‘ราบเป็นหน้ากลอง’ เชียว

-

ฉบับนี้จะเขียนถึงสำนวนไทยที่มาจากเรื่องพระมาลัยซึ่งคนทั่วไปคุ้นชิน และยังคงมีผู้ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่สำนวน “ราบเป็นหน้ากลอง” และ “ไก่บินไม่ตกดิน”

 

ราบเป็นหน้ากลอง

วรรณคดีเรื่องพระมาลัยคำหลวง พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรตอนหนึ่ง กล่าวถึงครั้งที่พระมาลัยซึ่งเป็นพระอรหันต์ได้ขึ้นไปบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านได้พบกับเทพองค์หนึ่งคือพระศรีอาริยเมตไตรยซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่จะอุบัติลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชมพูทวีป หลังจากศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดลงเมื่อครบ 5,000 ปี พระศรีอาริย์จะเป็นศาสดาองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัป การได้พบกันในครั้งนั้น พระศรีอาริย์ขอให้พระมาลัยลงมาแจ้งแก่ชาวชมพูทวีปว่าถ้าผู้ใดใคร่จะเกิดในยุคศาสนาพระศรีอาริย์ ให้ฟังเทศน์มหาชาติให้ครบพันคาถาภายในวันเดียว ประพฤติธรรม และสร้างแต่บุญกุศล ในยุคนั้น บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง สงบสุข ผู้คนไม่เบียดเบียนกัน ทุกคนเป็นคนดี แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นงดงามด้วยไม้ใบไม้ดอกไม้ผล และ “…แผ่นพระสุธร1ราบเรียบ หน้ากลองเปรียบปูนปาน แผ่นดินดาลบลุ่มล่อน หลักตอดอนห่อนเห็น ดุจปราบเป็นปรากฏ…”

เมื่อมีผู้ใช้ “ราบเป็นหน้ากลอง” เป็นสำนวนเปรียบ จะหมายถึงราบเรียบเหมือนหน้าของกลอง ซึ่งเป็นเครื่องตีที่ทำด้วยหนังวัวหรือหนังควาย หน้ากลองเรียบ สำนวนนี้ใช้ได้ทั้งในบริบทที่สื่อนัยความหมายด้านบวกและลบ ในด้านบวก เช่นเมื่อพลับพลาไปดูที่ดินหลังจากจ้างผู้รับเหมามาถมที่เพื่อจะปลูกบ้าน เขาพูดกับผู้รับเหมาด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า “ผลงานเยี่ยมครับ ขอบคุณที่ได้ช่วยปราบดินซะราบเป็นหน้ากลองเชียว ทำให้ดูกว้างสะอาดตา” ในด้านลบ เช่นเมื่อเกิดข่าวพายุทอร์นาโดกว่า 50 ลูกพัดถล่มสหรัฐอเมริกา ได้สร้างความพินาศย่อยยับหลายรัฐ เช้าขึ้นในสภากาแฟของหมู่บ้าน ตอนหนึ่งลุงนิคมพูดถึงเรื่องนี้ว่า “เจ้าทอร์นาโดนี่มันแรงจริงๆ ทำเอาสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนพังทลายราบเป็นหน้ากลอง”

 

ไก่บินไม่ตกดิน

คำประพันธ์ที่ต่อจากวรรค “ดุจปราบเป็นปรากฏ” ในวรรณคดีเรื่องพระมาลัยคำหลวงดังยกมาข้างต้นนั้น กวีได้พรรณนาถึงหมู่บ้านใหญ่ในชนบทในชมพูทวีปไว้ว่า “อันว่าชนบทนิคม เป็นอุตมเนืองนอง บ้านถิ่นถ้องแถวถนน ล้วนฝูงชนคับคั่ง เรือนติดตั้งเต็มไป แม้นมาตรไก่โผบิน บตกดินพอถึงที่…” นั่นคือในชนบทมีหมู่บ้านใหญ่ที่บ้านเรือนปลูกอยู่ใกล้ๆ กัน ห่างกันแค่ไก่บินยังไม่ทันตกดินก็ถึงบ้านที่อยู่ถัดไป ซึ่งทำให้มีบรรยากาศที่อบอุ่น

ปัจจุบันเมื่อนำ “ไก่บินไม่ตกดิน” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะมีความหมายสื่อไปในด้านลบ คือหมายถึงชุมชนแออัดที่บ้านปลูกติดกันหนาแน่นมาก ไม่มีระยะห่างจนหลังคาแทบจะเกยกัน เช่นเมื่อนพพาศักดิ์เดินบนไม้กระดานแผ่นเล็กที่เรียงต่อๆ กัน ทอดยาวขนานไปกับบ้านในชุมชนแออัดซึ่งใต้ถุนบ้านเป็นน้ำสีดำคล้ำ พอนพเห็นเพื่อนทำหน้าตาเหยเกเพราะกลัวก้าวพลาดก็หัวเราะ พูดขึ้นว่า “เป็นไง ชุมชนบ้านเราแออัดจนไก่บินไม่ตกดิน เดี๋ยวก็ถึงแล้วหละ”

……………………………………..


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย / เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!