ภาษาลาวคราวโควิด-19

-

ภาษาลาวกับภาษาไทยนั้นมีความใกล้เคียงกัน พัฒนามาไล่เลี่ยกันในประวัติศาสตร์ ทว่าคำบางคำแม้จะดูคล้ายกัน แต่ก็มีความหมายแตกต่างกัน คนลาวฟังพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้คล่องเนื่องจากศึกษารับสื่อไทย แต่คนไทยมีไม่มากที่จะเข้าใจภาษาลาวอย่างถูกต้อง “ไขคำข้ามโขง” ขอเป็นสื่อกลางนำท่านไปรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านผู้ใกล้ชิดกับเราที่สุดนี้โดยผ่านความหมายของถ้อยคำ

ในช่วงที่เชื้อโคโรน่าไวรัสระบาด เป็นเหตุให้เกิดคำใหม่ๆ ขึ้นในสังคมทั่วโลก เพื่อใช้อธิบายสถานการณ์และการจัดการของสังคมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็ได้มีการสร้างศัพท์ใหม่ๆ ที่บางส่วนแปลจากภาษาอังกฤษ ใช้บอกกล่าวแจ้งแก่ประชาชน

 

 

ຜ້າອັດປາກ ผ้าอัดปาก – Face Mask

คำว่า “อัด” ในผ้าอัดปากนี้ ไม่ได้มีนัยยะว่าจะไปต่อยตีทำร้ายร่างกายให้ปากบวมเจ่อ แต่หมายถึง ปิดสนิทจนไม่มีช่องเปิด เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางปากเมื่อสวมใส่ เหมือนกับอัดกรอบหรืออัดกระป๋อง ตรงกับความหมายภาษาไทยของ “หน้ากากอนามัย” มากกว่าที่จะเป็นผ้าปิดปากธรรมดา

 

ການກັກກັນພະຍາດ การกักกันพะยาด – Quarantine

คำว่า “โรค” ในภาษาไทยนั้น ภาษาลาวเรียก ພະຍາດ ซึ่งมาจากภาษาบาลีว่า “พยาธิ” ขณะที่ “พยาธิ” ในภาษาไทยหมายถึงสิ่งมีชีวิตจำพวกปรสิตที่อยู่ในร่างกาย แต่ภาษาลาวกลับมองว่า อาการเจ็บป่วยต่างๆ ของคนนั้นล้วนเกิดจากเชื้อพยาธิที่แฝงตัวอยู่ในคน เช่น ພະຍາດລະບາດ พะยาดละบาด คือโรคระบาด ພະຍາດຍິງ พะยาดยิง คือโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพสตรี เป็นต้น

 

ການຮັກສາໄລຍະຫ່າງລະຫວ່າງຄົນ การฮักสาไลยะห่างละหว่างคน – Social Distancing

ในภาษาลาวนั้น คำว่า ຮັກສາ “ฮักสา” หมายความว่า ดูแล ทำให้มีสภาพดี รักษาสถานะไว้ให้คงเดิม ไม่ได้หมายถึงการรักษาโรคโดยตรง ถ้าเป็นการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจะใช้อีกคำหนึ่งว่า ປົວ “ปัว” เมื่อมีอาการเจ็บป่วยก็เรียกว่า ປົວພະຍາດ “ปัวพะยาด” ส่วนคำว่า  ໄລຍະ ตรงกับคำว่า “ระยะ” ในภาษาไทย ดังนั้น “รักษา” จึงเป็นคำสันสกฤตที่ไทยกับลาวรับมาใช้ต่างกัน แต่มีความหมายเดียวกัน

 

ໄປສົ່ງເຖິງເຮືອນ ไปส่งเถิงเฮือน – Delivery

ภาษาลาวนั้น คำว่า “บ้าน” ไม่ได้หมายถึงบ้านเป็นหลังๆ แต่หมายถึงหมู่บ้านที่เป็นหน่วยการปกครองหนึ่งของรัฐ อันมี “นายบ้าน” เปรียบเสมือนผู้ใหญ่บ้านของไทยเป็นหัวหน้ากำกับดูแล ส่วนบ้านเป็นหลังๆ ที่คนอยู่อาศัยนั้นเรียกว่า ເຮືອນ “เฮือน” การส่งสินค้าแบบ delivery จึงเป็นการไปส่งเถิงเฮือนในภาวะที่ทางการสั่งให้คนกักตัวอยู่แต่ในบ้านเช่นนี้

 

คำลาวส่วนมากใช้คำเรียบง่าย อธิบายเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง การเรียนรู้ภาษาลาวอาจเป็นกระจกสะท้อนการใช้คำในภาษาไทยที่สั้น ง่าย และสื่อสารได้ตรงความหมายยิ่งขึ้น ยังมีคำภาษาลาวอีกมากมายที่น่ารู้ และ “ไขคำข้ามโขง” จะแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักในฉบับต่อๆ ไป


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!