เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ ชาติที่มีภาษาเป็นของตนเองส่วนมากมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกเครื่องแต่งกายโดยเฉพาะ ภาษาลาวก็เช่นเดียวกัน คำที่ใช้เรียกเสื้อผ้าของลาวเกือบทั้งหมดเป็นคำโดดพยางค์เดียว และใช้การประสมคำเพื่อขยายความเมื่อต้องการคำที่มีความหมายใหม่ บางคำก็ใช้คล้ายกับไทย บางคำก็ใช้ร่วมกันกับภาษาอีสานแต่สะกดออกเสียงต่างสำเนียงกัน
ໂສ້ງ โส้ง หมายถึง กางเกงหรือเรียกรวมเครื่องแต่งกายท่อนล่างอื่นๆ ทั้งหมดด้วย ภาษาลาวออกเสียงยาวกว่าภาษาอีสานที่มักใช้คำสะกดว่า ซ่ง
ໂສ້ງໃນ โส้งใน หมายถึง กางเกงชั้นใน แต่อาจหมายรวมถึงชุดชั้นในอื่นๆ ด้วย
ສິ້ນ สิ้น หมายถึง กระโปรง สะกดคำแตกต่างจากที่ใช้ในภาษาอีสานว่า ซิ่น เนื่องจากในภาษาลาว หากสะกดว่า ຊີ່ນ แล้วจะหมายถึงเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อวัว ทั้งนี้ ສິ້ນ ในภาษาลาวไม่ได้จำกัดแค่เพียงผ้าซิ่นผืนเท่านั้น แต่รวมถึงกระโปรงตัดทรงอื่นด้วย โดยมีลักษณนามใช้เรียกว่า ຕົ່ງ เช่น ຊີ່ນ 1 ຕົ່ງ คือกระโปรง 1 ตัว หรือซิ่นผ้าถุง 1 ผืน
ເກິບ เกิบ หมายถึง รองเท้า มีความหมายคล้ายกับคำว่าเกือกในภาษาไทยดั้งเดิม เมื่อต้องการระบุลักษณะของเกิบหรือรองเท้า ก็จะใช้คำอื่นมาประสมขยายให้ทราบ เช่น เกิบแตะ ເກິບແຕະ คือ รองเท้าแตะ เกิบหนีบ ເກິບຫນີບ คือ รองเท้าคีบ เกิบส้นสูง ເກິບສົ້ນສູງ คือ รองเท้าส้นสูง ເກິບຜ້າໃບ คือรองเท้าผ้าใบหรือรองเท้ากีฬา ลักษณนามของ ເກິບ เรียกเป็นคู่ เช่นเดียวกับภาษาไทย
ສາຍຄໍ สายคอ หมายถึงสร้อยคอ หรืออาจหมายถึงเนกไทในชุดสูทสากล ສູທສາກົນ สำหรับสุภาพบุรุษขึ้นอยู่กับบริบท
ຊຸດລອຍນໍ້າ ซุดลอยน้ำ หมายถึง ชุดว่ายน้ำ ภาษาลาวคำว่า ลอยน้ำ หมายถึงการว่ายน้ำ ไม่ใช่เพียงแค่การลอยอยู่บนน้ำเท่านั้น
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง / เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข