“Angkriztopia” คือคอนเซ็ปต์ห้องเรียนซึ่งมีที่มาจาก Angkriz ชื่อสถาบัน และ Utopia ดินแดนในอุดมคติ ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Angkriz พาเราเดินชมบรรยากาศของสถาบันสอนภาษาอังกฤษซึ่งเพิ่งย้ายสถานที่ตั้งมา ณ สามย่านมิตรทาวน์ แถมยังชี้ให้เราดูรูปวาดสัตว์ชนิดต่างๆ ใส่กรอบทองแขวนบนผนังห้องเรียน
สัตว์แต่ละชนิดแทนแคแรกเตอร์ของนักเรียนซึ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Angkriztopia แห่งนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็ด-แทนเด็กที่คิดว่าตัวเองทำได้หลายอย่างแต่ไม่เด่นสักอย่าง สล็อต-เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองช้า เหมือนจะขี้เกียจ แต่จริงๆ แล้วก็มีทักษะอื่นอยู่ นกฮูก-สัญลักษณ์แทนเด็กฉลาดที่ชอบนอนดึก แมว-เด็กขี้เล่นขี้อ้อน หมา-สัญลักษณ์แทนความซื่อสัตย์ แรด-สัญลักษณ์แทนความทนทาน กระต่ายป่า-สัญลักษณ์แทนเด็กที่ไม่ค่อยระมัดระวัง เมียร์แคต-สัญลักษณ์แทนการอยู่รวมกลุ่ม อยากรู้อยากเห็น ปลาหมึก-สัญลักษณ์แทนความฉลาด เพราะเป็นสัตว์ที่มีเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ห้องเรียนยังได้รับการออกแบบจากห้องเรียนในฝัน วัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ประกอบกันเป็นสถาบันล้วนผ่านการคิดอย่างใส่ใจ ครูไม่ได้ยืนอยู่แค่หน้าชั้นเพื่อทำหน้าที่เป็น leader แต่อยู่ท่ามกลางผู้เรียนทั้งหมด ทุกคนในห้องล้วนมีส่วนร่วมกันอย่างเท่าเทียม
ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ 1
สถาบันสอนภาษา Angkriz ดำเนินการมาครบ 10 ปี แต่เส้นทางการเป็นครูของลูกกอล์ฟยาวไกลกว่านั้น เริ่มตั้งแต่เป็นพี่ติวเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ปลายปี 2547
“10 กว่าปีของการทำหน้าที่ educator หลักๆ นักเรียนของเราคือเด็กมัธยมปลาย เป็นช่วงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เด็กทุกคนมาด้วยดวงตาที่เป็นประกาย เป็นวัยแห่งการต่อสู้ เป็นวัยแห่งการมีความสุขเต็มที่ เศร้าเต็มที่ เราชอบช่วงเวลาของเด็กมัธยม เป็นช่วงชีวิตที่ไม่ทรยศต่อความรู้สึก อยากขำก็ขำ ชีวิตต้องแบบนี้แหละ ใจเรามีความสุขทำไมจะหัวเราะไม่ได้ ทำไมต้องนั่งแคร์ว่าใครมองยังไง
“อีกสิ่งที่ได้เรียนรู้จากนักเรียน คือการฝึกให้เราเป็นผู้ฟัง ตั้งแต่เด็กเราเป็นคนพูดตลอด คณาธิปออกไปพรีเซนต์ คณาธิปขึ้นเวที เราชินกับการเป็นผู้พูด ในขณะที่เด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการรับฟังอย่างยิ่ง เราจะจัดการกับเด็กที่มีแคแรกเตอร์ต่างกันยังไง การตั้งใจฟังเขาคือทางออก เอาเลยลูก เดี๋ยววันนี้พี่เป็นหูให้ พี่จะไม่เป็นลำโพงแล้ว บางครั้งแค่นั้นก็ทำให้เขารู้สึกดีได้”
ได้คุยกับครูภาษาอังกฤษขวัญใจวัยรุ่นทั้งที ก็ต้องขอถามสักหน่อยว่า ปัจจุบันเด็กไทยยังมีปัญหาเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กแต่พูดไม่ได้สักทีอยู่อีกไหม
“ในฐานะคนที่คลุกคลีกับเด็กและคนที่ทำรายการสอนภาษาอังกฤษ ไม่ใช่แค่ ‘เด็กไทย’ แต่เป็น ‘คนไทย’ และไม่ใช่ ‘ไม่เก่งภาษาอังกฤษ’ แต่เรา ‘ไม่ชินกับภาษาอังกฤษ’ ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศเดียว คนอังกฤษเรียนภาษาฝรั่งเศส ประเทศใกล้กันก็ใช่จะสื่อสารได้ คนญี่ปุ่น คนเกาหลีเรียนภาษาอังกฤษเหมือนเราก็ไม่ได้พูดคล่อง แต่ลูกกอล์ฟมองว่าแนวโน้มการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยดีขึ้น โซเชียลมีเดียทำให้คนรู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นมิตรมากขึ้น อย่างรายการของเรา Loukgolf’s English Room คนดูจะได้เห็นแขกรับเชิญที่มีระดับภาษาต่างกันมาพูดภาษาอังกฤษ ส่วนตัวเราเชื่อว่าถ้าใครมีโอกาสได้เรียนอย่างถูกต้อง ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เขาย่อมมีศักยภาพที่จะเก่งได้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นจุดอ่อนของการพัฒนาภาษานั้น ครูลูกกอล์ฟมองว่ามีปัจจัยหลายอย่าง เริ่มต้นจากขาด ‘แรงจูงใจ’
“แรงจูงใจในการเรียนภาษามาจากฟันเฟืองหลักสองตัวคือ หนึ่ง ความสนใจ สอง ความจำเป็น คนบางคนเรียนด้วยความสนใจและจำเป็น อยากท่องโลก อยากคุยกับคน อยากอ่านหนังสือ แล้วใช้สอบด้วย กลุ่มนี้จะเรียนได้ดีโดยไม่ต้องไปยุ่งกับเขามาก ถ้าเรียนด้วยความสนใจอย่างเดียวก็ยังไปได้ แต่ถ้าเรียนด้วยความจำเป็น เช่น เรียนเพื่อสอบให้ผ่าน ให้ได้งาน ฟันเฟืองจะหมุนแค่ระดับหนึ่ง หน้าที่ของผู้สอนคือ ทำให้เขารู้สึกว่าภาษาอังกฤษน่าสนใจ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นความจำเป็นด้วย แต่ถ้าเราไปบอกเด็กต่างจังหวัดว่าเรียนเถอะ จำเป็น เฮ้ย บ้านฉันอยู่หาดใหญ่ เปิดประตูไปเจอแต่ไก่ทอดกับตลาดกิมหยง ไหนละความจำเป็น ผู้สอนต้องทำให้เห็นภาพให้ได้
“ยกตัวอย่างจากตัวเอง ตอนเรายังอยู่หาดใหญ่เปรียบเสมือนเราว่ายน้ำอยู่ในสระ ภาษาอังกฤษเป็นดั่งสะพานที่เชื่อมสระน้ำหาดใหญ่เข้ากับทะเลสาบกรุงเทพฯ เมื่อเราเอ็นทรานซ์ติด จบนิเทศศาสตร์ ภาษาก็เป็นสะพานอีกครั้ง โดยเชื่อมเราสู่มหาสมุทรประเทศอังกฤษ คำถามคือคุณอยากมีสะพานรึเปล่า ทำไมภาษาอังกฤษถึงน่าลงทุน เพราะคุณโดนบังคับเรียนที่โรงเรียนอยู่แล้ว ไหนๆ ก็เรียนแล้ว ทำไมเราไม่ทำให้ดีไปเลย สอบได้ สื่อสารไม่แย่ ใช้มันเป็นสะพานให้เรา”
นอกจากการขาดแรงจูงใจซึ่งมีผลต่อการพัฒนาภาษาของผู้เรียนแล้ว แนวทางการสอนและการติดอยู่ในกรอบก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง “เราอยากแนะนำว่า สิ่งที่ผู้สอนต้องพูดเป็นภาษาแรกในห้องเรียนไม่ใช่ภาษาอังกฤษ แต่เป็นภาษาเด็ก ตอนนี้เด็กชอบดู Frozen ถ้าเรายังสอนคำศัพท์จากเพลง ‘My Heart Will Go On’ มันไม่ได้แล้ว เราต้องเข้าไปดูว่าเขาสนใจอะไร แล้วทำให้เขาสนุกผ่านสื่อที่สนใจ ทั้งนี้เราก็เข้าใจแหละว่าการสอนถูกควบคุมด้วยหลักสูตร มีสองคำที่อยากพูดถึงคือ fluency กับ accuracy ความคล่องกับความแม่นยำ โรงเรียนไทยมากมายเน้นแต่ความแม่นยำ ลืมเติม s ผัน verb ผิด เด็กจะกลัว แล้วไม่พูด เพราะพูดแล้วกลัวผิด กับอีกประเภทคือพูดคล่อง แต่ไม่ถูกเลย เช่น แม่ค้าพ่อค้า ถามว่าเอาตัวรอดไหม รอด แต่ถูกต้องรึเปล่า ไม่ ถ้าโรงเรียนไหนหาจุดกึ่งกลางระหว่างความคล่องกับความแม่นยำเจอ การสอนภาษาจะเวิร์คมาก”
ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ 2
คุณครูขวัญใจวัยรุ่นผู้ใกล้ชิดกับ Gen Z ซึ่งเกิดมาพร้อมอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ตอบคำถามที่เราสงสัยอีกว่า วัยรุ่นยุคนี้ว้าวุ่นอย่างที่ผู้ใหญ่คิดจริงหรือไม่ “เด็กสมัยนี้ก็เป็นปกตินะ โลกเปลี่ยนไปยังไง เขาก็เปลี่ยนไปตามโลกอย่างนั้น จะบอกว่าเขาติดโทรศัพท์มือถือ พ่อแม่พวกเราติดมากกว่าอีก เขาแชร์ข่าวไม่คิด ข่าวปลอมเนี่ยมาจากพ่อแม่พวกเราส่งทางไลน์มากกว่าด้วยซ้ำ แต่ที่เป็นห่วงเด็กรุ่นนี้อย่างหนึ่งคือ ยุคเราไม่มีโซเชียลมีเดีย อินเตอร์เน็ตโคตรช้าเลย เราเดินทางจากหาดใหญ่มากรุงเทพฯ ด้วยการนั่งรถไฟ 10 กว่าชั่วโมง ข้อเสียของยุคอนาล็อคคือไม่ทันโลก แต่ข้อดีคือเราได้อยู่กับตัวเอง เวลาทะเลาะกับพ่อก็ทำได้แค่เขียนระบายลงไดอารี่เล็กๆ ที่มีกุญแจล็อค ไม่ทวิต ไม่โพสต์ ไม่ตั้งสเตตัส feeling sad ข้อดีคือเราได้ฝึกจัดการความรู้สึกด้วยตัวเองโดยไม่ไประบายที่ไหน แต่เดี๋ยวนี้แสดงความรู้สึกกันง่ายดายจนเราอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะขนาดเรายังพลาดเลย เรายังเสียใจทีหลังกับสิ่งที่แชร์ เราเคยมองโซเชียลมีเดียคือบ้าน ไม่ชอบก็ไม่ต้องมาส่องสิ แต่มันไม่ใช่ ทุกแอพพลิเคชั่นคือถังขยะที่คุณเอาไปตั้งในที่สาธารณะ ต่อให้มีคนติดตามแค่ 5 คน ก็ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวแล้ว ถ้าอยากส่วนตัว follower ต้องเป็นศูนย์ แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนมีความคิดแย่ๆ ได้ ดังนั้นเราจึงต้องฝึกสติเพื่อรับมือ เราจะบอกนักเรียนเสมอ ความคิดไหนที่หนูเคยแชร์ไปแล้วมันไม่ได้แทนความคิดของหนูในวันนี้ ลบมันซะ เพราะเราไม่รู้ว่าจะมีใครขุดคุ้ยขึ้นมาทำร้ายเรารึเปล่า ถ้าวันนั้นยังแข็งแกร่งไม่พอ จะกลายเป็นเราที่พังทลาย
“อีกเรื่องที่อยากพูดคือ เรากำลังอยู่ในยุคที่ตัดสินกันจากสิ่งที่เห็นภายนอก วันนี้ไปปาร์ตี้เจอเซเลบ แชร์ อาหารอร่อย แชร์ ร้านใหม่ แชร์ ถ้าเราเป็นเด็กยุคนี้พูดเลยว่า ‘อยู่ยาก’ ขนาดตอนเด็กๆ ปิดเทอม เพื่อนบอกไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่ได้เห็นรูปสักใบด้วยซ้ำ แต่แค่ได้ยินยังอิจฉาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องระวัง อย่าไปเปรียบเทียบกับใคร คนที่มีมากต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนอื่นโดยไม่มองว่า ทำไมเธอไม่พยายามให้มากกว่านี้ มันไม่ใช่ เขาติดลบห้าพัน เขาพยายามที่สุดแล้ว วันนี้เขามาที่ศูนย์ แต่คุณน่ะเกิดมาก็บวกหมื่นแล้ว คนเรามีไม่เท่ากัน”
ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ 3
นอกจากการเป็นครูและพิธีกร ครูลูกกอล์ฟยังมีอีกบทบาทคือ ดีเจในรายการวิทยุ พุธทอล์กพุธโทร ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาแก่ผู้ฟังทางบ้าน เขาได้พบปัญหาสำคัญคือสังคมเราขาดการรับฟังกัน
“เราทิ้งไว้เป็นคำถามนะ คุณนั่งคุยกับเพื่อนสนิทหรือครอบครัวของคุณแบบตั้งใจรับฟังจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ แล้วคุณฟังตัวเองอย่างลึกซึ้งจริงๆ ได้ยินเสียงตัวเองดังที่สุดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ โลกทุกวันนี้เป็นแบบนี้ไปแล้ว พิมพ์ไปก่อน ส่งสติกเกอร์คิดถึง จุ๊บๆ หัวใจ ไปก่อน รู้สึกตามนั้นจริงรึเปล่าไม่รู้ เป้าหมายหลักของรายการพุธทอล์กพุธโทรคือหวังให้ทุกบ้านมีพื้นที่แห่งการรับฟัง ขิงข่าสารพัดสิ่ง ทุกเรื่องสามารถพูดโดยไม่ตัดสินล่วงหน้า เพราะมนุษย์ทุกคนมีปัญหา จึงสำคัญมากที่เราต้องมีใครสักคนในชีวิตคอยอยู่กับเราในวันที่เราอ่อนแอ บางปัญหาเราผ่านเองได้ แต่บางปัญหาเราสู้คนเดียวไม่ไหว เพราะฉะนั้นวันนี้ใครก็ตามที่อยู่ในชีวิตของคุณ คุณต้องเห็นความสำคัญของเขา
“ในรายการพุธทอล์กพุธโทรคนโทรเข้ามาเล่าเรื่องความตายบ่อยมาก วันนี้มีชีวิต พรุ่งนี้ตาย All men must die. ทุกคนต้องตาย ไม่แค่เตรียมตัวอยู่ ต้องเตรียมตัวตายด้วย ดังนั้น Now is everything. ตั้งแต่การจากไปของเซนติเมตร นักเรียนคนหนึ่งของเราที่เสียชีวิตและเป็นข่าวดัง เรานัดเพื่อนกินข้าวไม่หยุดเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ เฮ้ย วันนี้ไม่ว่าง เดี๋ยวค่อยเจอได้เปล่า ตอนนี้คือ ไม่ กูต้องกิน มาเจอกันเลย จะมีอีกสักกี่มื้อที่เราจะได้กินข้าวด้วยกัน”
ความสำเร็จในนิยามของครูลูกกอล์ฟไม่ใช่การเติบโตของสถาบัน Angkriz ไม่ใช่เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่กลับเรียบง่ายเพียงแค่การมีบ้านที่อบอุ่น “เราไม่ได้ยึดโยงความสำเร็จของเราที่การเติบโตของ Angkriz ต้องใหญ่ นักเรียนต้องเยอะ ต้องมีชื่อเสียง จริงๆ สิ่งที่เราตามหามาตลอดคือบ้านที่อบอุ่น พ่อมีความสุข ไม่ทะเลาะกับแม่เรื่องที่เราเป็นเพศที่สาม น้องไม่ต้องรับแรงเสียดทาน สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ครอบครัว และสังคม กลับบ้านแล้วรู้สึกบ้านอบอุ่น นั่นคือความสำเร็จที่เราหวัง และเราได้สัมผัสมันตั้งแต่อายุ 26-27 แล้ว ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเหมือนเป็นโบนัส”

ในรายการ Loukgolf’s English Room ครูลูกกอล์ฟมักขอให้แขกรับเชิญอธิบายตัวตนด้วยภาษาอังกฤษ 3 คำ ออล แม็กกาซีน จึงขอถามครูลูกกอล์ฟกลับด้วยการขอ 3 คำที่อธิบายความเป็นตัวตนในวัย 34 ปีบ้าง (3 words describe yourself)
“content (adj.) แปลว่า พึงพอใจ เราพึงพอใจกับทุกสิ่งที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน
Calm (adj.) แปลว่า สงบ ในวัยนี้เรารู้สึกสงบขึ้นมาก
Wiser (adj.) มาจากวลีที่ว่า older and wiser แก่ขึ้น โตขึ้น มีปัญญามากขึ้นนิดหน่อย”

Angkriz Academy
944 ศูนย์การค้า SamYan MitrTown
ห้อง 3U015-3U016, ชั้น 3
ถนนพระราม 4 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน
กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 09 2248 1555
คอลัมน์: สกู๊ปจากปก
เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine กุมภาพันธ์ 2563