กระเช้าสีดา นวนิยายชื่อแปลกของราชินีนักเขียน “กฤษณา อโศกสิน” เคยสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2537 และได้รับการสร้างเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2564 ระยะเวลาที่ห่างกันยาวนานทำให้ผู้ชมละครโทรทัศน์ทั้งสองเวอร์ชั่นได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากชนิดสุดขั้ว
นวนิยายเรื่องนี้เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารลลนา นิตยสารที่ทันสมัยที่สุดในช่วงทศวรรษ 2520–2530 เพราะเป็นนิตยสารที่นำเสนอถึง “ความทันสมัย” ของผู้หญิงในสังคมไทยและในบริบทของโลกาภิวัตน์ที่แพร่เข้ามาในเมืองไทย นับตั้งแต่แฟชั่น ภาษา และเนื้อหา แน่นอนว่านวนิยายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับนี้ มักจะมีลักษณะโดดเด่น แตกต่างจากฉบับอื่น กระเช้าสีดาก็เป็นหนึ่งในนวนิยายที่มีเนื้อหาทันสมัยในยุคนั้นเช่นกัน
ในระยะเวลาใกล้กันนั้น “กฤษณา อโศกสิน” ได้นำเสนอนวนิยายเรื่องหลงไฟ ในนิตยสารลลนาด้วย การนำเสนอให้เห็นถึงผู้หญิงที่เห็นค่าของ “วัตถุ” เป็นเครื่องนำทางชีวิต และยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุที่อยากครอบครอง ถึงขั้นยอมขายเนื้อหนังมังสาและเข้าสู่กระบวนการเพศพาณิชย์ เป็นการนำเสนอบทบาทของตัวละครเอกฝ่ายหญิงในนวนิยายเรื่องหลงไฟให้แหวกจากขนบของเพศหญิงในขนบวัฒนธรรมไทยอย่างสิ้นเชิง กระเช้าสีดาก็เช่นกัน เมื่อนำเสนอเรื่องราวของ “รำนำ” ตัวละครเอกฝ่ายหญิงในเรื่อง ก็เป็นที่ฮือฮาในยุคนั้นไม่น้อย
กล่าวได้ว่านวนิยายของนักเขียนสตรีในทศวรรษ 2530 ได้นำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่ล้ำยุคไปกว่ายุคก่อนหน้านั้นจำนวนมาก “กฤษณา อโศกสิน” ได้นำเสนอนวนิยายแนวนี้ติดๆ กันหลายเรื่อง แน่นอนว่านวนิยายมิอาจตัดขาดจากบริบทสังคมโลกาภิวัตน์ ที่เปิดประตูให้หญิงไทยหลุดออกจากพื้นที่ของครอบครัวแบบไทยๆ หลุดออกจากพื้นที่ของความเป็นหญิงที่ถูกขีดกรอบให้จำกัดอยู่ในขนบเดิมๆ อย่างน้อยผู้หญิงก็กล้าพูด กล้าทำในเรื่องเพศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
“กฤษณา อโศกสิน” นำกระเช้าสีดา ไม้กาฝากที่เกาะแผ่กับกิ่งไม้ใหญ่ แม้ดอกใบจะสวยงาม แต่ก็ไร้ค่า มาเปรียบกับตัวละครรำนำ ในฐานะที่เป็นกาฝากของครอบครัวลือและน้ำพิงค์ ลืออุปการะรำนำกับแม่เข้ามาอยู่ในครอบครัวของตนเอง โดยหารู้ไม่ว่าความดีและความใกล้ชิดทำให้รำนำเกิดความรู้สึกผูกพันและอยากเป็นเจ้าของลือ โดยพฤติกรรมของลือที่เจ้าชู้ ขาดความรับผิดชอบในหลายๆ เรื่อง ชอบใช้อำนาจแบบลัทธิพ่อบ้านในระบบปิตาธิปไตย เรียกได้ว่าลือใช้ชีวิตแบบผู้ชายไทยทั่วไป แต่รำนำมิได้เห็นเป็นเรื่องผิดปกติ แม้มีเพื่อนชายที่ทำหน้าที่ดูแล ขับรถรับส่งอย่างอำพล แต่เขาก็มิอาจแทนที่ในความรู้สึกของรำนำได้ หัวใจของเธอสยบและผูกพันอยู่กับลือคนเดียวเท่านั้น
การแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของจึงมิต่างจาก “กาฝาก” ไม่มีรากแก้ว ไม่มีลำต้นเป็นของตนเอง เป็นเพียงไม้กาฝากที่หวงแหนกิ่งไม้ใหญ่ที่ตนเกาะไว้อย่างแน่นหนา ดังนั้นจึงจำต้องหวงและหวาดระแวงว่าไม้ใหญ่นี้จะหลุดมือไป รำนำจึงทำหน้าที่ปกป้องและกีดกันผู้หญิงทุกคนที่เข้ามาในชีวิตของลือ กาฝากที่ไร้รากอย่างรำนำจำต้องทำเพื่อความอยู่รอดของร่างกายและจิตใจ ในด้านร่างกาย การยึดลือไว้ได้ ก็คือความมั่นคงของชีวิต ในด้านจิตใจ เท่ากับรำนำได้พบความสุขที่ไขว่คว้า โหยหา ในชีวิตที่มีแต่แม่ผู้ทุกข์ยากอยู่ก้นครัว ไม่มีศักดิ์ศรีและไม่มีอะไรให้น่าภาคภูมิใจ เธอจึงอยากไขว่คว้าชายกลางคนที่จะมาทำหน้าที่ผู้นำชีวิต ทั้งในฐานะ “ผัว” และ “พ่อ” เมื่อน้ำพิงค์มิอาจทนกับพฤติกรรมของลือได้ เธอจึงขอหย่ากับลือ รำนำจึงตัดสินใจที่จะทอดกายให้ลือ และเป็นการเริ่มต้นบทบาทของเมียเก็บที่มาจากเด็กในบ้าน แน่นอนว่าความสวย ความสาวทำให้ลือหลงใหลรำนำอย่างที่สุด
ขณะที่น้ำพิงค์ หญิงชนชั้นกลาง เจ้าของธุรกิจเล็กๆ แต่ภาคภูมิใจที่ได้ฟันฝ่าสร้างฐานะด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง กลับไม่อยากเป็น “กาฝาก” ของผู้ชาย เมื่อผู้ชายไม่สามารถเป็นไม้ใหญ่ให้เธอได้ เธอจึงพร้อมจะไปเป็นหน่ออ่อนของต้นไม้ต้นใหม่ ต้นไม้ที่มีชีวิตเป็นของตนเอง
น้ำพิงค์กับรำนำจึงมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน “กฤษณา อโศกสิน” ชี้ให้เห็นว่า “ชนชั้น” มิได้เป็นเครื่องชี้วัดระดับจิตใจของมนุษย์ได้เสมอไป เพราะแม้ว่ารำนำจะมีต้นทุนชีวิตที่ต่ำกว่าลือและน้ำพิงค์ แต่รำนำก็มิได้ลำบาก ลือดูแลทุกอย่างตามที่เธอต้องการ แม่ของรำนำก็พอใจกับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ หากแต่ความทะเยอทะยานของรำนำมาจากสังคมสมัยใหม่รอบตัวผลักดันให้รำนำคิดถึงวัตถุและความสุขสบายมากกว่าความกตัญญูที่ควรตอบแทนผู้หญิงแสนดีอย่างน้ำพิงค์
รำนำอ้าง “ความรัก” ที่มีต่อผู้ปกครองของตน ซึ่งบัดนี้ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นสามี เธออ้างว่าเธอรัก เธอจึงต้องหวงแหนและทำทุกอย่างเพื่อจะได้ครอบครองลือ ทั้งที่ในความจริง ลือมิได้รักเธอ หากแต่ลุ่มหลง ตามประสาชายมีอายุกับหญิงสาวอ่อนวัย ย่อมมีรสชาติหวือหวากระตุ้นให้ความเป็นชายของเขาสมบูรณ์เท่านั้นเอง
กระเช้าสีดาเวอร์ชั่นใหม่ มีการนำเสนอแตกต่างจากนวนิยายอย่างสิ้นเชิง การสร้างให้รำนำร้ายแบบต้องการครอบครองลือ และเอาชนะน้ำพิงค์อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาจนดูก้าวร้าว ขณะที่น้ำพิงค์ในเวอร์ชั่นใหม่ก็พร้อมโต้กลับ ตามแบบภาษายุคใหม่ที่ว่า “ฟาดมาฟาดกลับ” แต่การเลือกนำเสนอเช่นนี้ ประสบความสำเร็จในแง่เรทติ้งอย่างคาดไม่ถึง ก็อาจจะสะท้อนปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจยิ่ง รำนำและน้ำพิงค์ต่างก็เป็นตัวแทนของผู้หญิงยุคใหม่ที่ไม่ยอมให้ใครมาข่มเหงได้ง่ายๆ เมื่อต้องการสิ่งใดก็ต้องพยายามให้ได้มา แม้จะต้องแลกกับอะไรก็ตาม รำนำแสดงออกว่าแค่เป็นเด็กดีในบ้าน เชื่อฟังผู้ปกครองยังไม่เพียงพอ เมื่อหัวใจเธอต้องการครอบครอง เธอก็ต้องทำให้ได้ ส่วนน้ำพิงค์ได้ฉีกหนังสือว่าด้วยกุลสตรีที่มีในเวอร์ชั่นก่อนจนไม่เหลือชิ้นดี เมื่อไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของสามีได้ และเธอก็ไม่พร้อมจะใช้สามีร่วมกับคนอื่น เธอจึงต้องโต้คืนอย่างถึงที่สุด ตัวละครทั้งสองจึงดำเนินชีวิตในแบบที่ต้องการอย่าง “ถึงที่สุด” แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การแย่งชิงผู้ชายก็คือการตอกย้ำวาทกรรมเดิมๆ ที่ผู้หญิงก็ยังต้องการเป็น “สมบัติ” ของผู้ชายเช่นที่เคยเป็นมาจากอดีต
ดังนั้น ทั้งรำนำและน้ำพิงค์ก็ยังยึดไม้ใหญ่ไว้เหมือนเดิม ต่างก็เป็น “กระเช้าสีดา” หากแต่เป็นกาฝากในรูปแบบใหม่เท่านั้นเอง
คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง
เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ