‘เก่ง’ หฤษฎ์ บัวย้อย แจ้งเกิดจากการรับบท ‘จิ่งนะ’ ในภาพยนตร์ชื่อดังสะท้อนความสำคัญของสมรสเท่าเทียมเรื่องวิมานหนาม ในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ที่ต้องแสดงให้สมบทบาทร่วมกับเหล่าดารามากประสบการณ์ เขาทำผลงานได้โดดเด่นจนเป็นที่จับตามอง นอกจากนั้นยังมีซีรีส์วาย เขมจิราต้องรอด ประกบคู่กับ ‘น้ำปิง’ นภัสกร ปิงเมือง ถึงจะยังอยู่ระหว่างถ่ายทำ แต่แฟนๆ ก็รอติดตามชมอย่างใจจดใจจ่อแล้ว แม้เส้นทางในวงการบันเทิงของเขาตอนนี้จะสดใส ทว่ากว่าจะได้รับโอกาสทองเช่นนี้ เก่งผ่านบททดสอบชีวิต สัมผัสความสมหวัง-ผิดหวัง จนเขาเกือบจะถอดใจจากวงการบันเทิง เบนเข็มสู่การเป็นครูตามวิชาชีพที่ร่ำเรียนมา แต่ในที่สุดจังหวะชีวิตก็ลิขิตฝันของเขาให้เป็นจริง
ชีวิตวัยเด็ก
“ผมเป็นคนกินง่าย นอนง่าย ใช้ชีวิตง่ายๆ สมมติออกกองถ่าย อากาศจะร้อนหรือเย็นก็อยู่ได้หมด ผมไม่อยากสร้างความลำบากให้คนอื่น อยากให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกชิลล์
“เก่งเกิดและอาศัยที่จังหวัดพะเยาจนเรียนจบมหา’ลัย ใช้ชีวิตเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไป อยู่กับธรรมชาติ พื้นดิน ต้นไม้ ภูเขา ชีวิตประจำวันคือ เรียน เตะบอล ช่วยงานที่บ้านเล็กน้อย วันหยุดก็ปั่นจักรยานกับเพื่อน
“เก่งเป็นลูกคนเล็ก มีพี่สาว พ่อแม่ทำอาชีพหลายอย่างครับ เมื่อก่อนมีทั้งเปิดร้านขายของชำ ขายพวกขนม ปุ๋ย สินค้าเบ็ดเตล็ด จำได้ตอนเด็กๆ เคยนั่งเล่นบนกระสอบปุ๋ย นอกจากนี้ยังเลี้ยงสัตว์ ทำสวน เปิดร้านซ่อมรถ เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว หลักๆ ผมมีหน้าที่เฝ้าร้านเวลาเขาไม่อยู่ ช่วยซ่อมมอเตอร์ไซค์บ้าง ทำบ้าง โดดบ้าง ด้วยความเป็นเด็กจึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องนั่งเฝ้าร้านด้วย อยากไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนมากกว่า” เก่งเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กของเขา
“ตอนเด็กผมไม่ค่อยได้รู้ปัญหาเศรษฐกิจในบ้าน คิดว่าครอบครัวพอมีพอกิน เนื่องด้วยครอบครัวทำหลายอาชีพ เราเลยคิดว่าสภาพการเงินน่าจะโอเค แต่พอเริ่มโตก็สังเกตว่า แม่กับพ่อมีความเครียดอยู่บ้างนะ ช่วง ม.4-5 เริ่มรับรู้ปัญหาการเงินในบ้านแล้ว ทั้งที่เราก็ประหยัดกันนะแต่ทำไมหนี้สินไม่หมดสักที พ่อกับแม่แก่ลงทุกวันแต่ทำไมหนี้สินยังอยู่เหมือนเดิม จนผมนั่งคุยกับแม่และถามไปว่า ตอนนี้บ้านเรามีหนี้อะไร เท่าไหร่ ตรงไหนที่เราช่วยประหยัดได้ก็ช่วย”
ความฝันในวัยเด็กของเก่งคืออะไร เราถามนักแสดงหนุ่ม “โห ตอนเด็กๆ ผมไม่มีความฝันเลย จนอยู่ ม.6 ก็ยังไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไรต่อ รู้แค่ว่าชอบร้องเพลง ชอบเตะฟุตบอล เคยคิดอยากเป็นนักฟุตบอลนะ แต่เราไม่เก่งขนาดนั้น พอลองสำรวจตัวเองก็พบว่าเราชอบอยู่กับเด็ก เวลาเก่งไปเตะบอลตอนเย็น จะมีเด็กๆ ตามเป็นขบวนเลย เป็นหัวหน้าแก๊งเด็กก็ว่าได้ เวลาอยู่กับเด็กแล้วแฮปปี้ สนุกที่ได้สอนเขา เลยตัดสินใจเลือกเรียนต่อด้านครู ภาษาไทย มหาวิทยาลัยพะเยา
“โชคดีสิ่งที่เก่งเลือกตรงกับความหวังของพ่อกับแม่ เขาอยากให้เราเป็นข้าราชการ มีหน้าที่การงานมั่นคง มีสวัสดิการ เลยลงล็อกพอดี”
ตอนนั้นมีวี่แววว่าจะได้เข้าวงการบันเทิงบ้างไหม “ไม่มีเลยฮะ ช่วงมัธยมแทบไม่มีใครรู้จัก ผมแทบไม่มีสังคมเพื่อนในตัวเมืองเลย เพราะบ้านผมกับตัวเมืองห่างกันไกลด้วย เราเรียนเสร็จก็เตะบอลแล้วกลับบ้าน ไม่ได้ไปไหน จะมีแค่โดนให้ไปช่วยเดินขบวนพาเหรดบ้างเล็กน้อย
“งานที่เป็นการประกวดใหญ่ และเป็นเวทีประกวดแรกของผมคือตอนเข้ามหา’ลัย ผมเข้าไปปีหนึ่ง แล้วพี่เขาหาตัวแทนประกวดดาว-เดือนสาขา ผมไม่อยากเป็นเลย แต่พี่เขาบอกว่าทำเพื่อสาขาหน่อย เราเป็นคนใจอ่อนด้วย ลองดูก็ได้ แต่แค่สาขานะ จบแล้วจบเลย ปรากฏไม่จบครับ กลายเป็นตัวแทนคณะและได้ตำแหน่งเดือนของมหา’ลัย”
เราอดถามไม่ได้ว่า สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่าผู้ประกวดคนอื่นคืออะไร “ผมก็ไม่แน่ใจแต่ผมมีขับเสภาโชว์ด้วยครับ ต่างจากคนอื่นที่ร้องเพลงสากลปกติ ผมนำเพลงของพี่ ‘ปาน’ ธนพร มาขับเป็นเสภา เพราะชอบร้องเพลงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การขับเสภาก็คล้ายๆ การร้องเพลง และยังได้รุ่นพี่ในคณะช่วยกันออกแบบโชว์และฝึกสอน เป็นรางวัลที่ได้มาเพราะความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน”
เดินสายประกวด
แม้เก่งจะเคยปฏิเสธการขึ้นเวทีประกวด แต่เมื่อเขาได้ตำแหน่ง จึงไปเตะตากรรมการซึ่งเป็นโมเดลลิ่ง และถูกชักชวนให้เดินสายประกวด “พี่เขามาถามผมว่าอยากเป็นดาราไหม ตอนนั้นเราก็งงๆ ขายฝันรึเปล่า แล้วผมไม่รู้เรื่องวงการบันเทิงเลย ไม่เคยติดตามด้วย แต่ที่ตัดสินใจไปประกวดเพราะอยากหาเงินจ่ายค่าหอ เป้าหมายคือหาตังค์ ไม่ได้คิดไกลถึงขั้นเข้าวงการเป็นดาราเลย แค่อยากมีเงินใช้ไม่ต้องขอพ่อกับแม่ เลยเดินสายประกวดตั้งแต่เรียนปี 1 ไปประกวดกว่า 10 เวทีเห็นจะได้”
เก่งหารายได้จากการประกวดอย่างเดียวเลยเหรอ “ใช่ฮะ”
แสดงว่าเงินรางวัลเพียงพอกับค่าครองชีพในขณะนั้น “ใช่ เพราะผมอยู่ต่างจังหวัดด้วยเลยใช้เงินไม่มาก ตอนอยู่บ้านเกิด 5,000 บาท ผมอยู่ได้ถึง 3 เดือน ข้าวจานละ 20-30 บาทเอง ยิ่งตอนเรียนปี 1 อยู่หอของมหา’ลัย ค่าใช้จ่ายยิ่งถูก ถึงผมจะเรียนมหา’ลัย แต่กิจวัตรก็ไม่ต่างจากสมัยมัธยม เรียนเสร็จเตะบอล กินข้าวกับเพื่อน และกลับหอ ไม่เที่ยว แทบไม่ไปไหน สมมติประกวดหนึ่งครั้งได้เงินรางวัลมาหนึ่งหมื่น ผมใช้ได้ยาวๆ เลยครับ”
การขึ้นเวทีประกวดส่งผลให้ชีวิตของเก่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง “พอเริ่มหาเงินได้ก็รู้สึกว่าผมโตขึ้น รับผิดชอบตัวเองได้ และมองถึงสเต็ปต่อไปคือการดูแลครอบครัว ในอนาคตเราน่าจะเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ นอกจากนั้นยังมีเรื่องความกล้า ความมั่นใจในการพูด แต่เดิมผมเป็นคนเงียบๆ ไม่แสดงความรู้สึก การประกวดช่วยเพิ่มตรงนี้ ยิ่งผมตั้งใจเป็นครู ยิ่งต้องแสดงความมั่นใจต่อหน้าเด็กๆ”
กรุงเทพฯ: ความพยายาม 3 ครั้ง
เรื่องราวการเดินสายประกวดของเก่ง ไม่ได้มีแค่เวทีภาคเหนือ เขาเคยมากรุงเทพฯ เพื่อแคสติ้งงานด้วย “ตอนปี 1 ผมมากรุงเทพฯ ครั้งแรก เพื่อแคสต์เป็นนักแสดงของช่องช่องหนึ่ง ตอนนั้นเราผ่านรอบภาคเหนือแล้ว และต้องแข่งรอบสุดท้ายต่อที่กรุงเทพฯ เดิมผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้เป็นดารานักแสดง ก็เริ่มเกิดความหวังขึ้น ผลออกมาตกรอบ 30 คนสุดท้าย แต่มีคนสนใจทาบทาม อยากให้ผมย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุที่เรายังเด็ก ยังกลัวที่จะออกจากเซฟโซนแล้วเข้าเมืองคนเดียว จึงตัดสินใจปฏิเสธ น่าจะยังไม่ใช่จังหวะของเรา ประกอบกับผิดหวังในผลการประกวดด้วย เลยกลับบ้าน เดินสายประกวดหาตังค์ต่อ”
แต่โอกาสก็เปิดช่องให้เก่งเดินทางมากรุงเทพฯ อีกเป็นครั้งที่ 2 เพื่อแคสต์งานโฆษณา “ครั้งที่ 2 เป็นช่วงโควิด ผมต้องเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ จึงมีโอกาสมาอยู่กรุงเทพฯ เรียนไปด้วย แคสต์งานโฆษณาไปด้วย เพิ่งได้งานโฆษณามาหนึ่งตัว ปรากฏกองโฆษณาหยุดเนื่องจากสถานการณ์โควิด ผมก็อยู่โดยอาศัยรายได้จากโฆษณาตัวแรกประทังชีวิต อยู่ได้ประมาณ 3 เดือน เงินก็หมด เราโฮมซิกด้วย อยู่คนเดียวเลยคิดเยอะ จะเอายังไงต่อกับชีวิต เรียนใกล้จบแล้วด้วย จึงตัดสินใจกลับบ้าน นี่อาจไม่ใช่เส้นทางของเรา เราพยายามมาถึง 2 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่เห็นลู่ทางอะไรเลย ผมจึงกลับพะเยา ไปฝึกสอน และเตรียมสอบบรรจุ
พอดีเพื่อนผมถ่ายคลิปตอนผมฝึกสอน และกลายเป็นไวรัล ‘ครูหล่อบอกต่อด้วย’ บริษัทดูมันดิเห็นเลยติดต่อเข้ามา เขาบอกว่ามีโปรเจ็กต์ซีรีส์ที่อยากให้ผมลองดู ตอนนั้นสองจิตสองใจ แต่นี่ก็เป็นโอกาสซึ่งดูใกล้ความเป็นจริงที่สุดแล้ว ผมจึงลองพยายามอีกสักตั้ง และมากรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 3”
สู่เส้นทางนักแสดง
‘จิ่งนะ’ ในภาพยนตร์วิมานหนาม คือบทบาทการแสดงเรื่องแรกที่เก่งได้รับ จนคนพากันเรียกเขาด้วยชื่อนี้ “ช่วงแรกที่ผมเข้าบริษัท ยังเดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-พะเยา พี่แคสติ้งเขาส่งข้อความมา บอกว่ามีบทหนึ่งซึ่งอยากให้เก่งไปแคสต์ บทนี้คล้ายตัวเก่ง ผมดีใจมาก เพราะเราก็เป็นแฟนคลับผลงานค่าย GDH และเราก็เคยส่งคลิปไปแคสต์ค่ายนาดาวบางกอกด้วย แล้วตอนนี้เขาเรียกเราเองเลย ตอนแคสต์ก็ไม่ตระหนักในความสำคัญของตัวละครนี้ จนได้บทมาอ่าน โอ้โห ถามผู้กำกับว่าเอาจริงเหรอครับ เป็นผมจริงเหรอ เพราะบทของเราถือเป็นตัวที่เปลี่ยนมู้ดของภาพยนตร์
“ซีนแรกคือผมแค่ตัดกิ่งทุเรียน และเป็นซีนที่ผมแคสต์ด้วย ดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายเลย ผมถ่ายหลายเทคมาก กระโดดขึ้นลงต้นไม้อยู่ 5-6 ครั้ง แล้วผมติดเลียริมฝีปากเวลาประหม่า เราไม่เคยรู้ตัวเลย พี่บอส (นฤเบศ กูโน) ผู้กำกับสั่งคัตแล้วคัตอีก เก่งเลียริมฝีปากอีกแล้ว ผมเกร็งมากในช่วงแรก กลัวเป็นตัวถ่วงกองถ่าย เราเล่นไม่ออกแล้วพี่ๆ จะรู้สึกไม่ดีกับเรารึเปล่า แต่พอถ่ายทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มจับทางได้ เราอยากตื่นไปทำงานทุกเช้า มีไฟในการออกกอง อยากซึมซับบรรยากาศความเป็นมืออาชีพให้ที่”
ถัดจากภาพยนตร์ เก่งมีผลงานซีรีส์ที่แฟนๆ รอชมอย่าง เขมจิราต้องรอด เรื่องราวของเขมจิราและคำสาปประจำตระกูล หากเป็นผู้ชายจะต้องตายตอนอายุ 21 ปี เขาจึงต้องขอความช่วยเหลือจากหมอผี เก่งรับบท พ่อครูภรัณ คู่กับ ‘น้ำปิง’ นภัสสร ปิงเมือง “เรื่องนี้ผมหนักใจยิ่งกว่าบทจิ่งนะ ผมกับจิ่งนะมีภูมิหลังใกล้เคียงกัน โตมากับสวน อยู่ธรรมชาติ จึงพอมองภาพออก แต่บทพ่อครูไกลตัวกว่า แม้ความเชื่อภาคเหนือกับภาคอีสานเรื่องผี พ่อหมอ หมอธรรม จะคล้ายๆกัน แต่ก็ยังมีจุดที่แตกต่าง จึงต้องทำการบ้านเพื่อให้เข้าถึงบทบาท”
แม้จะเคยผิดหวัง เคยเกือบถอดใจและหันหลังให้วงการบันเทิง แต่วันนี้เก่งรู้สึกสุขกายสบายใจเพราะผลแห่งความอดทนพยายามและการรอคอย “ทุกคนต่างก็มีจังหวะเวลาของตัวเอง ถ้าผมตัดสินใจมาอยู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ตอนปี 1 อาจดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าขณะนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมของผมแล้ว เก่งในตอนนี้ได้เรียนรู้และยอมรับประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าทำงาน ไม่หลงและเหลิงกับความสำเร็จ
“ผมเคยมีความตั้งใจแรกเริ่มว่าอยากเข้าวงการบันเทิงเพราะ หนึ่ง เพื่อปลดหนี้ให้ครอบครัว และสอง อยากฝากผลงานดีๆ ให้แฟนๆ ได้ภูมิใจ แต่เมื่อทำงานไปสักพักเราเห็นว่าเราทำได้มากกว่านั้น ผมสามารถช่วยเหลือเด็กๆ หรือคนอื่นได้ด้วย ล่าสุดผมกับแฟนคลับได้ร่วมกันบริจาคเงินช่วยเหลือน้องนักเรียนในโรงเรียนที่ผมเคยไปฝึกสอน เป็นสิ่งที่ผมไม่คาดคิดว่าเราจะทำได้มาก่อน”
ปี 2567 ที่ใกล้จะผ่านไปนั้น เป็นปีซึ่งนักแสดงหนุ่มเปรียบให้ให้เห็นภาพว่า ‘เหมือนรถไฟเหาะ’ จุดที่ออกสตาร์ทกับจุดที่ยืนอยู่ปัจจุบันแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ชีวิตค่อยๆ ไต่ขึ้น มีขาลงบ้าง และไต่กลับขึ้นไปอีก “ไม่ว่าอนาคตจะขึ้นสูงหรือดิ่งลงไปกว่านี้ แต่ตอนนี้ผมแฮปปี้กับชีวิตในปี 2567 แล้วครับ” ส่วนปี 2568 ที่กำลังจะถึง เก่งฝากติดตามผลงานซีรีส์เขมจิราต้องรอด ซึ่งเขาตั้งใจเต็มร้อยกับโอกาสที่ได้รับนี้
คอลัมน์ เรื่องจากปก