ดีนะที่ ‘กลับลำ’ ทัน

-

มีสำนวนไทยบางสำนวนมีที่มาหรือบ่อเกิดต่างกัน แต่มีความหมายคล้ายกันหรือเหมือนกัน ส่วนในการนำมาใช้ให้ถูกต้องก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะและบริบท เช่น สำนวน “กลับลำ” “ยกธงขาว” “โยนผ้าขาว” เป็นต้น

 

 

กลับลำ

“ลำ” ในที่นี้เป็นคำลักษณะนามของ “เรือ” ซึ่งเป็นพาหนะที่ใช้สัญจรทางน้ำด้วยการพาย ถ่อแจว หรือขับ (เรือที่ติดเครื่องยนต์) ไปยังจุดหมาย แต่ถ้าเมื่อใดผู้ใช้เรือคิดว่ากำลังมาผิดที่ผิดทางหรือเห็นว่ามีอันตรายอยู่ข้างหน้า เมื่อนั้นแทนที่จะมุ่งตรงไปก็หันหัวเรือกลับลำไปยังเส้นทางเดิมหรือเส้นทางใหม่

เมื่อนำ “กลับลำ” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบ หมายถึงการตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อไปตามนโยบายหรือแผนที่วางไว้ เพราะเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือเหตุร้ายขึ้นได้ เช่นครั้งที่รัฐบาลมีนโยบายจะห้ามบุคคลนั่งท้ายรถกระบะโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางไกลไปต่างจังหวัด เพราะต้องการป้องกันหรือลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อมีข่าวออกมาก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านกันระงม รัฐบาลจึงยกเลิกแนวความคิดดังกล่าว พอได้ข่าวพันก็พูดกับทัดเพื่อนรักเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ดีนะที่กลับลำทัน ขืนดึงดันต่อไปข้าว่าเป็นเรื่องแน่ๆ”

 

ยกธงขาว

“ธง” เป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายตามแบบสากลนิยมที่บอกชาติ เช่น ธงชาติ บอกตำแหน่งในราชการ เช่น ธงแม่ทัพนายกอง เป็นต้น ธงมีสีสันลวดลายและความหมายต่างๆ กัน ธงสีขาวล้วนสื่อถึงความบริสุทธิ์สะอาด การ “ยกธงขาว” เป็นสัญลักษณ์มีใช้มาตั้งแต่โบราณกาลในการทำศึกสงคราม ถ้าฝ่ายใดยกธงขาวขึ้นจะสื่อความหมายถึงการยอมแพ้อย่างบริสุทธิ์ใจไม่มีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบาย ฝ่ายที่เป็นคู่สงครามก็จะยุติการสู้รบ

ได้มีการนำ “ยกธงขาว” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้หมายถึงการยอมแพ้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นค่ำวันหนึ่งในร้านอาหาร พุฒพูดกับวิชัยว่า “เรื่องน้องนุชน่ะ อั๊วยอมยกธงขาวแล้วนะ เพราะเขารักลื้อจริงๆ ยังไงๆ อั๊วก็คงเปลี่ยนใจเขาไม่ได้ แต่ลื้อกับอั๊วก็ยังคงเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม”

 

โยนผ้าขาว

การโยนผ้าขาวให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไปถูกนำมาใช้เป็นเครื่องหมายของการยอมแพ้ ดังจะเห็นในวงการกีฬามวย ผู้โยนผ้าขาวคือพี่เลี้ยงนักมวยซึ่งอยู่ด้านล่างเวที ผ้าขาวดังกล่าวน่าจะเป็นผ้าขนหนูสีขาวที่พี่เลี้ยงใช้ชุบน้ำเช็ดหน้าเช็ดตัวนักมวยขณะหยุดพักระหว่างยก การโยนผ้าขาวที่ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติคือ เมื่อพี่เลี้ยงเห็นนักมวยของตนถูกนักมวยฝ่ายตรงกันข้ามรุกไล่เตะต่อยจนล้มลงนอนอย่างหมดท่า กรรมการบนเวทีต้องนับถึงสองครั้ง ถ้าขืนให้ชกต่อไปก็แพ้อยู่ดี และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงโยนผ้าขาวขึ้นไปบนเวทีเพื่อยอมแพ้ ทันทีทันใดนั้นกรรมการก็จะยุติการชก และชูมือนักมวยคู่ชกให้เป็นผู้ชนะ

“โยนผ้าขาว” ได้ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบในกรณีอื่นๆ ด้วย โดยให้มีความหมายว่ายอมแพ้ ไม่ขอสู้ต่อไปเพราะไม่เห็นทางว่าจะชนะ เช่นขณะนั่งคุยกันในกลุ่มเพื่อนสนิทในงานสังสรรค์รุ่น ตอนหนึ่งอาทิตย์พูดถึงชัยยงค์เพื่อนร่วมรุ่น ที่เป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งขาดการติดต่อกับเพื่อนๆ นานมากว่า “ตอนนี้ได้ข่าวว่ายงค์มันตัดสินใจโยนผ้าขาวแล้ว ทั้งยังไม่ยอมให้ลูกชายเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเด็ดขาด เพราะคิดว่าสู้ไปก็เสี


คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!