เมื่อเร็วๆ นี้ได้ดูข่าวทางโทรทัศน์เกี่ยวกับชายสูงอายุล่อเด็กหญิงอายุ 10 ขวบด้วยขนมให้ไปที่บ้านแล้วข่มขืน ทำให้คิดถึงสำนวนไทยที่สื่อความหมายถึงช่วงวัยต่างๆ ซึ่งน่าเขียนถึง เช่น ขบเผาะ กระดังงาลนไฟ เฒ่าหัวงู เป็นต้น
ขบเผาะ
คำว่า “ขบ” แปลว่าเอาฟันเน้นหรือกดสิ่งที่เปราะให้แตกหักง่าย เช่นขบเห็ดชนิดหนึ่งที่ยังอ่อนอยู่ มีขนาดใหญ่ประมาณปลายนิ้วก้อย แล้วเกิดเสียงดังเผาะ (เห็ดชนิดนี้จึงได้ชื่อว่า “เห็ดเผาะ”) ขบผลมะม่วงอ่อนซึ่งมีขนาดประมาณปลายนิ้วหัวแม่มือแล้วเกิดเสียงดังเผาะ เป็นต้น
ด้วยลักษณะดังกล่าว “ขบเผาะ” จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับเด็กหญิงที่เพิ่งเริ่มแตกเนื้อสาวซึ่งมีอายุประมาณ 10–15 ปี เช่น พี่สาวพูดกับน้องสาว เมื่อรู้ว่าบางวันเธอให้ลูกสาวอาศัยรถชายหนุ่มที่คุ้นเคยและมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กันไปโรงเรียน เพราะเห็นว่าโรงเรียนลูกเป็นทางผ่านก่อนจะถึงที่ทำงานของชายหนุ่มว่า “อย่าไว้ใจคนมากนัก บางคนรู้หน้าไม่รู้ใจ ลูกสาวก็อยู่ในวัยขบเผาะ เธอควรไปส่งลูกเองดีที่สุด วันไหนที่ไปส่งไม่ได้บอกพี่ พี่จะไปส่งหลานเอง”
กระดังงาลนไฟ
“กระดังงา” ในที่นี้หมายถึงกระดังงาไทยซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 3-6 ดอก ดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกจะซ้อนกัน 2-3 ชั้น ชั้นนอกจะยาวกว่าชั้นใน กลีบดอกห้อยลง แต่ละกลีบบางและบิด ดอกอ่อนมีสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ถ้าแก่จัดจะเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมฟุ้งไปไกล คนไทยนิยมนำดอกกระดังงาแก่มาลนไฟจากเปลวเทียน เพื่อให้ต่อมน้ำหอมตรงกึ่งกลางดอกแตกและส่งกลิ่นหอม จากนั้นก็นำไปลอยน้ำในขวดโหล ปิดฝาให้สนิททิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วจึงใช้น้ำนั้นทำน้ำเชื่อมหรือคั้นกะทิก็จะทำให้ขนมมีกลิ่นหอมชวนกินเป็นพิเศษ
มีการนำ “กระดังงาลนไฟ” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับหญิงสาวหรือหญิงสูงวัยที่เป็นม่าย เพราะหญิงที่ผ่านประสบการณ์ในการมีครอบครัวมาแล้วจะมีเสน่ห์เป็นที่ต้องใจผู้ชายบางคน เช่น พจน์พูดสัพยอกเพื่อนสนิทหนุ่มใหญ่ที่ยังโสดซึ่งกำลังสานสัมพันธ์กับแม่ม่ายสาวสวยในที่ทำงานของทั้งสองว่า “หมู่นี้หน้าตาสดชื่นเชียวนะเอ็ง กระดังงาลนไฟก็อย่างนี้แหละ หอมกว่าปกติ มัวแต่อืดอาดระวังจะถูกคนนอกฉกเอาไปเสียก่อนล่ะ”
เฒ่าหัวงู
“เฒ่า” แปลว่าแก่ ในที่นี้หมายถึงเฉพาะผู้ชายเท่านั้น “เฒ่าหัวงู” จึงแปลตามตัวอักษรว่าชายแก่ผู้มีหัวเป็นงู (ซึ่งอาจมีพิษภัยเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น) แต่คำ “หัวงู” ในที่นี้น่าจะมีที่มาจากการที่ผู้พูดตั้งใจจะสื่อความหมายถึงส่วนปลายของอวัยวะเพศชาย เพราะในสมัยโบราณคนเลี่ยงที่จะใช้คำพูดตรงๆ เกี่ยวกับสิ่งที่มีรูปลักษณ์คล้ายอวัยวะเพศของชายหรือหญิงมาใช้คำสุภาพแทน ดังในหนังสือหลักภาษาไทยของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เขียนไว้ในหัวข้อเรื่อง “คำสุภาพ” ว่า
…ไม่ใช้คำที่นิยมใช้เปรียบเทียบกับของหยาบ เช่น คำว่า “ปลาช่อน” หรือ “สากกะเบือ” ซึ่งเคยเปรียบเทียบกับของลับชาย… คำ “ปลาสลิด” เคยเปรียบเทียบกับของลับหญิง… คำเหล่านี้ต้องเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นดังนี้ ปลาช่อนเป็นปลาหาง… ปลาสลิดเป็นปลาใบไม้… เป็นต้น
เมื่อใช้ “เฒ่าหัวงู” เป็นสำนวนเปรียบจะสื่อความหมายอันเป็นที่เข้าใจว่า คือชายสูงอายุที่มีเล่ห์เหลี่ยมและมีความมักมากในกามคุณ ไม่น่าไว้วางใจ บางครั้งเฒ่าหัวงูถึงกับแสดงพฤติกรรมทางกายหรือวาจาที่สื่อความไม่เหมาะสมออกมาให้ผู้อื่นได้รู้ได้เห็นก็มี เช่น นงรามพูดเบาๆ กับพาฝันเพื่อนร่วมงานที่นั่งโต๊ะชิดกัน เมื่อเห็นผู้ช่วยผู้จัดการสูงวัยมาชะโงกหน้าเกือบชิดหน้าดาวรัตน์ พนักงานสาวที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ไม่นาน ขณะพูดกับเธอว่า “หล่อนเห็นตาเฒ่าหัวงูมากระซิบสั่งอะไรน้องดาวไหม น่ากลัวแทนน้องชะมัดยาด เดี๋ยวก็เป็นเรื่องอีกจนได้”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์