บ่อยครั้งที่เราได้ยินหรือได้อ่านเรื่องขำขันที่อ้างถึงคำในภาษาลาว เป็นคำที่ส่อนัยหยาบโลนหรือตลกขบขันผ่านสื่อต่างๆ คำลาวที่ผิดเพี้ยนเหล่านั้น มักมีที่มาจากวิดีโอตลกคาเฟ่เมื่อสักยี่สิบปีที่แล้วซึ่งลาวยังปิดประเทศ ไม่มีการเดินทางไปมาหาสู่กันมากนัก หรือมาจากไกด์ชาวลาวที่เล่นมุกตลกไม่เอาจริงเอาจัง แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยกลับจำมาเล่าต่อจนเลยเถิด หรือแม้กระทั่งเป็นภาษาลาวแบบเก่าที่เลิกใช้ไปแล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในความคิดของคนไทย และอาจสร้างความไม่พอใจหากนำไปใช้จริงในชีวิตเมื่อต้องติดต่อสื่อสารกับชาวลาวได้ เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับช่อง 7 ที่นำมาเผยแพร่ในรายการข่าวจนสถานทูตลาวต้องประท้วงเมื่อหลายปีก่อน
ເຮືອຍົນ หรือ ຍົນ (เฮือยน หรือ ยน) หมายถึง “เครื่องบิน” ไม่ใช่ “กำปั่นเหาะ” ส่วนแอร์โฮสเตสนั้น ถ้าไม่ทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ก็จะใช้คำว่า ສາວອາກາດ (สาวอากาด) ไม่ใช่ “นางบำเรอกำปั่นเหาะ” แบบที่ใช้ในมุกตลกโทรทัศน์
ລົດໄຟ (ลดไฟ) หมายถึง “รถไฟ” ไม่ใช่ “ห้องแถวไหล” ซึ่งเป็นคำล้อเลียนเข้าใจผิดเทียบกับเรื่องล้อคนภาคเหนือของไทยมากกว่าจะเป็นคำภาษาลาว
ຮູປເງົາ (ฮูปเงา) หมายถึง “ภาพยนตร์” ไม่ใช่ “หนังภาพ”
ຖ່າຍຮູປ (ถ่ายฮูป) หมายถึง “ถ่ายรูป” ไม่ใช่ “แหกตา”
ໄຟແດງ, ໄຟຂຽວ (ไฟแดง, ไฟเขียว) หมายถึง ไฟแดง ไฟเขียว ในสัญญาณจราจร ไม่ใช่ “ไฟอำนาจ, ไฟอิสระ” นอกจากนี้ ไฟสีส้มหรือสีเหลืองที่ใช้เพื่อเตือนให้ชะลอรถตามแยก อาจจะใช้ว่า ໄຟລະວັງ (ไฟละวัง) คือ ไฟระวัง
ເຈ້ຽອະນາໄມ (เจี้ยอะนาไม) หมายถึง กระดาษทิชชูหรือกระดาษชำระ ไม่ใช่ผ้าอนามัยสำหรับสตรี คำนี้อาจจะสับสนมาก เพราะผ้าอนามัยก็ใช้คำเรียกว่า ຜ້າອະນາໄມ ผ้าอะนาไม คล้ายกัน
ຖົງຍາງ (ถงยาง) หมายถึง “ถุงพลาสติกใส่ของ” ไม่ใช่ “ถุงยางอนามัย” ส่วนถุงยางอนามัยนั้น ภาษาลาวเรียกว่า ຖົງຢາງອະນາໄມ (ถงยางอะนาไม)
การปรับความเข้าใจให้รู้ถึงคำลาวที่ถูกต้องตรงตามความหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสมานไมตรีและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนไทยกับคนลาวผ่านภาษาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข