คนบนต้นไม้ เรื่องสั้นของนักเขียนยุคก้าวหน้าที่ยังก้าวหน้าตลอดกาล

-

“ใช่ว่าจะอ่านรอบเดียวเลิกนี่ครับ อาจหยิบมาอ่านซ้ำอีกก็ได้”  ประโยคจากหนังสือ ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ ของ นัตสึคาวะ โชสุเกะ  เป็นเหตุให้หยิบหนังสือรวมเรื่องสั้น คนบนต้นไม้ ของนิคม รายยวา มาอ่านจริงจังอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากเปิดผ่านๆ เพื่อหาตัวอย่างประกอบข้อเขียนอื่นเมื่อเร็วๆ นี้

หนังสือเล่มนี้มีเรื่องสั้น 13 เรื่อง แต่งระหว่าง พ.ศ.2512-2527 ไม่มีเรื่องสั้นเรื่องใดคุณภาพอ่อนจนเป็นข้อตำหนิของหนังสือ เนื้อหาของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้กล่าวถึงชีวิตลำเค็ญของชาวไร่ ชาวนา คนขายแรงงาน ในท้องถิ่นชนบทห่างไกลความเจริญ ที่สะท้อนให้เห็นการถูกเอาเปรียบ การอ่อนด้อยความรู้ การมุ่งแก้ปัญหาปากท้องของครอบครัวมากกว่าตระหนักรู้เรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความไม่เท่าเทียมกัน  ตัวละครปฏิปักษ์เป็นนายทุน ตำรวจ ชาวบ้านที่ถือปืน แม้ลักษณะเหล่านี้จะเป็นไปตามขนบของวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่ก็ไม่ล้าสมัยเลย ทั้งที่อ่านใหม่ในเวลาอีก 50 ปีต่อมา

 

 

จุดเด่นในงานเขียนของนิคม คือ การใช้สัญลักษณ์และปรัชญาธรรมชาตินิยม ดังปรากฏในนวนิยายเรื่องตลิ่งสูง ซุงหนัก, ตะกวดกับคบผุ  และเรื่องสั้นทุกเรื่องในคนบนต้นไม้  สัญลักษณ์ซึ่งผู้แต่งสร้างขึ้นจะเสริมรับหรือขยายความหมายที่เป็น “สาร” ของตัวบทให้ชัดเจนขึ้น  มีตัวอย่างเรื่องสั้น 2 เรื่องซึ่งนิคมใช้สัญลักษณ์ที่ทำให้ความหมายของเรื่องมีเอกภาพ  คือ เรื่อง “คนดำน้ำ” และ เรื่อง “ศึก”

ในเรื่อง “คนดำน้ำ” มีตัวละคร 4 ตัวทำมาหากินในแหล่งน้ำเดียวกัน คือ  คนเก็บผักบุ้ง  คนตกเบ็ด  คนแทงฉมวก และคนดำน้ำ  ในฐานะที่ผู้แต่งเป็นบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์  ต้องชมว่าผู้แต่งนำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาสร้างเป็นเรื่องสั้นได้น่าอ่านและการใช้สัญลักษณ์ทำให้เข้าใจแจ่มแจ้ง  คนเก็บผักบุ้ง  ทำมาหากินแบบสบายๆ เก็บเกี่ยวผักบุ้งซึ่งอาศัยธรรมชาติดูแล  มีคนมาซื้อถึงที่แล้วนำไปขายต่อ กำไรน้อย แต่แทบไม่ต้องลงทุนนอกจากลงแรง  คนตกเบ็ด ใช้ทักษะมากขึ้นอีกหน่อย  ต้องรู้จักเลือกเหยื่อ  รู้จักแหล่งน้ำ  รู้ธรรมชาติปลา มีความอดทนรอคอย เพราะไม่อาจคาดเดาได้ว่าปลาจะกินเบ็ดเมื่อไร กำหนดไม่ได้ว่าปลาจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก คนแทงฉมวก เป็นพวกทำมาหากินแบบเจาะจงเลือกเหยื่อที่ต้องการ ต้องแม่นยำในการแทง ใช้ความอดทนสูงแต่หวังผลได้แน่นอน คนดำน้ำ เป็นพวกที่สร้างความกังขาถึงขั้นหงุดหงิดใจแก่เพื่อนร่วมอาชีพ เพราะลึกลับ ไม่โปร่งใส ไม่ชัดเจนว่าทำอะไร และอาจขัดขวางผลประโยชน์ของผู้อื่นโดยทางลับ ตัวละครทั้ง 4 แบบนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งทางธุรกิจ การเมือง หรือกิจการอื่นใดที่เกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์  อ่านแล้วชวนคิดไปได้ไกล

เรื่อง “ศึก” มีการใช้สัญลักษณ์หลากหลายที่เสริมรับกันเป็นเอกภาพ ผู้แต่งเล่าถึงสีเทิ้ม ซึ่งเพิ่งออกจากคุก ล่องเรือไปพร้อมกับลุงบุญปลูกเพื่อนำข้าวเปลือกไปขาย ขณะเดินทาง สีเทิ้มต้องต่อสู้กับศึกในใจระหว่างการปล้นเงินของลุงบุญปลูกกับความสำนึกกตัญญูที่ลุงบุญปลูกเป็นผู้อุปการะช่วยเหลือตลอดมาตามที่พ่อของสีเทิ้มฝากฝังไว้  สีเทิ้มนอนไม่หลับตลอดคืน  รู้สึกว่าได้ยินเสียงจระเข้ฟาดหางอยู่ในน้ำ  ในตอนเช้า เมื่อล่องเรือต่อไปใกล้ถึงท่า  คนเรือไม่อาจคัดท้ายเข้าหาตลิ่งได้เพราะมีท่อนซุงจำนวนมากไหลมาตามลำน้ำเชี่ยว กระแทกเรือจนลุงบุญปลูกตกน้ำ สีเทิ้มกระโดดลงไปช่วยดันลุงบุญปลูกขึ้นแพซุงได้  แต่ขาของเขาถูกหนีบไว้ระหว่างซุงสองต้น  คนเรือและลุงบุญปลูกช่วยกันงัดซุงให้แยกออกแต่ไม่สำเร็จ  สีเทิ้มเจ็บปวดปางตาย  ขอมีดมาฟันขาตนเองขาด  จึงหลุดจากแพซุงได้

ผู้แต่งเลือกใช้สัญลักษณ์ให้สัมพันธ์กันตลอดทั้งเรื่อง  ชื่อ “สีเทิ้ม” แสดงถึงความสั่นสะท้านในใจตัวละครที่จิตสำนึกกำลังต่อสู้กันระหว่างการทำดีกับทำชั่ว  ชื่อ “บุญปลูก” แสดงความเป็นคนใจบุญ บุญจึงรักษาให้รอดพ้นจากภัยอันตราย  เสียงจระเข้ที่สีเทิ้มได้ยินตลอดทั้งคืน จนกระทั่งหลังจากสีเทิ้มฟันขาตนเองทิ้ง แล้วบอกลุงบุญปลูกว่า “ตะเข้ไม่มีแล้ว” “มันตายแล้ว” “ผมฆ่ามันเอง” เป็นสัญลักษณ์แทนความชั่วร้ายภายในใจที่สีเทิ้มสามารถขจัดออกไปได้โดยเด็ดขาด  ซุงไม่มีตราที่ลอยเป็นแพเต็มลำน้ำเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายธรรมชาติโดยผิดกฎหมายและไม่มีสำนึก  ทำให้เกิดภาวะร้อนแล้งและน้ำท่วม  แสดงความฉ้อฉลของผู้รักษากฎหมายและความโลภกับความเห็นแก่ตัวของนายทุน  ซึ่งสัมพันธ์กับความโลภที่สีเทิ้มต้องการปล้นเงินของลุงบุญปลูก  การต่อสู้กับภัยธรรมชาติคือสายน้ำเชี่ยวและแพซุงอันแข็งแกร่ง  เป็นสัญลักษณ์เปรียบกับการต่อสู้อย่างหนักหน่วงในใจของสีเทิ้ม   การที่สีเทิ้มใช้ดาบตัดขาตนเองเพื่อให้พ้นจากแพซุงเป็นสัญลักษณ์แทนการหลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลสทั้งปวงและสัญชาตญาณดิบของตนด้วยจิตใจอันเข้มแข็ง  ศึก ซึ่งเป็นชื่อเรื่องสั้น จึงสื่อความหมายทั้งศึกในใจตัวละคร และศึกระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

นอกจากเป็นนักเขียนผู้ชอบใช้สัญลักษณ์เพื่อแฝงความหมายให้ลึกซึ้งแล้ว นิคมยังเป็นนักเขียนผู้ใช้แนวคิดธรรมชาตินิยมอย่างเอาจริงเอาจังด้วย  เรื่องสั้นของนิคมสะท้อนธรรมชาติจิตใจด้านร้ายที่สามารถทำลายคุณค่าของมนุษย์และพลังร้ายของสิ่งภายนอกที่สามารถสร้างหายนะหรือความตาย เรื่อง “ศึก” เป็นตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวละครต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อต่อสู้กับพลังชั่วร้ายทั้งที่อยู่ในใจและอยู่ภายนอก  แต่ใช่ว่ามนุษย์จะต่อสู้เอาชนะความชั่วร้ายได้เสมอไป หลายครั้งการกระทำจึงขัดกับอุดมคติ  อย่างเรื่อง “คนบนต้นไม้” คนจับลูกนกใฝ่ฝันถึงความสุขสงบ อยู่กันอย่างรักใคร่ เห็นอกเห็นใจ  ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายใคร  แต่ในที่สุดเขาก็ต้องจับลูกนกไปขาย ท่ามกลางเสียงกรีดร้องราวกับหัวใจสลายของพ่อนกแม่นก  เช่นเดียวกับเรื่อง “ปล่อยนก” นักทัศนาจรบางคนไม่เห็นด้วยกับการส่งเสริมให้จับนกมาให้คนซื้อปล่อยเอาบุญ  และคิดจะพังกรงขังนกให้หมด  แต่ก็ไม่ได้ทำ  ภาพของคนขายนก  ขอทาน  เด็กมอมแมม และคนพิการแก่ชรา เป็นสัญลักษณ์แทนสังคมไทยที่ป่วยไข้ ทุพลภาพ  อดอยาก อันควรเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องรื้อสังคมเก่าทิ้ง  สร้างสังคมใหม่ที่ให้ความสุขแก่ประชาชน  แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้สำเร็จ   การเบียดเบียนสัตว์เพื่อปากท้องของตนเองยังเป็นสิ่งพอให้อภัย  แต่คนบางคนก็เบียดเบียนสัตว์เพื่อความสนุกหรรษาชั่วครั้งชั่วคราว  อย่างเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” นกพิราบแข่งขาหักกับหมาขาเป๋จึงเป็นภาพประจานความชั่วร้ายในสันดานมนุษย์

นอกจากงานเขียนแนวธรรมชาตินิยมจะแสดงสันดานดิบของมนุษย์แล้ว ยังแสดงหายนะของมนุษย์ผู้ถูกกระทำจากสังคมภายนอกที่มีพลังเกินต่อสู้ต้านทานไหว  เรื่องสั้นเรื่อง “สิ่งที่หล่อนพอจะทำได้” “บ่ายของหมอกควัน” และ “เป็นลม”  แสดงให้เห็นว่า สงคราม  การปล้นฆ่าด้วยความโลภ และความประมาท  ล้วนสร้างความตาย  แต่ที่น่าหดหู่ใจยิ่งกว่าความตาย คือเศษซากของศพที่ไร้ศักดิ์ศรี ไร้ตัวตน และไร้คุณค่า   มีเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งซึ่งนิคมแสดงให้เห็นว่าคนเราต้องมีใจแกร่งพอเพื่อต่อสู้แทนการจำยอมอยู่ในระบบ  ในเรื่อง “อุหมัง” ตัวละครนางพยาบาลไปเที่ยวทะเลเพื่อให้พ้นจากความจำเจในหน้าที่การงาน  แม้หลายครั้งจะต้องไปอยู่เพียงลำพังเพราะเพื่อนติดงาน ส่วนคนรักถึงจะไม่ชอบความไม่สะดวกสบาย แต่เธอก็มีความสุข  ผู้แต่งใช้ อุหมัง หรือ ปูเสฉวน ซึ่งเกิดมาไม่มีเปลือกหุ้ม  ต้องอาศัยเปลือกหอยหรือสิ่งอื่นคุ้มกันเนื้อหนังนิ่มๆ ไว้และซ่อนตัวอยู่ในเปลือกนั้น  เป็นสัญลักษณ์เปรียบเทียบที่เหมาะสมกับเรื่องนี้มาก

ความผุกร่อนของสังคมเกิดจากคุณภาพของคน  และคุณภาพของคนสร้างได้ด้วยการให้ปัญญาและการเข้าถึงความรู้  เรื่องสั้นหลายเรื่องให้ภาพของคนไร้ปัญญาที่หมกมุ่นอยู่กับความเชื่ออำนาจผีสางเทวดา เครื่องรางของขลัง หรือแม้ความฝันลมๆ แล้งๆ อย่างเช่น เรื่อง  “เช้าวันหนึ่ง”  เชื่อเรื่องงูเจ้า เรื่อง “ต้นทาง” เชื่อเครื่องรางของขลัง  เรื่อง “ฝันแล้ง” เชื่อความฝันถึงทองโบราณ การที่ตัวละครกล่าวในตอนท้ายว่า “เพราะเราหลับนะซิถึงได้ฝัน  ถ้าตื่นอยู่ก็ไม่เป็นอย่างนี้”  เป็นการเล่นคำแย้งกันอย่างคมคายและมีความหมายหลายนัย  หลับ คือหลงใหล  ส่วนตื่น คือตื่นรู้   นอกจากนี้  ผู้แต่งบอกเราว่าใช่เพียงชาวบ้านที่ไร้ปัญญา หลงเชื่อสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  แต่ “มีทั้งที่อยู่ในป่า  ในเมือง ในบริษัท ในสนามรบ ในรัฐสภา

นิคม รายยวา เป็นนักเขียนที่มีคุณภาพมากที่สุดคนหนึ่งของวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย  เขาสร้างงานน้อย  แต่พิถีพิถันกับงานทุกชิ้น  เสียดายที่นิคมวางมือจากการเขียนโดยเด็ดขาด  ด้วยเหตุใดก็ไม่อาจทราบได้  ไม่เช่นนั้นแล้ว ตำแหน่งนักเขียนซีไรต์คงไม่ใช่ตำแหน่งเกียรติยศสุดท้ายในวงการประพันธ์


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!