“จุฬามณี” และช่อง 3 ได้สานต่อความสำเร็จจากละครโทรทัศน์เรื่องสุดแค้นแสนรัก โดย “จุฬามณี” เขียนนวนิยายเรื่องกรงกรรม ซึ่งทางช่อง 3 ได้จัดสร้างเป็นละครโทรทัศน์ เรียกเรตติ้งและเสียงชื่นชมอย่างมากมายจากผู้ชมละครโทรทัศน์
เนื้อเรื่องของทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมโยงกัน และมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน เรื่องของ “แย้ม” ในสุดแค้นแสนรักกับ “ย้อย” ในเรื่องกรงกรรม ต่างก็มีแง่มุม นิสัยใจคอ และจุดจบไม่ต่างกัน แถมยังเกิดขึ้นในชุมชนเดียวกันอีกด้วย
ทั้งย้อยและแย้ม ต่างก็เป็นผู้หญิงเก่งและแกร่ง ปากร้าย ใจแคบ มุ่งเอาประโยชน์ผู้อื่น และเรียกร้องจากลูกหลานให้ทำทุกอย่างตามที่ตนต้องการ การขีดเส้นชะตาชีวิตให้แก่บุคคลอื่นก็เพื่อต้องการเห็นลูกหลานมีชีวิตที่สมบูรณ์ มีความสุข และร่ำรวย ตนจะได้หมดห่วง ถึงตายก็นอนตายตาหลับ
น่าสังเกตว่าในเรื่องกรงกรรมนั้น “จุฬามณี” ให้ “ย้อย” เป็นแกนกลางของเรื่อง มีความเกี่ยวพันกับตัวละครอื่นๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ย้อยเป็นหญิงไทย แต่งงานกับคนจีนที่ค้าขายด้วยความซื่อสัตย์จนร่ำรวยเป็นเจ้าของร้านชำและเจ้าของโรงสี มีฐานะร่ำรวย แถมยังออกเงินกู้ นางสะสมสมบัติมากมายประดามีไว้ให้ลูกหลาน จนไม่คำนึงถึงความผิดถูกชั่วดี
ชีวิตของย้อยน่าจะสบาย มีลูกชายสี่คน ตรงตามอุดมคติของครอบครัวคนจีน แต่ทว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ ลูกๆ ทั้งสี่คนของนาง กลับมีชีวิตที่ตรงข้าม สะใภ้แต่ละคนล้วนนำความวุ่นวาย เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียงมาให้แก่ตน จนในที่สุด ย้อยก็ต้องพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติ ตามกฎอนิจจัง ทั้งร่างกายและทรัพย์สินเสื่อมถอยและหมดไปตามกาลเวลา
เรื่องกรงกรรม เป็นเสมือนนวนิยายแนวฝากสถานที่ มีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเชื่อมต่อกัน สัญจรไปมาหากันได้ เรื่องราววนเวียนอยู่ที่ชุมแสง ทับกฤช ปากน้ำโพ ตาคลี ดังนั้นเนื้อหาที่ “จุฬามณี” สร้างขึ้น จึงกลายเป็นการเขียนประวัติของชุมชนในรูปแบบนวนิยายไปในตัว และความเปลี่ยนแปลงของชุมชนกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตของตัวละครจึงมีความเกี่ยวพันกันไปโดยปริยาย
พุทธศักราช 2510 เป็นช่วงสังคมแห่งการเปลี่ยนผ่าน เป็นผลมาจากการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยตามนโยบายที่รัฐบาลของจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ได้วางเอาไว้ ถนนถูกตัดไปสู่ชุมชนต่างๆ เชื่อมร้อยกัน จากที่เคยสัญจรไปมาหากันอย่างลำบากก็สะดวกสบายขึ้น ถนนได้นำพาผู้คนจากชุมชนต่างๆ เข้าหากันและก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมากมายเหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ การเกิดสงครามเวียดนาม รัฐบาลส่งทหารไปรบในเวียดนาม และอนุญาตให้อเมริกันมาตั้งฐานทัพในประเทศไทย
“ตาคลี” เป็นจุดหนึ่งที่อเมริกันมาตั้งฐานทัพ จากชนบทที่ห่างไกลความเจริญ กลับเต็มไปด้วยคนแปลกหน้าจากตะวันตกที่เข้ามาพร้อมกับวิถีชีวิตแบบใหม่ คลับบาร์และแหล่งเริงรมย์เกิดขึ้นมากมายเพื่อให้ทหารอเมริกันได้ผ่อนคลาย เกิดอาชีพเมียเช่าและโสเภณีขึ้นมากมาย ตาคลีและชุมชนใกล้เคียงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านจริยธรรมและเศรษฐกิจ
“ปากน้ำโพ” ได้พัฒนาไปสู่ความเป็นชุมชนการค้า ย้อยและครอบครัวได้ทำการค้าจนร่ำรวย และคิดจะหาสะใภ้ที่ร่ำรวย ตระกูลดี มีฐานะทัดเทียมกัน แต่ทว่าลูกชายคนโตกลับไปคว้า “เรณู” หญิงโสเภณี ซึ่งถูกชะตากรรมเล่นงาน จากการถูกพี่เขยข่มขืนจนมีลูกติดหนึ่งคน เรณูใช้วิชาคุณไสยทำเสน่ห์จนสามีหลงใหลนำเธอกลับมาบ้านในฐานะสะใภ้ แต่ย้อยรู้ทันและตั้งข้อรังเกียจที่เรณูเคยขายตัวมาก่อน จึงกีดกันทุกวิถีทาง แต่เรณูก็ทำเสน่ห์ให้ย้อยรักตน ทำให้สะใภ้คนอื่นริษยาและเล่นงานกันด้วยคุณไสยเช่นกัน
“จุฬามณี” นำเสนอให้เห็นว่าตัวละครฝ่ายหญิง แม้จะถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่ตนไม่ได้รักแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าตัวละครส่วนใหญ่มี “ความพร่อง” ทางศีลธรรม เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับแฟนหนุ่มจนตั้งท้อง การใช้คุณไสยแย่งชิงผู้ชาย ความโลภ การพูดจาโกหกหลอกลวง การปั้นเรื่องเพื่อความอยู่รอด แต่ทั้งหมดนี้วิถีชาวบ้านที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด
ความเป็นหญิงและการใช้คุณไสย ดูจะเป็นความโดดเด่นที่ตัวละครฝ่ายหญิงใช้เป็นเครื่องมือในการปีนป่ายไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในเรื่องกรงกรรมก็คือการล่มสลายของสถาบันครอบครัว อันเนื่องมาจากการแตกแยกของคู่ครอง อันสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมทางศีลธรรม ในบริบททางสังคมที่มีการปะทะกันระหว่าง “โลกใหม่” กับ “โลกเก่า”
“โลกใหม่” คือวิถีความทันสมัยอันเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาและการตั้งฐานทัพของอเมริกาในประเทศไทย ส่วน “โลกเก่า” ก็คือวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ผู้คนยังมีชีวิตอยู่กับอำนาจเหนือธรรมชาติ และเชื่อว่าการได้แต่งงานกับผู้ชายดีๆ สักคนหนึ่ง จะทำให้ชีวิตตนสุขสบายไปจนตาย
“จุฬามณี” ได้สร้างตัวละครที่เป็นคู่เทียบกันได้อย่างน่าสนใจ “ย้อย” เป็นคนรุ่นเก่า ที่พยายามทำชีวิตให้หยุดนิ่ง เชื่อว่าหากดำเนินชีวิตแบบหนึ่งแล้ว ชีวิตก็จะไปยังจุดแห่งความสมบูรณ์ที่สุด นั่นก็คือการมีความสุขกับครอบครัวในบั้นปลาย เธอจึงพยายามจัดระบบชีวิตทุกคนให้เข้าตามเกณฑ์ที่เธอเห็นชอบ โดยลืมไปว่าเมื่อโลกเปลี่ยน ความคิดของคนก็เปลี่ยน ทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่ย้อยเชื่อและคาดหวัง แม้แต่ “พิไล” ผู้หญิงที่ตนเคยเชื่อว่าดีที่สุด ต้องการมาเป็นสะใภ้ ก็กลายเป็นคนทำอะไรไม่เป็น ไม่มีคุณสมบัติแบบแม่บ้านแม่เรือน ซ้ำยังโลภ และทำคุณไสยห้ำหั่นกันกับคนอื่น ส่วน “เรณู” คือผู้ที่ยอมรับชะตากรรม คิดบวก และทำทุกอย่างเพื่อความผาสุกในชีวิต เรณูจึงปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ แม้ว่าเธอจะใช้คุณไสยทำเสน่ห์กับลูกชายของย้อยเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่เมื่อย้อยไม่ยอมรับเธอ เรณูจึงพยายามก้าวข้ามอุปสรรคด้วยสองมือของตน โดยใช้ “ทุนชีวิต” ที่มีอยู่คือ ฝีมือในการทำขนมไทยขายจนร่ำรวย ได้เป็นเจ้าของโรงงานขนมในที่สุด เรณูจึงเป็นตัวละครที่กล้าเผชิญกับชะตากรรม และจัดการกับชะตากรรมของตนให้อยู่รอดในช่วงสังคมเปลี่ยนผ่านได้
การเชื่อมโยงชุมชนกับชีวิต จึงเป็นเสน่ห์ในงานของ “จุฬามณี” ซึ่งน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนท่านอื่น มองเห็น “ฉาก” ในชีวิต แล้วพัฒนามาเป็นฉากของเรื่อง เปิดมิติให้นวนิยายไทยมีมุมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ
ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ช่อง 3