“เป้าหมายของผม 1.มีสปอนเซอร์เข้า 2.ได้ลงโฆษณารถ 3.ได้โฆษณาที่เขาอาจไม่ต้องจ้างคนไทยเลย ได้แต่กลับจ้างผม 4.ได้เข้าเอเจนซีที่อเมริกาหรือยุโรป เพื่อทำความเข้าใจระบบทางนั้นว่าเป็นยังไง และผมทำได้ตามเป้าหมายแล้วครับ” กฤตย สุขวัฒก์ นักลงเสียงโฆษณาเล่าด้วยเสียงทุ้มต่ำทรงพลังอันเป็นเอกลักษณ์
สิ่งที่ทำให้เขาได้งานหลายชิ้นจากต่างประเทศ ไม่ใช่เพียงเพราะมีเสียงที่ดี หากแต่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นในงานที่ทำ จึงพร้อมคว้าทุกโอกาสตรงหน้าเอาไว้ รวมถึงสร้างช่องทางให้ตัวเองผ่านโลกโซเชียล คลิปแรกที่ลง Tiktok มียอดคนเข้าดูถึงสี่หมื่นวิว
“ปกติผมลงในไอจีเก็บไว้เป็นพอร์ตโฟลิโออยู่แล้ว แต่ยอดไม่เคยสูงขนาดนี้ (หัวเราะ) คนทั่วไปรู้ว่ามีอาชีพนี้นะ แล้วผมเป็นนักลงเสียง ใช้ไมโครโฟนทั้งวัน แต่ไม่เคยเห็นนักลงเสียงได้สปอนเซอร์ไมโครโฟนเลย สุดท้ายบริษัทเจ้าของไมโครโฟนที่ผมใช้ ให้เกียรติผมเป็นคนแรกในเอเชียแปซิฟิก มาสปอนเซอร์ไมโครโฟนสำหรับนักลงเสียง รู้สึกภูมิใจที่เขาเลือกคนไทย ไม่ใช่เพราะเงิน แต่เป็นเรื่องศักดิ์ศรี ได้เห็นว่าสิ่งที่ผมทำมันเกิดผลจริงๆ”
มีรักต้องมีเกลียด
“มีเยอะเลยครับ (หัวเราะ) ไม่ค่อยแฮปปี้ที่ผมทำ หรือโทร.มาสตูดิโอเลยว่ากฤตยได้ค่าลงเสียงเท่านี้จริงหรือเปล่า กลัวถูกแย่งงานกัน ผมไม่ได้คิดว่าทำแล้วจะมีคู่แข่งเพิ่ม ไม่ใช่ว่าตัวเองเก่งกว่านะ ผมมองว่าถ้างานชิ้นนี้เสียงมันเหมาะกับผม ก็เป็นของผม ถ้างานนั้นเหมาะกับเสียงคุณ ก็เป็นของคุณ เกิดมีงานให้ผมพากย์เสียงการ์ตูนอายุแปดขวบ ผมคงลำบาก เพราะเสียงผมไม่ได้เป็นอย่างนั้น และผมไม่ใชนักพากย์ การพากย์คือพากย์คาแรคเตอร์ ต้องตรงปาก พากย์หลายตัว เครียดกว่าด้วยนะ ผมถือว่านักพากย์อึดและเก่งมาก”
จุดสูงสุดของอาชีพ
“จุดสูงสุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนได้ทำงานที่อยากทำ ผมชอบโฆษณารถ แล้วนานหลายปีกว่าผมจะถึงจุดนั้น พอได้ลงเสียงโฆษณารถในไทย จึงคิดว่าถ้าไม่ใช่เรา ก็ต้องมีคนไทยคนอื่นได้ลงตัวนี้เหมือนกัน อยากลงต่างประเทศละ พอดีฟอร์ด มิตซูบิชิ จากต่างประเทศมาติดต่อให้ผมลงเสียงโฆษณาที่เขาจะเอาไปกระจายในต่างประเทศ ก็เป็นอีกเป้าหมายที่ได้ทำ”
นักลงเสียงที่ดีต้องเป็นอย่างไร
“ถ้าเรามีความเป็นนักแสดงด้วยจะเข้าใจบทได้ดีกว่า ทุกโฆษณามีบทนะ อย่างโฆษณารถ เราอาจเป็นคนขับรถที่พาครอบครัวไปเที่ยว พอรู้ว่าใครพูด โทนเสียงก็จะแตกต่างกัน ต้องฝึกและถามลูกค้าว่าต้องทำยังไง เข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร บางทีลูกค้าอาจเปลี่ยนใจ ตอนแรกเอาแบบนี้ ต่อมาจะเอาแบบอื่น บางทีอาจอยากให้เราอ่านคำผิด หรือตรงไหนไม่เหมาะควร จะแนะนำลูกค้าก่อนว่ามันเป็นอย่างนี้นะ ถ้าเขายังโอเค ต้องการแบบนั้น ก็ทำให้ได้ ต้องตามใจลูกค้า เพราะสุดท้ายเขาจ้างงานเรา เราก็ต้องทำให้เขามีความสุข คำว่า ‘อีโก้’ ทุกคนมีครับ แต่บางครั้งก็ไม่ควรให้เกิด”
ความยากง่ายของอาชีพนี้
“มีสองส่วนครับ เวลาทำงานอาจดูง่าย โฆษณาสามสิบวิ อัดเสียงไม่นาน แต่กว่าจะได้งานมันยาก เพราะถ้าเราไม่ดัง เสียงเราไม่ได้บ่งบอกถึงเรา คนได้ยินก็ไม่รู้ว่าเป็นเรา นึกหน้าไม่ออก พวกเรานักลงเสียง บางทีเสียงก็ไม่ได้แตกต่างกัน มันเลยยากในการโปรโมตตัวเอง อย่างแรกต้องมีเสียงตัวอย่างส่งไปให้เขาฟังเพื่อคัดเลือก ที่อเมริกาคนเขาเอาจริงเอาจัง ถึงกับส่งอีเมล์แนบตัวอย่างโดยตรงไปทุกบริษัทที่มีในโลกเลยนะ ไม่ควรขี้เกียจ ถ้าอยากเอาชนะ
“วันแรกที่ผมมาลงเสียง ทุกคนในสตูดิโอจะรู้จักผมเลยไหม ก็ไม่ เขาต้องเห็นการทำงานของผมว่าทำได้นะ จึงไว้วางใจเรียกใช้งาน และเมืองไทยมีคำว่า ‘ลิขสิทธิ์’ แต่คำนั้นไม่ได้อยู่ในอาชีพลงเสียงเลย มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่ลงเสียงให้โฆษณาทางวิทยุชิ้นหนึ่ง คลื่นวิทยุจ่ายสองพัน แล้วใช้เสียงนี้สิบถึงสิบห้าปี”
ถึงนักลงเสียงในอนาคต
“คนไทยชอบติดว่าต้องเรียนพิเศษ ก็มีมาถามว่าจะเปิดคอร์สสอนไหม ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นครูสอนได้ ถ้าต้องเปิดจริงคงคิดราคาถูกมากๆ เพื่อให้เขารู้สึกว่าได้เรียนพิเศษ (หัวเราะ) อยากให้เขามารู้จักวิธีมากกว่า ฝึกซ้อมให้เยอะๆ ครับ อย่างถ้าเราเล่นบาส ก็ต้องดูวิธีการชู้ต การกระโดด ต้องลองเรียนรู้ ผมเลยแนะว่าให้ลองไปดูวิธีว่าคนอื่นลงเสียงยังไง อ่านยังไง ซ้อมเยอะๆ จะได้รู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นแนวตัวเองยังไง พอมั่นใจก็หาสตูดิโออัดเสียงทำเดโมส่งไปทุกที่บนโลก ไม่ต้องกังวลเรื่องอายุ ถ้าลูกค้าต้องการเสียงคนอายุเจ็ดสิบกว่า เขาก็ไม่ใช้เสียงผม ดังนั้นใครๆ ก็เริ่มได้ ผมมีเพื่อนหลายคนที่อเมริกา อายุห้าสิบกว่าเพิ่งจะมาเริ่มลงเสียง”
ช่องทางติดตาม
https://www.facebook.com/krit.sukawat
ขอบคุณสถานที่ถ่ายทำ
SOS Studio of Sound
1417 อาคาร Goodwill ทาวน์อินทาวน์ ซอย 3/4 วังทองหลาง กทม
คอลัมน์ ยุทธจักร ฅ.ฅน เรื่อง มาศวดี ถนอมพงษ์พันธ์ ภาพ อนุชา ศรีกรการ