นักเขียนที่จะแนะนำคนนี้สวมหมวกหลายใบมาก บางคนรู้จัก กิตติศักดิ์ คงคา ในฐานะนักธุรกิจสมุนไพรคงคา บางคนรู้จักในฐานะนักลงทุนหุ้น VI ระดับร้อยล้าน หรือรู้จักผ่านงานเขียนให้ความรู้การเงินการลงทุนจากเพจ “ลงทุนศาสตร์” ซึ่งมียอดผู้ติดตามเกือบหนึ่งล้านคน อีกทั้งเขายังสวมหมวกเป็นนักเขียนนิยายใช้ทั้งชื่อจริง กิตติศักดิ์ คงคา และนามปากกา “นายพินต้า” มีผลงานออกมาไม่น้อย อาทิ เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น, ใครคืออองชองเต ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ โอปปาติกะอำพราง ติด shortlist รางวัลเซเว่นบุ๊กอวอร์ด 2564, จวบจนสิ้นแสงแดงดาว ติด longlist รางวัลซีไรต์ 2564, มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีดำ, ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงสุดท้าย เป็นต้น นอกจากนี้เขายังทำสำนักพิมพ์ของตัวเองในชื่อ 13357 Publishing และหมวกล่าสุดที่เขาสวมคือการเขียนบทละคร กับการร่วมเขียนบทในซีรีส์ แค่เพื่อนครับเพื่อน และ The Player รัก เป็น เล่น ตาย
ทำไมถึงอยากเป็นนักเขียน
ผมเริ่มอ่านหนังสือประมาณ ม.1 เป็นช่วงครอบครัวเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว พ่อแม่ต้องไปต่างจังหวัดบ่อย อยู่กับพี่ชายเฝ้าบ้านกันสองคน แล้วไม่มีอะไรทำ พอดีมีเพื่อนเอาหนังสือให้ยืมอ่านเรื่อง เพชรพระอุมา ของ “พนมเทียน” เป็นความประทับใจแรกที่ส่งผลรุนแรงมาก ผมอ่านจบ 48 เล่มตั้งแต่ ม.1 หยุดอ่านไม่ได้ ต้องอ่านต่อเรื่อยๆ จำความรู้สึกได้ว่าเราเชื่อในโลกของเพชรพระอุมามากๆ จนอยากเป็นนักเขียน อยากถ่ายทอดเรื่องราวให้ใครสักคนอ่าน และทำให้เขาเชื่อในโลกที่เราสร้าง ผมจึงพูดตลอดตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นนักเขียน ทว่าไม่ได้เริ่มสักทีเพราะเรียนต่อด้านเภสัชศาสตร์ซึ่งเรียนหนัก กว่าจะมาเขียนจริงๆ จังๆ คือช่วงเรียนจบ และทำเพจ “ลงทุนศาสตร์”
ผมสนใจด้านการเงินการลงทุนจึงทำเพจเฟซบุ๊ก ตั้งใจว่าจะเขียนบทความทุกวัน วันละเรื่อง จีดีพีคืออะไร เงินเฟ้อคืออะไร เขียนอย่างนี้อยู่ห้าปี เป็นพันๆ ชิ้น จนทักษะการเขียนของเราดีขึ้นเองโดยธรรมชาติ กลายเป็นวันที่เริ่มเขียน fiction หรือเรื่องแต่ง ผมรู้วิธีการเล่า รู้จังหวะการเล่า เพราะผ่านการฝึกจากงาน non-fiction หรือบทความซ้ำๆ ทุกวัน อย่างไรก็ตามความปรารถนาของผมคืออยากเขียนนิยาย เพราะเรามี เพชรพระอุมา กับ แฮรร์รี่ พอตเตอร์ เป็นแรงบันดาลใจ เราใฝ่ฝันอยากสร้างโลกที่คนอ่านเชื่อแล้วหลุดเข้าไป เป็นหลุมหลบภัยในวันที่ไม่โอเค อยากทำอย่างนั้นให้ได้สักวัน
นิยายเรื่องแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร
เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น เป็นนิยายวายและเป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิตของผม เริ่มต้นจากตอนนั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหนักถึงระดับเกือบฆ่าตัวตาย ได้ไปพบจิตแพทย์ คุณหมอถามมีอะไรที่ทำแล้วมีความสุขบ้าง นั่งคิดว่าอะไรนะ กินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง ก็ไม่ใช่ จนพบว่าเรามีความสุขกับการเขียน เพราะการเขียนทำให้เราไม่ต้องเป็นตัวเอง เราสวมวิญญาณเป็นคนอื่น กำลังเล่าเรื่องคนอื่น ตอนที่เขียนงานชิ้นนี้บอกตัวเองว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จจะเลิก เพราะผมทำงานหลายอย่าง มีธุรกิจส่วนตัว ทำพอร์ตการลงทุน มีเพจที่ดูแล แค่งานที่มีอยู่ก็แทบทำไม่ทันแล้ว แต่ขอลองสักครั้งทำให้เต็มที่ในชีวิต ปรากฏว่ากระแสตอบรับดีมาก มียอดการอ่านออนไลน์มากกว่า 12 ล้านครั้ง ได้ขายลิขสิทธิ์เพื่อสร้างซีรีส์ เลยสร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเอง เราทำได้ เราไปต่อ เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตนักเขียนและเส้นทางวรรณกรรมครับ
มีนักเขียนที่เป็นไอดอลหรือชื่นชอบเป็นพิเศษไหม
ผมชอบหลายคน แต่คนที่ชื่นชอบมากคือ ‘ลี้’ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท โทนการเล่าเรื่องของเขาใกล้เคียงกับที่ตัวเองชอบ และลี้ทำงานหลากหลายแนว ทั้งนิยายวาย วรรณกรรม เขาทำให้เห็นภาพว่ามีนักเขียนซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลายแนวและทำได้ดีอยู่ด้วยนะ เลยชื่นชมเขา
เลยเป็นแรงบันดาลใจให้คุณเขียนงานหลายแนวด้วยรึเปล่า
ผมไม่เคยวางแผนว่าตัวเองต้องเขียนงานหลายๆ แนวนะ คอนเซ็ปต์ของผมคือเขียนในสิ่งที่อยากเขียน คือผมมีงานประจำและเป็นนักลงทุน จึงมีรายได้เพียงพอในการเลี้ยงตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องเขียนงานเพื่อเลี้ยงชีพแบบคนที่ทำงานเขียนร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นงานเขียนของผมจึงเกิดจากความอัดอั้นข้างในจนอยากเล่าออกมา เราคนเดียวบนโลกที่รู้ ถ้าฉันไม่เล่าแล้วใครจะเล่า และพล็อตในหัวของเราเลือกวิธีการนำเสนอเอง เช่น พล็อตเกี่ยวกับเรื่องในรั้วโรงเรียนชายล้วน แนวเรื่องก็ต้องเป็นนิยายวาย พล็อตเกี่ยวกับการแต่งงาน ก็ต้องเป็นนิยายรักชายหญิง กลายเป็นว่างานมีออกมาหลากหลายแนว แต่มีแนวที่เขียนไม่ได้เลย เช่น ตลก อีโรติก เพราะเป็นคนไม่เสพ จึงไม่มีเรื่องจะเล่าแค่นั้นเอง
งานเขียนแต่ละแนวก็มีวิธีเล่าต่างกัน คุณมีปัญหาในการต้องเปลี่ยนวิธีเขียนอยู่ตลอดไหม
คนที่เขียนหลายแนวต้องเจอแน่ๆ คืองานแต่ละชิ้นมีการผสมผสานกลิ่นอายแต่ละแนวเข้าด้วยกัน มันไม่มีขนบหรือรูปแบบตายตัวในการเขียนแต่ละแนวหรอก แต่คนเขียนต้องเข้าใจว่าคนอ่านคาดหวังจะเจออะไร เขาหยิบเล่มนี้เพราะต้องการอ่านนิยายรัก ถ้าไม่มีฉากรัก มีแต่เล่าเรื่องชีวิตประจำวันไปเรื่อย เขาก็ไม่อยากอ่าน ถ้าเขาอยากอ่านเขาไปซื้อแนว slice of life อ่านแล้ว หรือนิยายรักห้ามจบเศร้า เรื่องมันเศร้าได้ แต่ต้องไปขายให้คนที่อยากอ่านดราม่า เราต้องทำความเข้าใจหนังสือแต่ละประเภท ศึกษาตลาด ตีโจทย์ให้แตก อะไรทำให้เรื่องแนวนี้สนุก-ไม่สนุก
ทุกวันนี้คุณอ่านหนังสือเยอะไหมเพื่อจะศึกษางานหลายๆ แนว
ออกตัวว่าทุกวันนี้อ่านไม่เยอะ ต้องเล่าว่าผมเขียนงานเฉลี่ยวันละ 20-30 หน้า A4 อยู่กับตัวอักษรที่ตัวเองเขียนเยอะมาก และผมใช้หลักว่านักอ่านคนแรกคือตัวเราเอง ต้องเขียนให้ตัวเองอ่านสนุกก่อน ดังนั้นตอนกลางวันผมจะเขียนหนังสือ เขียนเสร็จตรวจทานหน้าคอมฯ แล้วส่งอีเมลให้ตัวเอง เพื่อกลางคืนมานั่งอ่านผ่านโทรศัพท์มือถืออีกรอบ วันๆ หนึ่งจึงแทบไม่เหลือเวลาไปอ่านงานคนอื่นเลย ช่วงหลังอ่านหนังสือน้อยลงเยอะ แต่มีข้อยกเว้นถ้าเป็นหนังสือที่ต้องอ่านเพื่อใช้อ้างอิงหรือศึกษาข้อมูล จะกำหนดวันสำหรับอ่านเลย และเป็นการอ่านเพื่อจับประเด็น ไม่ใช่อ่านเพื่อความบันเทิง
กำหนดจำนวนหน้าที่จะเขียนในแต่ละวันด้วยเหรอ
จริงๆ งานทุกชิ้นมีเดดไลน์ เช่น กำหนดตีพิมพ์ให้ทันงานหนังสือ กำหนดส่งบท ผมแค่ทำตามเดดไลน์ปกติ แต่นิสัยส่วนตัวชอบทำงานให้เสร็จ ให้เร็ว การเขียนเหมือนหลุดเข้าไปในโลกนั้น ถ้ายังเขียนไม่เสร็จเราก็ไม่สามารถออกจากโลกนั้นได้ ปกติผมเขียนได้วันละ 20 หน้า A4 เป็นจำนวนที่ไม่เร็วหรือช้าไป ไม่เหนื่อยไม่ล้า และไม่ว่างเกินไป นิยายของผมมีจำนวนหน้าประมาณ 140 หน้า จริงๆ เขียนเจ็ดวันควรปิดต้นฉบับได้แล้ว ที่ดูเหมือนใช้เวลาเขียนเร็วเพราะผมให้ความสำคัญแก่ช่วงวางโครงเรื่องการเขียน การคิดแก่นเรื่อง ตัวละคร ฉาก ถูกคิดในหัวซ้ำๆ เป็นปี จนนาทีที่เริ่มเขียนจึงเหมือนเปิดเขื่อน ตัวอักษรพรั่งพรูออกมา
มีแนวการเขียนที่ถนัดที่สุดไหม
เรียกว่าสนุกที่สุดดีกว่า คืองานซึ่งเรียกว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ที่ส่งประกวดเวทีต่างๆ เช่น ซีไรต์ เซเว่นบุ๊กอวอร์ด สพฐ. คนอ่านงานแนวนี้เขาเปิดรับมาก พร้อมจะเจออะไรก็ได้ คนเขียนสามารถหักหลังคนอ่าน ตัวละครจะตาย หรือใจร้ายแค่ไหนก็ได้ คนอ่านไม่ก่นด่าเราทีหลัง และเราสามารถแฝงประเด็นสังคมไว้มากมาย ภาษาจะฟุ่มเฟือยหรือสั้นสุด แนวทดลองยังไงก็ได้ ผมรู้สึกเหมือนเป็นสนามเด็กเล่นของเรา แต่ข้อจำกัดคือวรรณกรรมประเภทนี้ขายยาก
เคยประสบภาวะเขียนไม่ออกหรือตันบ้างไหม
ใช้คำว่ายังไม่เจอดีกว่า เพราะผมเริ่มต้นจากลงทุนศาสตร์ก่อน สัญญากับคนอ่านว่าคุณจะได้อ่านทุกวัน ห้าปีผมลงคอนเทนต์ไม่เคยหยุด ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ไหน ร้องไห้ ซึมเศร้า เราก็เขียนทุกวันเป็นหน้าที่ ทั้งที่ไม่มีใครบังคับหรือหักเงินด้วย ผมจึงคุ้นเคยกับการทำงานทุกสภาวะอารมณ์ มีบ้างช่วงประกวดตกรอบ เสียใจ อาจหยุดพักอาทิตย์-สองอาทิตย์แล้วค่อยกลับมาเขียนใหม่ ช่วงเดือนธันวาคม 2564 ผมตรวจเจอเนื้องอกในปากขนาดเท่าลูกลำไย ไม่แน่ชัดว่าเนื้องอกนี้จะแพร่หรือไม่แพร่กระจาย เป็นสภาวะจิตใจที่แย่มาก ขณะเดียวกันก็เขียนนิยายรักโรแมนติกด้วย อย่างที่บอกไว้การเขียนพาตัวเราไปอยู่อีกโลก ในเรื่องเล่าของคนอื่น โลกนี้ดีจังตัวเอกไม่มีเนื้องอกในปาก และตอนจบจะได้รักกับพระเอกไหม เราสนใจแค่นั้น และสาเหตุที่ยังไม่เคยตันอีกอย่างคือผมทำงานสลับกัน ข้อดีของการทำหลายอย่างคือกว่าจะวนกลับมาเขียนแนวเดิมอีกก็ผ่านเวลาไปช่วงหนึ่ง เราเก็บวัตถุดิบไว้กับตัวเป็นปีจนอัดอั้น เหมือนหนังสือหุ้นที่ผมไม่ได้เขียนเป็นปี พอเขียนทีทุกอย่างก็ทะลักทลายออกมา
ผลงานเล่มไหนของคุณที่ประทับใจเป็นพิเศษ
ผมขอยกให้ จวบจนสิ้นแสงแดงดาว ซึ่งติด longlist ซีไรต์ 2564 เรื่องนี้ผมสื่อสารถึงความพร่าเลือนของประวัติศาสตร์ ตัวละครในเรื่องตาบอดไม่เคยเห็นอะไรด้วยตัวเอง มีฆ่ากันตาย มียึดอำนาจ มีคนบอกอย่างโน้นอย่างนี้ จูงเขาไปทางนั้นทีทางนี้ที สุดท้ายตัวละครเกิดความสงสัยว่าสิ่งที่บอกนั้นเกิดจริงรึเปล่า สิ่งที่เจอทั้งชีวิตคืออะไรกันแน่ ตอนที่เขียนกระโจนลงไปในเรื่องจนอินมาก เหมือนตาบอดแบบตัวละครจริงๆ ผมไม่เห็นภาพอะไรเลยทั้งหน้าตาตัวละครในเรื่อง เหตุการณ์ในเรื่อง ตอนทำปกเป็นครั้งแรกที่บรีฟคนออกแบบไม่ได้ เพราะเราไม่เห็นอะไรเลยนอกจากความมืด เรื่องนี้ใช้เวลาเขียนสิบวันเศษ ทุกอย่างอัดแน่นในหัวหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงเรื่องหรือเหตุการณ์ต่างๆ ผมทบทวนอยู่ตลอด วันที่แตะแป้นพิมพ์เล่าจึงพรั่งพรูออกมาเลย
แล้วมีผลงานที่เขียนยากหรือใช้เวลานานกว่าจะเสร็จไหม
เรื่องที่กำลังเขียนอยู่ตอนนี้ หนึ่งนับวันนิรันดร ผมเริ่มเขียนตั้งแต่ปีแรกของการเป็นนักเขียน ปัจจุบันเป็นร่างที่ 5 แล้ว เป็นหนังสือที่วิพากษ์ตั้งแต่โครงสร้างสังคม จนถึงวรรณกรรมในยุค 2500-2550 ตัวละครยังพูดถึงฟิสิกส์จักรวาล และวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้วย พอเขียนแล้วเรารู้สึกว่ายังไม่พอ ยังสนุกได้อีก จึงแก้แล้วแก้อีก แต่รอบนี้เป็นรอบสุดท้ายเพราะจะส่งประกวด ผมไม่เคยใช้เวลาทำงานเยอะขนาดนี้ เรื่องนี้ยาว 120 หน้า แต่เขียนมา 5 รอบ เท่ากับ 600 กว่าหน้าแล้ว
คุณท้าทายตัวเองยิ่งขึ้นด้วยการชิมลางเขียนบทละครด้วย เล่าถึงประสบการณ์นั้นหน่อย
ผมโชคดีที่เจอผู้กำกับที่ชักชวนคนไม่มีประสบการณ์อย่างเราไปเขียนบท เหมือนได้เข้าเรียนหลักสูตรเร่งรัด ได้เสนอความคิด ส่งการบ้าน มีคนตรวจให้ และเอาไปใช้จริงอยู่บนจอทีวี สุดท้ายมีเงินเข้ากระเป๋า ทั้งนี้ผมยังใช้หลักการเดิมคือทำงานเฉพาะที่อยากทำ ทำเพราะได้ร่วมงานกับคนที่ชอบ เราทำเพื่อศึกษาโลกใบนี้ ไม่ได้ทำเป็นงานประจำ
ความแตกต่างระหว่างการเขียนหนังสือกับเขียนบท คือการคิดคนละแบบ สำหรับหนังสือนั้นนักเขียนคือเจ้าของโลกใบนั้น จะรังสรรค์อะไรก็ได้ที่เราต้องการ เป็นการทำงานเดี่ยว แต่การเขียนบทเป็นการทำงานกลุ่ม เราไม่ใช่เจ้าของโลก เราทำงานตามความต้องการของหัวหน้าซึ่งก็คือผู้กำกับหรือผู้จัดละคร เราทำหน้าที่ปลูกบ้านที่เขาต้องการ บางครั้งอาจไม่ใช่บ้านแบบที่เราอยากอยู่ก็ได้ เมื่อเข้าใจหลักการที่ต่างกัน เราก็จะสนุกไปอีกแบบ สนุกที่ได้ถกเถียง สนุกที่ได้ทำงานกลุ่มออกมาในแบบที่ทุกคนชอบ
ปีที่ผ่านมาคุณทั้งคว้ารางวัลและเข้ารอบลึกเวทีใหญ่ คิดว่าเป็นช่วงขาขึ้นในเส้นทางวรรณกรรมแล้วรึยัง
พูดแบบไม่โกหกเลยผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นซัมวัน (someone) ในวงการนี้นะ ผมรู้สึกตลกมากถ้าถูกเรียกนักเขียนรางวัล นักเขียนดาวรุ่ง เฮ้ยเราเป็นเหรอ เพราะเราไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรเลย เราประกวดเพื่อจะได้ทำงาน มีเรื่องที่อยากเล่า อยากให้คนอ่าน ถ้ากรรมการซึ่งเป็นผู้อ่านทรงคุณวุฒิชอบงานเราและให้รางวัล สำหรับผมถือว่าได้รับการยอมรับในจุดหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้สึกเป็นซัมวันขึ้นเลย ยังเป็นคนธรรมดาที่เขียนหนังสือขายไม่ค่อยออก แต่เอ็นจอยที่จะเขียน
รางวัลสำหรับคุณมีความหมายยังไง
ผมยังหลงรักซีไรต์นะ แค่ติดลองลิสต์ก็มีความสุขตั้งแต่วันรู้ผลจนวินาทีนี้ เพราะเราอ่านซีไรต์ตั้งแต่ ม.4 ความสุขของกะทิ, ลูกอีสาน รางวัลนี้จึงมีคุณค่าต่อเรามาก แต่บอกตัวเองเสมอว่า รางวัลคือปาฏิหาริย์จากพระเจ้า ได้รางวัลก็ดีใจ ไม่ได้รางวัลเรายังได้งาน ต้องเล่าว่าก่อนหน้านี้ผมเคยมีความรู้สึกอยากได้รางวัล อยากให้ผลงานถูกดัดแปลงเป็นละคร แต่พอได้ขึ้นมาจริงๆ กลับเกิดคำถามในใจว่า แล้วยังไงต่อ ทำละครเรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สอง แล้วยังไงต่อ จนค้นพบว่าสิ่งสำคัญของการเป็นนักเขียนสำหรับผมคือการได้เขียนงานแล้วมีคนรออ่าน และเขาเชื่อในโลกที่เราเล่า มีความสุขไปกับโลกที่เราสร้าง ผมไม่ต้องการฐานคนอ่านหรือชื่อเสียงเพื่อจะเป็นนักเขียนขนาดนั้นอีกแล้ว ยิ่งตัวผมไม่มีข้อจำกัดด้านเวลาและงบประมาณ ยิ่งมีอิสระในการทำงานที่ตัวเองพอใจ
มีภาพของวงการวรรณกรรมไทยที่อยากเห็นไหม
ผมอยากให้วงการวรรณกรรมมีความแข็งแรงเชิงโครงสร้างมากกว่านี้ พูดตามตรงนักเขียนไทยมีเรื่องให้เล่าไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นนิยายรักเพราะตลาดใหญ่และขายได้ หรือไม่ก็ non-fiction เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง การเงินการลงทุน เรามีพื้นที่สำหรับงานเขียนแนวอื่นๆ น้อย สมมติวันนี้อยากเล่าแนว slice of life แบบคนญี่ปุ่นชอบเล่า หรือแนวคุณค่าการมีชีวิต ก็ต้องไปใช้พื้นที่ออนไลน์ โอเคทำได้ แต่ไม่กระจายเป็นวงกว้าง ผมจึงอยากให้วงวรรณกรรมมีพื้นที่ให้เสียงซึ่งหลากหลายกว่านี้บ้าง เพราะวรรณกรรมคือการเก็บประวัติศาสตร์ที่ต่างจากสารคดี มันคือการบันทึกผ่านมุมมองมนุษย์ต่อโลก เหมือนที่เราอ่านงานของ “ป.อินทรปาลิต” เพราะอยากรู้จักสังคมไทยสมัยนั้น หรืออ่าน สี่แผ่นดิน เพราะอยากรู้ชีวิตในวัง เราไม่เข้าใจจนกว่าจะสวมวิญญาณเป็นเขา ผมจึงอยากให้วงการวรรณกรรมไทย นักเขียนไทยแข็งแรงกว่านี้ เพื่อที่จะเก็บรักษาเรื่องเล่าต่างๆ ไว้ ไม่เช่นนั้นในอนาคตจะถ่ายทอดสังคม ณ ช่วงเวลานี้ยังไง ผมพูดแต่ตอบไม่ได้เช่นกันว่าต้องทำยังไง ต้องปรับแก้ตรงไหน เราก็แค่ทำในส่วนของเรา พิมพ์หนังสือของเราขาย ไม่ซื้อไม่เป็นไร ถ้าดีเดี๋ยวมีคนซื้อเอง แค่อยากเชียร์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น
ถ้าอยากทำความรู้จัก “นายพินต้า” และ กิตติศักดิ์ คงคา ให้มากขึ้น คุณจะแนะนำให้อ่านผลงานเล่มไหนของเขา
เล่มแรก เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น เป็นหนังสือเล่มแรกอาจไม่ค่อยดีมาก แต่เป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตให้เป็นนักเขียน เล่มนี้สะท้อนมุมมองต่อโลก ต่อความรัก ณ ช่วงเวลานั้นของผม ซึ่งไม่สามารถกลับไปเขียนเรื่องแบบนี้ได้อีกแล้ว
เล่มที่สอง จวบจนสิ้นแสงแดงดาว ทุกครั้งที่เขียน ที่อ่าน ที่แก้ ผมร้องไห้กับต้นฉบับเสมอ เล่มนี้คือความรู้สึกอัดอั้นข้างในตัวเรา ตัวละครคือเรา ถ้าอยากอ่านนายพินต้าต้อง เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น แต่ถ้าจะอ่าน กิตติศักดิ์ คงคา ก็ต้อง จวบจนสิ้นแสงแดงดาว
เล่มที่สามผลงานในนาม “ลงทุนศาสตร์” Stock Lecture ลงทุนหุ้นได้ในเล่มเดียว ผมเขียนเกี่ยวกับหุ้นเยอะมาก แต่นี่คือหนังสือหุ้นเล่มแรกในชีวิต เล่มนี้เปลี่ยนมายด์เซ็ตผมเลย เล่มนี้เล่มเดียวทำกำไรดีกว่าที่เขียนมาตลอดสามปีรวมกัน จากที่เคยอยากเป็นนักเขียนแล้วมีคนรออ่าน ก็มีแล้ว อยากมียอดขายดีๆ ก็มีแล้ว เล่มนี้ทำให้ผมหลุดพ้นจากคำว่ารางวัล คำว่าขายลิขสิทธิ์ไปทำละคร หลุดพ้นจากทุกอย่าง เราไม่ต้องเฆี่ยนตีตัวเองเพื่อให้ประสบความสำเร็จอีกต่อไป เหมือนจู่ๆ ก็มีคนยื่นถ้วยรางวัลมาให้แล้วบอกว่าคุณเป็นนักเขียนอย่างที่ใฝ่ฝันแล้วนะ จู่ๆ เราก็ค้นพบว่าสมบัติที่ตามหาไม่ได้อยู่ยอดเขาเลย อยู่แถวๆ นี้ เดินๆ ก็สะดุดเจอ
3 เล่มในดวงใจของ กิตติศักดิ์ คงคา
- ข้างหลังภาพ เขียนโดย “ศรีบูรพา”
ผมชอบเนื้อเรื่องที่ตัวละครรักกันมาก แต่โลกใบนี้ไม่ให้รักกัน แล้วตัวละครต้องตัดสินใจเลิกรากันไปเอง ข้างหลังภาพ สอนให้ผมรู้ว่าเรามีความรักโดยไม่ต้องมีคนรักได้ หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อมุมมองความรักของผม รวมถึงงานเขียนของตัวเอง
- ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เขียนโดย วีรพร นิติประภา
ตั้งแต่เกิดมาความเข้าใจของเราคือวรรณกรรมต้องเขียนถูกหลักภาษาไทย แต่เล่มนี้ไม่ถูกจำกัดด้วยอะไรเลย สอนให้เราเข้าใจว่างานเขียนคือศิลปะ คุณไม่สามารถเอาหลักอะไรมาตีกรอบศิลปะ แค่เล่าเรื่องแล้วสื่อถึงคนอ่านได้ก็จบ ผมจึงกล้าลองทำอะไรใหม่ๆ
- สิงโตนอกคอก เขียนโดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
ผมไม่เคยเข้าใจพลังของเรื่องสั้นเลย ส่งประกวดปีแรกตกรอบรวดทุกเวที จนสำนึกได้ว่าควรหาเรื่องสั้นดีๆ มาอ่าน พอเปิดอ่าน “จะขอรับผิดทั้งหมดไว้แต่เพียงผู้เดียว” แล้วขนลุก ทรงพลังมาก เป็นงานที่อ่านซ้ำบ่อยเพราะได้เติมเต็มอะไรบางอย่าง
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม