สมัยเป็นเด็ก ผมใช้ชีวิตในห้องสมุดประชาชนเสมือนหนึ่งเป็นบ้านหลังที่สอง ผมไปห้องสมุดทุกวันที่มันเปิด ห้องสมุดอนุญาตให้ยืมหนังสือกลับบ้านได้วันละสองเล่ม ผมรู้สึกว่าน้อยไป บ่อยครั้งจึงอ่านเล่มที่ 3 4 5… ในห้องสมุด นอกเหนือจากสองเล่มที่ยืมกลับบ้าน
วันหนึ่งขณะนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด วัยรุ่นแปลกหน้าคนหนึ่งเดินเข้ามาหา ถามผมว่า “เวลาอ่านหนังสือ อ่านคำนำหรือเปล่า?”
ผมตอบว่า “เปล่า” เพราะไม่เคยอ่านคำนำ
วัยรุ่นแปลกหน้าก็นั่งลงสอนวิธีอ่านหนังสือให้ถูกวิธี ชี้ให้เห็นความสำคัญของการอ่านคำนำ การอ่านคำนำทำให้เราเข้าใจว่ามันเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร การอ่านสารบัญก็ทำให้เรารู้ขอบเขตเนื้อหาของหนังสือเล่มนั้น คนเขียนต้องการเสนออะไร ฯลฯ
ผมเป็นเด็กขี้อาย ไม่เคยชินกับการสนทนากับคนแปลกหน้า ก็อือๆ ออๆ แล้วรีบกลับบ้าน
บ่ายนั้นวัยรุ่นแปลกหน้าคนเดิมก็ตามมาหาผมถึงบ้าน เชื่อว่าเขาได้ที่อยู่ผมมาจากบรรณารักษ์ เขาบอกว่าบทเรียนที่ห้องสมุดยังไม่จบ ก็ตามมาสอนต่ออีกรอบหนึ่ง!
เป็นครั้งแรกที่มีครูมาสอนถึงบ้านโดยไม่ได้รับเชิญ
เป็นครั้งแรกที่แลเห็นความเมตตาและความปรารถนาดีของคนแปลกหน้าคนหนึ่ง
คนบางประเภทมีความเมตตาสูง และหวังดีต่อคนแปลกหน้า อยากให้คนอื่นพัฒนาตนเองดีขึ้น
ผมยังเคยผ่านประสบการณ์คนแปลกหน้าช่วยเหลืออีกหลายครั้ง เช่น ครั้งหนึ่งฝนตกหนัก คนแปลกหน้ากางร่มไปส่ง เคยถามทางจากคนแปลกหน้า แล้วเขาก็นำทางเราไปถึงที่หมาย
ครั้งหนึ่งผมว่ายในสระน้ำสาธารณะแห่งหนึ่ง ผมไม่เคยชอบว่ายน้ำ แต่จำเป็นต้องออกกำลังกาย ก็ว่ายไปแค่ให้รู้ว่าไปว่ายน้ำมาแล้ว
ชายแปลกหน้าคนหนึ่งเห็นวิธีว่ายน้ำของผมแล้ว ก็มาหา แล้วสอนผมวิธีว่ายน้ำที่ถูกต้องให้
แม้สอนอยู่นาน และไม่ค่อยเข้าหัวคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายเท่าไร แต่ก็แลเห็นว่าเขาเป็นคนมีเมตตา
แม่เพื่อนสนิทผมเป็นโรคอัลไซเมอร์ ครั้งหนึ่งนางไปงานเลี้ยงและคุยกับคนแปลกหน้าที่ร่วมโต๊ะ นางเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ กันหลายครั้ง เนื่องจากจำไม่ได้ว่าเล่าแล้ว คนแปลกหน้าฟังดูแล้ว พอคาดว่านางเป็นอัลไซเมอร์ ก็นั่งฟังนางเล่าอย่างตั้งใจ เหมือนฟังเป็นครั้งแรก ไม่เอ่ยท้วงว่า เคยฟังแล้ว
โลกมีตัวอย่างของคนแปลกหน้าที่ดีมากมาย
และโชคดีที่มันเป็นเรื่องจริง
เราอาจได้รับการสั่งสอนจากผู้ใหญ่ว่าให้ระวังคนแปลกหน้า อาจจะคิดร้ายกับเรา แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัว เพราะคนแปลกหน้าที่ดีก็มี คนใกล้ตัวที่แย่ๆ ก็มีมาก
สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรสอนก็คือการรู้จักวิเคราะห์ประเมินว่า คนแปลกหน้าคนหนึ่งหวังดีหรือร้าย
บ้านเราสมัยก่อนมีธรรมเนียมการวางตุ่มน้ำและตะบวยที่หน้าบ้าน สำหรับคนแปลกหน้าเดินผ่านไปมาสามารถดื่ม นี่ก็เป็นธรรมเนียมที่สะท้อนว่าคนเราไม่ได้แบ่งกันที่คนแปลกหน้ากับคนไม่แปลกหน้า
แต่แบ่งที่คนมีน้ำใจกับคนไม่มีน้ำใจ
…………
บางครั้งคนแปลกหน้าที่มีน้ำใจก็ต้องหงายหลัง ชายคนหนึ่งขับรถผ่านสี่แยก แลเห็นชายชราคนหนึ่งยืนอยู่ริมถนน หันรีหันขวาง เหมือนคนป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่หลงทาง เขาจึงจอดรถ จูงคนแก่ไปขึ้นรถ แล้วบอกคนแก่ว่า จะขับไปส่งที่บ้าน
เขาขับรถออกไปขณะถามคนแก่ว่า “บ้านตาอยู่ตรงไหนก็ชี้ด้วย”
คนแก่มีสีหน้าตกใจ ชี้มือไปข้างหน้า ทำท่าจะพูด แต่พูดไม่ออก คนขับยิ่งเชื่อว่าชายชราเป็นคนป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่หลงทาง ก็ขับรถต่อไป บอกคนแก่ว่า “ใจเย็นๆ ลองนึกดูว่าบ้านตาสีอะไร อยู่ตรงไหน”
คนแก่บอกว่า “บ้านกูก็อยู่ตรงจุดที่กูยืนอยู่เมื่อกี้นั่นแหละ กูกำลังรอใส่บาตรพระ มึงก็เสือกลากกูมา ไอ้เปรต…”
โชคดีที่มันไม่ใช่เรื่องจริง มันเป็นแค่เรื่องขำขัน
วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/
คอลัมน์ ลมหายใจ