แม้รวมเรื่องสั้น เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่นๆ จะเป็นผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิตของ กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ แต่ชื่อของนักเขียนคนนี้กลับไม่ใช่หน้าใหม่ของวงการ เพราะเป็นเวลา 20 ปีที่เธอก้าวเดินอยู่บนถนนวรรณกรรมสายนี้ เธอเริ่มต้นจากการส่งผลงานเข้าประกวดครั้งแรกในปี 2543 จากนั้นเรื่องสั้นของเธอก็มีปรากฏบนหน้านิตยสาร รวมทั้งกวาดรางวัลมาหลายเวที อาทิ รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ฯลฯ และล่าสุด เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่นๆ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทเรื่องสั้น จากเวทีประกวดหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 2563
อยากทราบถึงเส้นทางการอ่านหนังสือของคุณ เริ่มต้นได้อย่างไร และมีหนังสือเล่มไหนเป็นแรงบันดาลใจ
เริ่มต้นอ่านหนังสือเพราะคุณพ่อเป็นคนชอบอ่านหนังสือค่ะ ที่บ้านจึงมีหนังสือสะสมอยู่พอประมาณ แต่นั่นก็ยังไม่ได้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำไปสู่การเป็นนักเขียน แน่นอนว่าสมัยเด็กๆ เราเลือกอ่านนิทานนานาชาติของ “อ.สนิทวงศ์” มากกว่าเพชรพระอุมาหรือสามก๊ก เราจึงไม่ค่อยได้อะไรมากนักนอกจากความบันเทิงในนิทาน
มีนักเขียนในดวงใจท่านไหนบ้างไหม
เราเติบโตมากับงานแปลของ “มนันยา” แต่น่าแปลกที่งานเขียนของเราที่เป็นเรื่องหักมุมนั้นมีน้อยมาก ส่วนนวนิยายก็ต้องคุณ “กฤษณา อโศกสิน” ค่ะ
ตามประวัติคุณเคยทำงานแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ทำงานอะไรมาคะ แล้วตอนนั้นมีเป้าหมายเป็นนักเขียนหรือยัง
เราทำงานด้านครีเอทีฟค่ะ งานออกแบบโฆษณา ไม่ได้เกี่ยวกับงานเขียนเลย มาเริ่มต้นเขียนหนังสือจริงจังเอาตอนเรียนจบแล้ว ไม่ได้มีความมุ่งมั่นว่าฉันต้องเป็นนักเขียน ไม่ได้ฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กเช่นนักเขียนดังๆ เขาทำกัน เพียงแต่การเริ่มต้นของเราค่อนข้างเป็นไปด้วยดี เรื่องแรกที่ส่งประกวดผ่านคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี อีกเรื่องผ่านคุณนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ ซึ่งในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่เจ๋งมากสำหรับมือใหม่
ปัจจุบันงานเขียนถือเป็นงานหลักของคุณรึเปล่า
งานเขียนสำหรับเราต้องเรียกว่าเป็นงานอดิเรก เรามีอาชีพอื่นๆ ที่ทำกับครอบครัว ทำกับเพื่อนเป็นหลัก เพราะชีวิตในแต่ละวันมีค่าใช้จ่าย ยิ่งในยุคที่วงการหนังสือซบเซา สำนักพิมพ์เริ่มอยู่ยาก เพราะคนหันไปสนใจโลกโซเชียลมากกว่า งานเขียนจึงเลี้ยงปากท้องเราไม่ได้ในยุคที่ใครๆ ต่างก็บอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีค่ะ
ตอนที่ส่งเรื่องสั้นประกวดครั้งแรกนั้น ตัดสินใจอย่างไร และมีการวาดภาพอนาคตเส้นทางนี้ในใจไว้บ้างไหม
ด้วยความที่ชอบอ่าน พอว่างเป็นต้องเข้าห้องสมุด มีเพื่อนคนหนึ่งสนใจอยากเป็นนักเขียน จึงชวนเราส่งประกวด โดยที่เราไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย เพื่อนจัดการหามาให้ทั้งหมด พอเขียนเสร็จเราก็ส่งไปพร้อมๆ กับเพื่อน ผลคือเราได้ตีพิมพ์ แต่เพื่อนไม่ได้รับคัดเลือก นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราหันมาสนใจการเขียนเรื่องสั้นมากขึ้น หากจะเรียกว่าเข้ามาด้วยความบังเอิญก็คงไม่ผิด
ถนัดงานเขียนประเภทไหนเป็นพิเศษ
อย่างที่ตอบไปในคำถามที่แล้ว เราเข้ามาแวดวงนี้ด้วยความบังเอิญ แล้วตลอดระยะเวลา 20 ปี เราไม่ได้เขียนเรื่องสั้นอย่างเดียว มีเขียนนวนิยาย สารคดีท่องเที่ยว บทความ บทสัมภาษณ์ ในหลายนามปากกา มากจนตัวเองจำไม่ได้เลยค่ะว่ารวมแล้วกี่ชิ้น เราจึงตอบไม่ได้ว่าถนัดงานประเภทไหนเป็นพิเศษ
คุณมองว่าข้อดีหรือประโยชน์ของการส่งงานเข้าประกวดคืออะไร
ข้อดีที่ดีมากๆ คือเมื่อผลงานของเราได้รับคัดเลือก เหมือนมีสปอตไลท์ส่องสว่างมาที่เรา มีคนรู้จักมากขึ้น มีคนติดตามมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเขียนที่ลงทุนจัดพิมพ์เองอย่างเรา นอกจากรางวัลจะช่วยไม่ให้ขาดทุน ยังช่วยให้มียอดขายเพิ่ม และที่รู้สึกดีใจอีกอย่างคือ เรากลายเป็นที่ปรึกษาให้แก่คนที่อยากทำหนังสือเอง หลังจาก เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่น ๆ สามารถเข้าสู่รอบลึกรางวัล สพฐ. รางวัลเซเว่นบุ๊คฯ จนถึงลองลิสต์ซีไรต์ปีนี้ น้อง ๆ มือรางวัลหลายคนที่กำลังลังเลว่าจะทำรวมเล่มเองดีไหม หลังจากส่งสำนักพิมพ์แล้วไม่ได้รับคำตอบสักทีก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ
รางวัลที่ได้รับและเข้าชิงทั้งหมดนั้น มีรางวัลไหนที่ภูมิใจหรือประทับใจมากที่สุด
เราภูมิใจทุกรางวัลที่ได้รับค่ะ แต่หากจะบอกว่าประทับใจคงเป็น “ชัยชนะของบุญยืน” ที่ได้รองชนะเลิศรางวัลพานแว่นฟ้า เพราะเป็นเรื่องที่เราคิดไม่ถึง เราไม่ถนัดเรื่องสั้นการเมือง ไม่ถนัดเอาเสียเลย แต่ที่ลองส่งดูเพราะเวทีนี้หากตกรอบทางรัฐสภาก็จะส่งหนังสือมาให้เราได้ศึกษาว่าคนเข้ารอบเขาเขียนอะไรกัน แล้วเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดีมาก ๆ ค่ะ
อยากให้เล่าถึงแรงบันดาลใจของรวมเรื่องสั้น เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่นๆ
เรากับบรรณาธิการคือ จักษณ์ จันทร ช่วยกันคัดเรื่องสั้นทั้งหมด ขั้นแรกเราคัดเรื่องสั้นจำนวน 15 เรื่องส่งให้จักษณ์ แล้วจักษณ์ก็ใช้ประสบการณ์ในการเป็นบรรณาธิการเรื่องสั้นมาแล้วหลายเล่มคัดจนเหลือเพียง 9 เรื่อง ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องสะท้อนปัญหาสังคมที่ผ่านเวทีประกวด ซึ่งเราและจักษณ์เห็นพ้องต้องกันว่า 9 เรื่องนี้เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับรวมเรื่องสั้นเล่มแรก
ชื่อหนังสือมีที่มาจากไหน
“เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติ” คือชื่อเรื่องสั้นที่เคยผ่านเวทีราหูอมจันทร์ หลังจากคัดเรื่องสั้นออกมาชุดหนึ่งแล้ว เรากับบรรณาธิการพบว่า ในแต่ละเรื่องสั้นเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปกติกับตัวละครด้วยกันทั้งสิ้น เราจึงเติม “อื่นๆ” ต่อท้ายเข้าไป จนได้ชื่อเล่มที่คิดว่าลงตัวที่สุดแล้ว
เกณฑ์การคัดเลือกเรื่องสั้นที่นำมารวมไว้ในเล่มนี้
เรา (กฤติศิลป์กับบรรณาธิการ) ไม่ได้มีเกณฑ์อะไรเลย เพราะเรื่องสั้นเกือบทั้งหมด ยกเว้น “บางทีหล่อนอาจเปลี่ยนใจ” ที่เขียนขึ้นใหม่ ล้วนผ่านเวทีประกวดมาแล้ว นั่นหมายถึงได้ผ่านสายตาบรรณาธิการผู้ทรงคุณวุฒิ จึงไม่ต้องลงแรงอะไรมากค่ะสำหรับเล่มนี้
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คืออะไร
จุดเด่นน่าจะเป็นความ “real” ความมีอยู่จริงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องซึ่งมีผลกระทบกับตัวละคร เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกไปได้ส่งสารถึงผู้อ่านโดยตัวมันเองอยู่แล้วค่ะ
มีเรื่องไหนในเล่มที่รู้สึกเขียนยาก หรือมีเรื่องราวประทับใจ หรือทดลองเทคนิคใหม่ๆ ในการเขียนบ้างไหม
เรื่องที่เขียนยากที่สุด ประทับใจที่สุด และมีการใช้เทคนิคการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไป รวมถึงยาวที่สุดด้วย คือเรื่อง “โศกนาฏกรรมอันซ้ำซ้อน” (เข้ารอบเรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด) เพราะเราต้องวางโครงเรื่องให้แม่นยำ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องสมเหตุสมผล บทสนทนา การกระทำของตัวละครต้องเป็นธรรมชาติ แม้แต่สุนัขในเรื่อง เราต้องศึกษาคาแรกเตอร์ของมันว่าถ้าเห่าแบบนี้มันต้องการจะบอกอะไรเจ้าของ กระทั่งตัวฆาตกรเองก็ต้องมีเหตุจูงใจในการฆ่า ส่วนเทคนิคการเขียนเราใช้สลับกันเล่า ระหว่างตัวละครหลักกับมุมมองพระเจ้า
คุณเขียนงานมานานถึง 20 ปี แต่ทำไมเพิ่งตัดสินใจรวมเล่ม และเลือกจัดพิมพ์เองด้วย
เราคิดว่าถึงเวลาค่ะ หากไม่ทำตอนนี้ก็ไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะยังมีคนอยากอ่านเรื่องสั้นของเราอยู่ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจไม่ยากในการลงทุนทำเองคือกองเชียร์ นักอ่านที่ติดตามผลงานของเรามาตั้งแต่เรื่องสั้นเรื่องแรกๆ ถามเราตลอดว่าเมื่อไหร่จะมีรวมเล่ม ส่วนตัวเราเองยังให้ความสำคัญแก่ระบบบรรณาธิการ ตลอดระยะเวลา 20 ปีไม่เคยส่งผลงานไปเสนอให้ที่ไหนพิจารณา นอกจากมีสำนักพิมพ์มาขอไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีแล้วยังไม่ได้คำตอบว่าจะได้พิมพ์เมื่อไหร่ เราเลยขอกลับมาทำเองค่ะ
เมื่อเปรียบเทียบแล้วหนังสือรวมเรื่องสั้นนั้นดูจะขายยากกว่านวนิยายหรือเรื่องยาว มองว่าเสน่ห์หรือคุณค่าของเรื่องสั้นคืออะไร
วรรณกรรมทุกประเภทมีเสน่ห์ในตัวของมันเองค่ะ แล้วแต่คนอ่านว่าจะชอบแบบไหน ส่วนตัวเราคิดว่ามันวัดกันไม่ได้ว่านวนิยายหรือเรื่องสั้นจะขายดีกว่ากัน อยู่ที่ว่านักอ่านถูกจริตงานเขียนของใคร ไม่ว่าคนคนนั้นจะเขียนสั้นหรือยาวเขาก็ยอมเสียเงินซื้อ ส่วนคุณค่าของเรื่องสั้นในมุมมองของเรา เป็นอื่นไปไม่ได้เลยนอกจากเรื่องสั้นเรื่องนั้นๆ “ให้” อะไรแก่คนอ่าน
จากคำนิยมในหนังสือกล่าวว่า เอกลักษณ์งานของคุณคือการเล่าถึงอารมณ์ของตัวละครหญิงอย่างชัดเจน ทำไมถึงสนใจเล่าประเด็นความรู้สึกเช่นนี้
เพราะความเป็นผู้หญิง ความเป็นเฟมินิสต์ ไม่ยากค่ะที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้
เคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อหรือลังเลว่าจะก้าวเดินต่อไปในเส้นทางนักเขียนบ้างไหม เมื่อรายได้จากอาชีพนี้ไม่ได้สูงนัก
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าเรามีอาชีพอื่นเป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ว่างานเขียนจะทำเงินยากหรือไม่มั่นคง เราก็สามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยอาชีพอื่น เรื่องนี้จึงไม่กระทบกับเราเท่าไหร่ค่ะ
คุณมีคำแนะนำอะไรไหมสำหรับผู้ที่อยากเป็นนักเขียน
เราคงมีแค่คำแนะนำเดียวค่ะ หากอยากยืนหยัดบนถนนสายนี้คุณต้องลงมือเขียน เราเชื่อว่านักเขียนมีชื่อทุกคนต่างทำงานกันอย่างหนัก กว่าจะมีผลงานเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่ต้องห่วงเรื่องพื้นที่ เรายังมีเวทีอีกหลายๆ เวทีที่รับพิจารณาผลงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ยุคนี้เราขายงานออนไลน์ได้แล้ว ทั้งลงเว็บ Meb , Fictionlog หรือ iReader ขอแค่ตั้งใจทำให้ดี เพื่อนักอ่านติดตามเราให้ได้ เท่านั้นเองค่ะ
สำหรับ กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ งานเขียนสำคัญต่อคุณอย่างไร
เพราะงานเขียนทำให้เรามีคนรู้จักมากขึ้น ทำให้ได้รางวัลหลายๆ รางวัลที่ไม่คิดฝันมาก่อน อีกทั้งฟีดแบ็กซึ่งเป็นบวกที่ได้รับจากนักอ่าน มันชุบชูใจเรา หัวใจเราพองโตทุกครั้งที่มีคนบอกว่าเรื่องนั้นดีเรื่องนี้ชอบ งานเขียนจึงมีความสำคัญต่อจิตใจ คืองานที่หล่อเลี้ยงความรู้สึก ทำให้มีความสุขมากกว่าอาชีพอื่นๆ ค่ะ
ผู้ที่สนใจรวมเรื่องสั้น เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่นๆ สามารถสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ของศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่เดียว ไม่มีวางตามร้านหนังสือทั่วไป (เหลือจำนวนไม่มากแล้ว)
3 เล่มในดวงใจของ กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ
- หลายชีวิต โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
- เจ็ดวันหลังความตาย โดย หยูหัว
- ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ โดย ฮิงาชิโนะ เคโงะ
ทั้งสามเล่มนี้ชอบเทคนิคการเล่าเรื่อง การบรรยายฉาก การเก็บรายละเอียดต่างๆ อย่างไม่ตกหล่น