໝັ່ນ ดุหมั่น หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร คำว่า ดุ ในภาษาลาว แปลว่าการกระทำเป็นประจำ, ทำบ่อยๆ ส่วน หมั่น แปลว่าการกระทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ เมื่อรวมกันเป็นคำประสม ดุหมั่น จึงหมายถึงความขยันทำเป็นประจำสม่ำเสมอ จิตใจดุหมั่นเป็นคุณค่าที่พึงประสงค์ของนักเรียนนักศึกษาในกฎหมายการศึกษาลาว

ວັດຈະນານຸກົມ วัดจะนานุกม หมายถึงพจนานุกรม หรือหนังสือค้นความหมายของคำเรียงตามลำดับอักษร มีที่มาจากการสนธิคำในภาษาบาลี วจน+อนุกรม คล้ายกับคำว่าพจนานุกรมของภาษาไทย แต่ออกเสียงตรงตัวกว่าโดยไม่แผลง ว แหวน เป็น พ พาน ทั้งนี้ ภาษาลาวยังใช้คำว่าวัดจะนานุกม สำหรับหนังสืออธิบายความหมายของคำที่เรียงตามลำดับบทแบบปทานุกรมด้วย

ຕຳລາ ตำลา หมายถึง ตำรา/หนังสือเรียน ภาษาลาวจะแยกคำว่า ปื้ม ซึ่งหมายถึงหนังสือทั่วไป ออกจาก ตำลา คือหนังสือเรียน

ເສັງ เส็ง หมายถึง การสอบ คำว่าเส็งนี้มีที่มาจากความหมายว่า การแข่งขัน การวิ่งไล่ เมื่อมาใช้ในโรงเรียนจึงหมายถึงการสอบวัดคะแนน หรือการสอบไล่เพื่อเลื่อนชั้น

ປະຖົມສົມບູນ/ມັດທະຍົມສົມບູນ ปะถมสมบูน/มัดทะยมสมบูน หมายถึง โรงเรียนประถม/มัธยมที่มีการเรียนการสอนจนครบตามชั้นที่กำหนด โรงเรียนใน สปป.ลาว แบ่งการเรียนเป็นชั้นประถมศึกษา 5 ชั้นปี คือ ประถมต้น 3 ชั้นกับประถมปลาย 2 ชั้น และมัธยมศึกษา 7 ชั้นปี คือมัธยมต้น 4 ชั้น และมัธยมปลาย 3 ชั้น และการศึกษาขั้นพื้นฐานบังคับโดยรัฐให้จบชั้นมัธยมต้น เดิมโรงเรียนในลาวมีนักเรียนและทรัพยากรน้อย จึงต้องแบ่งการสอนออกเป็นช่วงชั้นย่อย ต่อมาเมื่อมีนักเรียนและงบประมาณมากขึ้น จึงสามารถจัดการเรียนการสอนให้ครบทุกช่วงชั้นได้สมบูรณ์


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!