หลานม่า ความดาร์กที่อบอุ่น ความละมุนที่เจ็บปวด

-

หลานม่า ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนหนังไทยเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ 

คนต่างชาติรู้จักหนังจากชื่อภาษาอังกฤษว่า How to Make Millions Before Grandma Dies หรือจะทำเงินล้านอย่างไรก่อนอาม่าตาย ซึ่งตรงกับเรื่องย่อของหนังที่ว่า ‘เอ็ม’ ตัวเอกของเรื่องเห็นลู่ทางได้เงินมรดกจากการดูแลอาม่าในระยะสุดท้ายก่อนอาม่าเสียชีวิตด้วยมะเร็ง  

เปิดเรื่องที่งานเช็งเม้ง ครอบครัวของอาม่านั่งรวมตัวรออาม่าไหว้หน้าสุสานของครอบครัวอื่น เมื่อลูกสาวถามว่าอธิษฐานอะไร อาม่าตอบว่าอยากได้ฮวงซุ้ยหลุมบ้านเดี่ยวเหมือนบ้านนี้ แต่ก็รู้ว่าครอบครัวตัวเองไม่ได้มีเงินมากพอที่จะซื้อได้ และในงานนี้ อาม่าบ่นกู๋เคี้ยง ลูกสะใภ้ผู้ไม่เคยพาหลานมาเยี่ยม บ่นเอ็ม หลานชายผู้ไม่นำพาพิธีกรรมอย่างจริงจัง บ่นกู๋โส่ย ลูกชายผู้ยืมเงินไปเป็นแสนแต่ก็ไม่เคยคืนให้ 

เป็นฉากเปิดเรื่องสั้นๆ เรียบง่ายแต่สะท้อนชีวิตหลายแง่มุมในเวลาไม่กี่นาที เราเห็นพลวัตครอบครัวซึ่งอาม่าเป็นศูนย์กลางและมี ‘ความคาดหวัง’หลายอย่าง ส่วนลูกหลานในหนังก็เป็นเสมือนภาพแทนชีวิตลูกหลานครอบครัวไทย-จีนที่ต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่ตัวเอง และได้รับความรักอย่างไม่เท่าเทียม 

จุดเปลี่ยนของเรื่องราวคือเมื่อลูกหลานรู้ว่าอาม่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เอ็มได้แรงบันดาลใจสำคัญจากอามุ่ย (ลูกพี่ลูกน้อง) เกี่ยวกับอาชีพที่ ‘งานสบาย รายได้สูง’ นั่นก็คืองานดูแลอากงซึ่งป่วยติดเตียงจนเสียชีวิต แล้วได้มรดกเป็นบ้านที่อากงอาศัย 

เมื่อรู้ดังนั้น เอ็มจึงแอบหวังว่าถ้าเขาเข้าไปตีสนิทดูแลอาม่า อาม่าอาจยกบ้านให้แล้วเขาจะได้เอาไปขายต่อ ฝ่ายอาม่าก็ไม่เฉลียวใจว่าหลานชายมีอุบายแอบแฝง 

แม้โครงเรื่องและเนื้อเรื่องจะไม่ซับซ้อน แต่หนังสามารถเดินเรื่องยาวกว่าสองชั่วโมงอย่างไม่น่าเบื่อ สำหรับคนดูชาวไทยที่มีเชื้อสายจีนก็น่าจะเข้าถึงหนังได้ง่าย และด้วยเรื่องเล่าเรียบง่ายและละเมียดละไมก็น่าจะทำให้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมสนใจติดตามจนจบได้ไม่ยาก 

หลานม่าเป็นหนังครอบครัวที่นำเสนอวัฒนธรรมของลูกหลาน ไทย-จีน หลานม่ายังแทรกความแตกต่างระหว่าง generation หรือรุ่นวัยที่ต้องปะทะสังสรรค์กันด้านแนวคิดและวิถีชีวิตอย่างไม่รู้ตัว 

คนรุ่นอาม่า (silent generation/baby boomers) ถือว่าประเพณีมีความสำคัญมากและเชื่อว่าฮวงซุ้ยยิ่งแพงยิ่งมีคุณค่า ยึดมั่น value หรือค่านิยมบางอย่างที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลแต่สืบทอดผ่านคติชน (เช่น ลูกหลานเพศชายมีความหมายยิ่งกว่าเพศหญิง ทั้งที่อาม่าเคยโดนกระทำเช่นนี้มาแต่ก็ยังส่งต่อคตินิยมดังกล่าวแก่ลูกตัวเอง)  

ต่อมาคือคนรุ่นแม่และอากู๋ (Gen X/Y) ยังยึดมั่นประเพณีตามที่ได้สืบทอดมาแต่ไม่ตระหนักในคุณค่าจริงจังเท่ารุ่นอาม่า เช่น เห็นว่าฮวงซุ้ยแบบไหนก็เหมือนๆกันหมด บางครั้งเลยเริ่มขัดขืน เริ่มตั้งคำถามเมื่อถูกกรอบทางวัฒนธรรมบังคับให้ต้องยอมรับขัดกับสามัญสำนึกตัวเอง 

จนถึงคนรุ่นเอ็มกับอามุ่ย (Gen Z) ซึ่งคิดว่าความตายก็คือความตาย การตายนั้นไม่ต่างกับการสลายตัวของสสาร และคนที่ตายแล้วก็ไม่มีการรับรู้อะไรอีกต่อไป 

เมื่อเป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน เพื่อความราบรื่นสงบสุข จึงต้องรู้จักประนีประนอม เราจึงเลยการปรับตัวของแต่ละคน การปรับตัวมักเกิดขึ้นในระหว่างคนที่มีปฏิสัมพันธ์กันใกล้ชิดหรือได้ใช้ชีวิตด้วยกัน (เอ็ม-อาม่า) ช่วงแรกเอ็มจึงพยายามปรับตัวเพื่อเข้าหา แต่หลังจากได้ใช้เวลาแล้วรับรู้ความคาดหวังหรือความทุกข์-สุขของคนต่างวัยอย่างอาม่าเขาก็เริ่มเข้าใจ (empathy) และเห็นอกเห็นใจ (sympathy) 

เมื่อเอ็มได้รับความรักก็เกิดความอยากเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้คนใกล้ชิดมีความสุขมากขึ้น แต่ในเชิงปัจเจก คนที่ปรับตัวน้อยสุด ทว่าคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนมากสุดก็คือตัวอาม่า ซึ่งต้องเก็บความทุกข์ใจจนวาระสุดท้าย   

แต่ถ้าเป็นสมาชิกครอบครัวซึ่งอยู่ห่างกันหรือนานๆ เจอกันครั้ง ก็มักยึดตัวเองเป็นใหญ่และปฏิบัติต่อกันแบบเดิมๆ (เช่น กู๋โส่ย–อาม่า) มีเพียงตัวละครเดียวที่ไม่ประนีประนอมกับความแตกต่างระหว่างรุ่นวัยคือ อามุ่ย ซึ่งผูกพันกับอากงและคอยดูแลตั้งแต่เช้ายันค่ำ แต่ไม่ได้มีค่านิยมใดๆ ในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมมาจำกัดกรอบของการใช้ชีวิต เพราะอากงก็เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันมากเหมือนเอ็มกับอาม่า 

“ลูกชายได้บ้าน ส่วนลูกสาวได้ (รับมรดกเป็น) มะเร็ง” คือคำสัพยอกของลูกสาวต่อแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งแฝงความน้อยใจและความรู้สึกว่าแม่ลำเอียง 

ในพลวัตครอบครัวแบบหลานม่าคือความซับซ้อนของความผูกพัน ที่พบเห็นได้จริงในหลายครอบครัว 

เช่น ลูกชายคนโตมีฐานะดีก็แสดงความรู้คุณผ่านเงินทองคือจ่ายค่าดูแลและจัดเตรียมสถานที่ให้แม่อยู่สบาย แต่กลับไม่มีเวลามาดูแลแม่ สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น การได้ข้าวของเงินทองย่อมไม่อาจทดแทนเวลาสำหรับอยู่กับคนที่ตนรัก แต่กระนั้น ‘ลูกชาย (ในครอบครัวตระกูลอาม่า) ก็ยังคือลูกรัก’  

ทั้งที่ลูกชายคนโตไม่มีเวลา ลูกชายคนเล็กไม่เอาใจใส่ และเอาแต่ขอยืมเงินกับขโมยเงิน ส่วนลูกสาวยอมทิ้งงานยอมอดนอนหาเวลามาดูแลอาม่าได้ตลอด แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของอาม่า และลูกสาวเองก็รู้ตัวดีว่าตนเองไม่ใช่หัวแก้วหัวแหวนเหมือนลูกชาย 

สมัยอาม่ายังเป็นสาว ครอบครัวมีค่านิยมว่า ลูกสาวเมื่อออกเรือนไปก็เปลี่ยนนามสกุล ดังนั้นลูกชายจึงเป็นที่รักและมีโอกาสได้มรดกมากกว่า อาม่าเลยได้รับมรดกซึ่งถูกจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม 

หลานม่าจึงเป็นหนังอบอุ่นที่สะท้อนความดาร์กจากความจริงซึ่งหลายคนไม่อยากพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมรดกที่คาดหวังจะได้จากพ่อแม่ปู่ย่าตายายแต่ไม่กล้าปริปาก ฯลฯ รวมถึงการแสดงให้เห็นว่า ในความรักไม่มีคำว่า ความเที่ยงธรรม 

เพราะรักคือความรู้สึกที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยหลักการเสมอไป เป็นความรู้สึกอันประกอบด้วยความหลงใหล อคติ ลำเอียง วัฒนธรรมที่ครอบงำตีกรอบ ฯลฯ  

ข้อคิดที่ได้จาก หลานม่า โดยไม่ต้องสนว่าเป็นลูกหลานจีนหรือไม่ คืออย่าถามหาความเที่ยงธรรมในความรัก เช่น อาม่ารักใครมากที่สุด / ทำไมถึงยกสมบัติให้คนที่ไม่เอาไหน และไม่เคยมาใส่ใจดูแล / เธอรักฉันเท่าฉันรักเธอมั้ย / พ่อแม่รักลูกเท่ากันหรือเปล่า ฯลฯ 

ลงทุนเยอะ (ทุ่มเทเงินทอง ทุ่มเทชีวิตจิตใจ ฯลฯ) ก็ใช่ว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างที่คาดหวังเสมอไป และเมื่อเป็นความรู้สึก จึงไม่มีเครื่องชี้วัดมาตรฐาน ที่จะใช้เปรียบเทียบอัตราส่วนของความรู้สึกได้ 

ทุกข์ในรักก็มักเกิดจากความคาดหวังว่ามันควรจะเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเที่ยงธรรมกว่านี้้ 

เราอาจพูดคุยเพื่อปรับตัว เพื่ออธิบายความรู้สึก ดังที่ลูกสาวในหลานม่าพูดกับแม่ แต่รักก็สั่งไม่ได้  

ความรักจึงเป็นเรื่องของ ‘การยอมรับ’ 

ไม่เท่าเทียม ไม่เที่ยงธรรม แต่เพราะรักถึงยังอยู่ ยังทำให้ 

ไม่เสมอหน้ากัน แต่เพราะรัก ก็ยอมรับได้ มีความสุขได้ 


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” 

(www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com) ภาพ: อินเทอร์เน็ต 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!