เข็มซ่อนปลาย แผลใจของผู้หญิง

-

นวนิยายเรื่องเข็มซ่อนปลาย ของ “กฤษณา อโศกสิน” เขียนขึ้นในราว พ.ศ.2530 ลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในสตรีสาร ซึ่งเป็นนิตยสารสตรีที่ล้ำสมัยในยุคนั้น มีนวนิยายว่าด้วยชีวิตครอบครัวที่มีเนื้อหาทันสมัย สะท้อนสังคม และเกี่ยวกับผู้หญิงยุคใหม่หลายเรื่องได้ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับนี้

หลังจากนั้น เข็มซ่อนปลายก็ได้รับการรวมเล่มและจัดพิมพ์หลายครั้ง โดยหลายสำนักพิมพ์ และถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ใน พ.ศ.2538 ผ่านมาจนถึงปีนี้ เข็มซ่อนปลายได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้งหนึ่งทางสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 แต่เท่าที่ติดตามข่าวละครมา เห็นได้ว่ามีการปรับเนื้อหาไปมากพอสมควร

 

 

นวนิยายของ “กฤษณา อโศกสิน” ที่นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ในระยะหลังมักถูกเปลี่ยนเนื้อหา และรายละเอียดของเรื่องราวกับตัวละคร อาจเป็นเพราะว่านวนิยายของ “กฤษณา อโศกสิน” ที่นิยมนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ มักเป็นนวนิยายที่เขียนขึ้นในอดีต หลายเรื่องย้อนไปถึงห้าทศวรรษ เช่นเรื่องตะวันตกดิน เรือมนุษย์ ฯลฯ สภาพสังคมในนวนิยายกับในปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ถึงกระนั้นนวนิยายของกฤษณาก็ยัง “ทันสมัย” อยู่ตลอดเวลา  ทั้งนี้เป็นเพราะแม้รายละเอียดของเรื่องจะถูกบิดไปจากเดิมมากเพียงใด แต่สิ่งที่คงไว้ในนิยายและละครที่สร้างจากนิยายของกฤษณาก็คือ “ปม” ในใจร และกิเลสตัณหาของตัวละครที่เป็นจุดนำพาเรื่องราวจากต้นไปจนจบเรื่อง

กล่าวได้ว่า นวนิยายของกฤษณาได้เปิดเปลือยอารมณ์และสันดานดิบของมนุษย์มาตีแผ่ในบริบทที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง อารมณ์และสันดานดิบนี้คือการฉายภาพมนุษย์ในสังคม ซึ่งแม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร มนุษย์ก็ไม่เคยเปลี่ยน ยังคงเป็นสัตว์ที่มีรายละเอียดซับซ้อน ถูกหล่อหลอมด้วยกิเลส อยากได้ใคร่มีไม่จบไม่สิ้น จุดเด่นในนวนิยายของกฤษณาคือตัวละครที่จำลองภาพของมนุษย์ในสังคม และแกนเรื่องที่ตีแผ่ความเป็นมนุษย์ออกมาสู่ผู้อ่าน  ดังนั้นจึงอย่าคาดหวังว่าบทละครโทรทัศน์จะเดินเรื่องเหมือนนวนิยาย แต่หวังว่าจะรักษาเนื้อแท้ของตัวละครและแก่นเรื่องให้คงอยู่ก็พอ

                เข็มซ่อนปลาย นับเป็นนวนิยายแนวชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นแนวถนัดของ “กฤษณา อโศกสิน” น่าสังเกตว่าในทศวรรษ 2530 กฤษณาเขียนนวนิยายแนว “ผู้หญิงแรงๆ” จำนวนหลายเรื่อง เสนอให้ผู้หญิงแสดงออกในด้านสิทธิทางเพศของตน แน่นอนว่ารวมถึงการไม่ยอมจำนนอยู่กับการมีสามีเพียงคนเดียวอีกต่อไป ผู้หญิงในนวนิยายหลายเรื่องใช้เรือนร่างต่อรองกับผู้ชายและสังคม เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ถึงกระนั้นกฤษณาก็ยังเชื่อว่า กำแพงที่ผู้หญิงมิอาจฝ่าข้ามได้ก็คือ อารมณ์สะเทือนไหวต่อความรัก หลายเรื่องตัวละครยอมทนเจ็บปวดเพียงเพื่อต้องการรักษาความรักและสถานภาพทางสังคมของตนไว้ แต่ในที่สุดตัวละครก็ต้องพยายามเอาชนะใจตนเอง เพื่อเป็นอิสระต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเองให้ได้

                เข็มซ่อนปลายเป็นเรื่องราวของเยาวยอด เฉิด ลานนา และบุเรศ ตัวละคร 4 ตัวที่เกี่ยวพันกัน จนกลายเป็นปมยุ่งเหยิง นำพาไปเกี่ยวโยงกับตัวละครอื่นๆ อีกหลายตัว ผูกร้อยเป็นเรื่องราวซับซ้อนน่าติดตาม เนื้อเรื่องกล่าวถึงลานนากับเยาวยอดแต่งงานกัน ด้วยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย ลานนาเป็นเด็กหนุ่มทะเยอทะยาน ทำทุกอย่างตามคำสั่งแม่  เขาคิดตลอดเวลาว่าชีวิตไม่มีอิสระ แต่ “ความพร่อง” ในหลายด้านผลักดันให้เขาอยากประสบความสำเร็จในทุกด้าน รวมถึงการแต่งงานกับเยาวยอด ทั้งที่เขายังมีเฉิดอยู่เต็มหัวใจ ลานนาได้รู้จักเฉิดและมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งตั้งแต่อยู่เมืองนอก ทั้งที่รู้ว่าเฉิดมีสามีอยู่แล้ว  เรืองบุญ สามีของเฉิดยอมปล่อยให้เฉิดเป็นอิสระก็เมื่อลานนาแต่งงานอย่างใหญ่โตกับเยาวยอดแล้ว แน่นอนว่าเฉิดเจ็บปวดอย่างยิ่ง เพราะผู้ชายที่เธอรักมีพันธะกับผู้หญิงที่มีหน้ามีตา ฐานะดี และมีชื่อเสียงในสังคม  และเธอต้องการให้เขากลับมา แต่เธอก็ไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นชู้กับสามีของคนอื่น

ชีวิตคู่ของเยาวยอดกับลานนาไม่ราบรื่น เพราะเธอจับได้ว่าสามีซ่อนผู้หญิงคนอื่นไว้ในใจ สงครามความรักระหว่างเยาวยอด เมียถูกต้องตามกฎหมายกับเฉิดหญิงผู้ครองใจคนรักจึงเกิดขึ้น แม้เยาวยอดจะไม่ได้รักลานนา แต่เธอก็ไม่อยากสูญเสียและไม่อยากเป็นข่าวในสังคม ส่วนลานนาก็ไม่อาจหย่าขาดกับเยาวยอดได้ เพราะติดขัดที่มารดาของเขา “กฤษณา อโศกสิน” สร้างปมในใจให้กลายเป็นแผล ดุจมีเข็มซ่อนปลายอยู่ในใจ วันดีคืนดีเข็มซ่อนปลายก็ทิ่มแทงหัวใจให้เจ็บปวด ความสนุกยิ่งทวีขึ้นเมื่อเฉิดได้พบกับบุเรศ ชายหนุ่มผู้แสนอบอุ่นและพร้อมจะคอยปลอบประโลมหญิงสาว  ทว่าเธอก็กลับเป็นทาสความรักที่ปักใจอยู่กับลานนา ส่วนเยาวยอดคบหากับฉันท์ หนุ่มหล่อวัยอ่อนกว่า และที่ทำให้เฉิดเจ็บยิ่งกว่านั้นก็คือ ฉันท์เป็นน้องชายของเธอ

                ปมซึ่ง “กฤษณา อโศกสิน” สร้างให้แก่แต่ละตัวละคร เท่ากับตัวละครเด่นๆ ทุกตัวต่างก็มีเข็มซ่อนปลายไว้ หากขาดสติหรืออ่อนแอเมื่อไร  เข็มนั้นก็ทิ่มหัวใจให้เจ็บ ในทศวรรษ 2530 การแย่งผัวคนอื่น การถูกตราหน้าว่าเป็นเมียน้อย และการผิดศีลธรรมเพราะรักผู้ชายของคนอื่น เป็นเสมือนตราบาปที่สังคมประทับบนตัวผู้หญิง ทว่าในทศวรรษ 2560 สังคมเปลี่ยนไปมาก จึงน่าสนใจว่าผู้สร้างละครโทรทัศน์ จะทำให้ตราบาปนี้กลายเป็นสิ่งสามัญ และการแย่งผู้ชายเพื่อให้ตนเองเป็นผู้ชนะในเกมนี้ จะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “กฤษณา อโศกสิน” สะท้อนให้เห็นในนวนิยายเรื่องเข็มซ่อนปลายก็คือ ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอต่ออารมณ์ความรู้สึกของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรัก จึงต้องยอมเจ็บเพราะเข็มในใจทิ่มแทงตลอดเวลา ในขณะที่ผู้ชายกลับลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และผู้หญิงตกเป็นเหยื่อในเกมความรักความใคร่ของผู้ชาย

                ผู้ชายจึงเป็นเพศที่มีอำนาจเหนือผู้หญิง ส่วนผู้หญิงที่ทำตัวว่ามีพลังอำนาจในการยื้อยุดให้ผู้ชายอยู่กับตน เป็นของตน รักตน ก็ห้ำหั่นกันเพื่อยอมสยบแก่ผู้ชายที่ตนรัก โดยหมายมั่นว่านั่นคือเดิมพันสูงสุดในชีวิต หารู้ไม่ว่านั่นคือบ่วงที่รัดตนเองให้จ่อมจมในความทุกข์ยิ่งขึ้น กว่าเยาวยอดจะรู้ว่าเงื่อนไขเดียวที่ทำให้ตนมีความสุขได้ ก็คือ การก้าวออกจากบ่วงความขัดแย้ง ถอนเข็มออกจากหัวใจ เพื่อเป็นอิสระ ไม่มีความผูกพัน รอให้เวลารักษาแผลใจเพื่อความสุขที่แท้จริง

แม้เข็มซ่อนปลายจะดูเหมือนเป็นนวนิยายที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักและชีวิตครอบครัว แต่ทว่าก็มีความโดดเด่นน่าสนใจ สะท้อนภาพสังคมไทยที่ยังยึดมั่นในระบอบปิตาธิปไตย ผู้ชายเป็นสิ่งล้ำค่าที่ต้องแย่งชิง และต้องรักษาไว้เพื่อธำรงสถานภาพของความเป็นครอบครัวตามอุดมการณ์ของสังคม

                เชื่อเถอะว่า แม้ละครจะปรับเนื้อหาใหม่อย่างไร เรื่องของชายเป็นใหญ่ก็ยังคงเป็นแกนเรื่องสำคัญของเข็มซ่อนปลายอยู่ดี


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง

เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ

ภาพ: www.facebook.com/Ch7HDDramaSociety

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!