โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก: ฆ่าทั้งรัก ฆ่าเพราะแค้น

-

โครงกระดูกแม่มด สุขฆาตกรรมแห่งความรัก: ฆ่าทั้งรัก ฆ่าเพราะแค้น

 

          “เจน จิ” ผู้เขียนนิยายเรื่อง โครงกระดูกแม่มด  สุขฆาตกรรมแห่งความรัก  เป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือจัดเจนทั้งๆ ที่เขียนหนังสือมาไม่กี่เล่ม ผู้เขียนเป็นผู้หญิง เขียนเรื่องผู้หญิง ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการวิพากษ์บุรุษแบบสตรีนิยมเสรีอยู่ด้วย  แกนเรื่องที่สอดร้อยตัวละครผู้หญิงทั้งหลายในเรื่องเข้าด้วยกันอย่างมีเอกภาพ คือ ความชั่วร้ายของผู้ชาย ทั้งนอกใจ เอาเปรียบ ปอกลอก ทำร้ายร่างกายและจิตใจ  อันเป็นโทษสมบัติของมนุษย์เพศชายตั้งแต่ดึกดำบรรพ์  ดังที่ “เจน จิ”  ได้ยกวรรณคดีไทยโบราณมาวิพากษ์พฤติกรรมของตัวละครชายเทียบเคียงไปกับพฤติกรรมของตัวละครในนวนิยายของเธอ อันนับว่าเป็นจุดเด่นของกลวิธีนำเสนอและเผยความเป็นนักอักษรศาสตร์ของผู้แต่งที่อ่านวรรณคดีมามากและอ่านอย่างคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามพร้อมทั้งแสดงความเห็นแย้ง   จากแกนเรื่องนี้  ผู้หญิงทุกคนในนวนิยายเรื่องโครงกระดูกแม่มด  สุขฆาตกรรมแห่งความรัก จึงต้องการ “ฆ่า” ผู้ชายที่สร้างความทุกข์แก่พวกเธอ ฆ่าทั้งรัก ฆ่าเพราะแค้น

นวนิยายเรื่องนี้เขียนในแนวลูกผสม ปนกันทั้งแฟนตาซี (fantasy) ทั้งเรื่องลึกลับและอาชญากรรม  (mystery & crime)  ทั้งนวนิยายชีวิต และมีกลิ่นอายของตะวันออกผสมตะวันตก แล้วยังใช้เทคนิคเล่าเรื่องซ้อนเรื่องเล่าอีกในบางตอน  ส่วนเนื้อหาก็เป็นลูกผสมอย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำว่า นอกจากเรื่องฆาตกรรมแล้ว ยังมีเรื่องความรักแสนหวาน คุณค่าของการอ่าน บรรยากาศอบอุ่นของร้านหนังสือ  แรงบันดาลใจจากบทกวี  วรรณคดีและนวนิยายรุ่นคลาสสิค ฯลฯ  ด้วยเหตุนี้นวนิยายเรื่อง โครงกระดูกแม่มด  สุขฆาตกรรมแห่งความรัก  จึงเปิดเรื่องที่ร้านหนังสือชื่อ โครงกระดูกแม่มด  เจ้าของร้านเป็นหญิงวัย 60 ใบหน้าเรียวเล็กคางแหลมจมูกงองุ้ม  ผมสีเงินยวง  สวมชุดดำ  ทาปากแดง  เป็นภาพแม่มดในนิยายฝรั่งชัดๆ  แม่มดในนิทานมีเวทมนตร์ ส่วนแม่มดในนวนิยายเรื่องนี้มีปัญญาที่ได้มาจากการอ่านมาก ตีความแตก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือพูดให้ทันสมัยต้องบอกว่าเธอเป็นอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ที่สามารถชี้แนะทางออกให้แก่คนที่ตกในห้วงทุกข์  แถมในร้านของเธอยังมีโครงกระดูกนั่งอ่านหนังสือ หญิงชราแนะนำว่าโครงกระดูกนั้น คือ ศัลยา ใครอ่านนวนิยายของดอกไม้สด นักเขียนรุ่นบุกเบิกของไทยจะเข้าใจได้ดีว่า เธอคือศัลยา  ตัวละครผู้สิ้นชีวิตเพราะพลาดรักจากนวนิยายเรื่อง นี่แหละโลก  โครงกระดูกศัลยาจึงเป็นจุดเล็กๆ อีกจุดหนึ่งที่ประกอบเรื่องให้มีเอกภาพ แกมประชดว่าคนที่ยังอ่านหนังสืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีและงานคลาสสิค  ก็คงมีแต่พวกที่ตายไปแล้ว  เพราะคนสมัยใหม่เขาเสพความบันเทิงและข้อมูลความรู้จากแหล่งอื่น

ทำยังไงจะฆ่าคนได้”  เป็นประโยคเปิดเรื่องที่ “ปัง” ชวนให้ติดตาม  ประโยคคำถามจากความคับแค้นใจถึงที่สุดนี้หลุดจากปากของ นัน สาวผมแดงต่อหญิงชราเจ้าของร้านหนังสือที่ตอบเธอว่า  “อ่านหนังสือ”  แล้วเชื้อเชิญให้เธอเข้าไปในร้าน  นันจึงทำงานในร้านหนังสือของแม่มดผมสีเงินเพื่อหา “หนังสือของเธอ” ให้พบ  หลังจากนั้นก็มีหญิงสาวอีกหลายรายที่โดนพิษของความรักทำร้ายจนบอบช้ำก้าวเข้ามาในร้านหนังสือ ทุกคนได้เลือกหาหนังสือไปอ่านหรือฟังเรื่องราวในหนังสือจากคำบอกเล่าของแม่มด  จากนั้นแต่ละคนก็ได้ “แนวคิด”  และพบแนวทางในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง  อย่างเช่น  ลำเภา  ผู้ถูกสามีบังคับให้อุ้มลูกเร่ขายยาเสพติด และยังทำอุบาทว์ข่มขืนลูกสาววัยสองขวบ  อันเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ลำเภาหมดความอดทน และเลิกกลัวอำนาจของสามี  เธอจึงฆ่าเขาและทำลายศพอย่างแนบเนียน ตามที่แม่มดบอกว่า “การฆ่าคนไม่ให้ถูกจับ  ประเด็นหลักคือทำลายหลักฐาน”   ฟาง  ผู้หญิงที่ถูกสามีปอกลอกและนอกใจจนสติแตก  แต่ด้วยแรงบันดาลใจจากหนังสือที่แม่มดเลือกให้ เธอพบวิธีจัดการกับสามีตัวร้ายโดยทำให้เขาตายทั้งเป็น  ดังที่แม่มดบอกว่า “ไม่ฆ่าก็ตายได้  มันขึ้นอยู่กับเทคนิค”  จินตะหรา ฆ่าตัวตายหลังสามีบอกเลิกราแล้วไปอยู่กับผู้หญิงคนใหม่  แต่ร่างที่หล่นจากชั้นสามกลับตกลงบนตัวของสามีพอดิบพอดีราวกับคำนวณไว้  เขาตาย แต่เธอรอด  ความบังเอิญนี้ทิ้งปริศนาให้ครุ่นคิดว่าเป็นฆาตกรรมโดยเจตนาหรือไม่เจตนา  บุษบรรณ กำลังจะเลื่อนตำแหน่งจากเมียน้อยเป็นเมียหลวง เพราะหลังจากมนตรีมีลูกกับเธอ เขาก็บอกเลิกกับจินตะหรา แต่เมื่อมนตรีตาย บุษบรรณก็สูญสิ้นทุกอย่าง เรื่องของบุษบรรณเปิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับเมียหลวงเมียน้อย ผ่านความคิดเห็นของแม่มด  นัน  และบุษบรรณ  ผู้แต่งชี้ให้เราเห็นว่านางเอกในวรรณคดีไทยเรื่องสำคัญๆ มีสถานะเหมือน “เมียน้อย”  เพราะเป็นผู้มาทีหลัง  แต่นางเอกเหล่านั้นก็ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ กันกว่าชีวิตรักจะเป็นสุข  จารีตค่านิยมของสังคมทำให้  “เมียน้อย”  กลายเป็นนางร้าย  ทีมเชียร์เมียน้อยกับทีมเข้าข้างเมียหลวงจึงปะทะกันไม่รู้จบ  ทั้งๆ ที่ตัวการสำคัญคือสามี

ฆาตกรรมสามีเรื่องเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องราวของผู้หญิงสี่คน  ในฉายา  ยักษ์ เงือก ราชินี และเจ้าหญิง  บอกเล่าโดยนายตำรวจที่สืบคดีฆาตกรรม  ซึ่งภรรยาสี่คนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าคนใดคนหนึ่งอาจจะสังหารสามีจอมเจ้าชู้  ตำรวจไม่พบแรงจูงใจและวิธีการฆ่า  แต่สงสัยว่าแม่มดมีส่วนเกี่ยวข้อง  เพราะผู้หญิงทั้งสี่คนมาที่ร้านหนังสือโครงกระดูกแม่มดเป็นประจำและทุกคนมีหนังสือวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีอยู่ในมือ  สุดท้าย แม่มดเป็นผู้เฉลย “แรงจูงใจ” ที่เป็นต้นเหตุของการคบคิดกันก่อฆาตกรรม  ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่าพวกเธอเหล่านั้นล้วนเป็นผู้ถูกกระทำ จึงต้องฆ่าทั้งรัก

ตัวละครผู้หญิงทั้งหลายในนวนิยายทั้งที่มีชื่อและไม่มีชื่อ บ่งชี้ว่ามีที่มาจากตัวละครในวรรณคดีมรดกที่รู้จักกันเป็นอย่างดี  แสดงให้เห็นความจงใจของผู้เขียนที่จะเชื่อมต่อวรรณคดีโบราณกับโลกปัจจุบัน  และให้เห็นว่าปัจจุบันคือภาพสะท้อนของอดีต  และเป็นภาพเสนอของอนาคต

ถ้าไม่มีเรื่องฆาตกรรมสามีของแม่มดผมสีเงินและนันสาวผมแดง ตัวละครอีกสองตัวในเรื่อง นวนิยายเรื่องนี้ก็ไม่สามารถจบบริบูรณ์ลงได้

แท้ที่จริงแม่มดคือคุณหญิงผู้เป็นเมียหลวงของท่านนายพลที่หลงเมียน้อยวัยกระเตาะ (อ่านแล้วนึกถึงเรื่องจริงที่เป็นข่าวกระฉ่อนเมือง)  เธอกดดันเขาทุกวิถีทางทั้งอายัดทรัพย์สิน  ทั้งใช้สื่อสังคมออนไลน์เรียกความเห็นใจจากทีมเมียหลวง  เขาจึงต้องฆ่าเธอเท่านั้นจึงจะได้ทุกอย่างที่ปรารถนา  เธอหนีไปซ่อนตัว  แต่ในที่สุดเขาก็ตามเธอจนพบและฆ่าตายอย่างอุกอาจโหดเหี้ยม  ทว่านั่นเป็นแผนการที่แม่มดวางไว้  เพื่อยืนยันอำนาจแม่มดของเธอว่าเธอเลือกที่จะตายเอง  และไม่เลิกล้มการแก้แค้น  หลังจากนั้นไม่นานท่านนายพลก็สิ้นชีวิตโดยไม่มีผู้ใดทราบสาเหตุ ยกเว้นคุณหญิงแม่มดที่เขียนเล่าแผนการว่าเธอฆ่าสามีให้ตายช้าๆ ด้วยยาพิษ โดยยืมมือเมียน้อยและแม่บ้านที่เห็นแก่เงิน

ส่วนนันสาวผมแดงที่ยอมทำแท้งตามความต้องการของสามี แต่เขากลับนอกใจและขับไล่เธอออกจากบ้าน  เธอจึงหาวิธีแก้แค้นสามีและเพื่อนสนิท  และตอบแทนอย่างสาสมด้วยมีดและยาพิษ  เธอได้แรงบันดาลใจจากวิธีฆ่าตัวตายของโรเมโอและจูเลียต  ตัวละครเอกในวรรณคดีคลาสสิคของโลก เพียงแต่นันไม่ยอมเป็นจูเลียต หญิงสาวผู้บูชาความรักอีกต่อไป

ตัวละครหญิงในนวนิยายเรื่องโครงกระดูกแม่มด  สุขฆาตกรรมแห่งความรัก  ประสบปัญหาอย่างเดียวกันคือสามีนอกใจ  อันเป็นปัญหาอมตะของชีวิตครอบครัว  ซึ่งสะท้อนอยู่ในวรรณคดีโบราณมาจนถึงวรรณกรรมร่วมสมัย ภาพเสนอนี้ก็ยังตอกย้ำซ้ำเดิมจนกลายเป็นภาพลักษณ์ที่แสดงอำนาจของผู้ชาย  และความอ่อนแอของผู้หญิงที่วางใจว่าความรักจะร้อยรัดหัวใจของคนที่เธอรักไว้ได้ตลอดกาล  แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังข้อความกินใจตอนหนึ่งที่ “เจน จิ” กล่าวว่า

 

เมื่อตกหลุมรัก  เธอปล่อยมือจากสิ่งที่ยึดอยู่  และปล่อยให้ตัวร่วงหล่น…สู่อ้อมแขน

ของใครสักคน  และเชื่อว่าเขาจะกอดเธอไว้  ไม่ใช่แค่เพียงชั่วขณะ  แต่ตลอดไป  เธอกล้าเสี่ยง

ที่จะตกสู่พื้นแม้ว่าร่างจะแหลกเหลว  เธอร่วงหล่นและร่วงหล่น…แล้วเธอก็แหลกเหลว  ไม่มี

ใครอยู่ที่นั่น (คำโปรย)

 

ผู้หญิงต้องบอบช้ำเพราะผู้ชายหมดรัก ถึงกระนั้นพวกเธอก็อดทนด้วยข้ออ้างนานัปการ  การลุกขึ้นปฏิวัติตัวเองอาจจะเป็นเพียงหนทางเดียวที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้ ฆาตกรรมสามีในนวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการแก้แค้นที่ผู้หญิงทำไปเพื่อตอบโต้อำนาจของผู้ชาย  และเปลี่ยนความกลัวในหัวใจของเธอให้กลายเป็นความกล้า กล้าสู้   กล้าตอบโต้  กล้ายืนหยัด  กล้าเป็นผู้กระทำ  ก็เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์


คอลัมน์: เชิญมาวิจารณ์

เรื่อง: ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!