กะรัตรัก ความรักและชีวิตคู่ของคนยุคใหม่

-

กะรัตรักเป็นละครโทรทัศน์ที่กำลังเสนอฉายทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 33 ซึ่งได้รับความนิยมในแง่กระแสและความนิยม น่าสังเกตว่าพักหลังนี้ ช่อง 33 ได้เสนอเรื่องราวของคนยุคใหม่ ทั้งในด้านการสู้ชีวิตในสังคมเมือง ความรัก การแสวงหาตัวตน ติดๆ กันหลายเรื่อง จนกลายเป็นเทรนด์ของสื่อบันเทิงที่น่าจับตามอง และตั้งข้อสังเกตเป็นอย่างยิ่ง

เทรนด์หนึ่งที่ได้รับความนิยมก็คือการเสนอเรื่องของรักต่างวัย ซึ่งเน้นผู้หญิงมีอายุมากกว่าชาย และเป็นความแตกต่างทางอายุที่ค่อนข้างมาก ในเรื่องกะรัตรัก ไอ่ พระเอกของเรื่อง เป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมปีสุดท้าย ซึ่งจะต้องฝึกงานตามหลักสูตรของการศึกษา ส่วนกะรัต นางเอกของเรื่อง เป็นสาวใหญ่อายุราว 40 ปี ความแตกต่างด้านวัยนี้ถูกแต่งแต้มสีสันให้กลายเป็นความน่ารักในสายตาผู้ชม เพราะใช้ดาราระดับซูเปอร์สตาร์ของเมืองไทย ทำให้ผู้ชมหลงรักตัวละครได้อย่างไม่ยาก แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็น่าจะมาจากกระแสสังคมที่ยอมรับความแตกต่างดังกล่าวจนกลายเป็นเรื่องปกติ

นวนิยายในช่วงที่เราเรียกกันว่า “ยุคมืดทางวรรณกรรม” คือช่วง พ.ศ.2500 – 2515 มีการนำเสนอความรักต่างวัยค่อนข้างมากและได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม  แต่เป็นความรักของชายที่สูงวัยกว่าหญิง เช่นเรื่อง น้ำผึ้งขม ดาวพระศุกร์  ฯลฯ บริบททางสังคมในยุคนั้นเน้นชายเป็นใหญ่ ฉะนั้น ผู้ชายที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมจึงได้รับการยอมรับว่าสามารถเป็นผู้นำครอบครัวให้แก่ฝ่ายหญิงได้ การแต่งงานเลยเป็นเรื่องของความเหมาะสมในทุกด้าน  นางเอกผู้เป็นสาวน้อยจะต้องพิสูจน์คุณงามความดีและที่สำคัญ คือเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์ พร้อมจะมอบพรหมจรรย์ให้แก่ชายผู้เป็นสุภาพบุรุษสูงวัยกว่า อาจกล่าวได้ว่า การแต่งงานมิได้เป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” หรือ “ความผูกพัน” เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ “ความมั่นคง” ด้วย

การผูกเรื่องความรักระหว่างชายสูงวัยกับสาวน้อยผู้แสนดีเริ่มจางลงหลังปี 2530 อันเป็นยุคที่กระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาสู่สังคมไทย พร้อมๆ กับแนวคิดเรื่องสิทธิทางเพศของสตรี ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา นักประพันธ์เริ่มเสนอนวนิยายที่มีเนื้อหาให้ผู้หญิงมีความเสรีทางเพศ แต่ถึงที่สุด นักประพันธ์ก็มักจะเสนอให้เห็นว่าทางออกสุดท้ายของตัวละครเอกฝ่ายหญิงเหล่านั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม

กระแสสิทธิทางเพศของสตรีมิได้หมายถึงแค่การมีเสรีทางเพศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิทธิในการเลือกคู่ครอง  สิทธิในการทำงาน และสิทธิที่จะมีบทบาทในสถาบันของสังคมด้านต่างๆ  สตรีมีสิทธิเสรีภาพในการดำรงอยู่โดยก้าวข้ามข้อจำกัดทางเพศได้  นวนิยายในระยะหลังจึงมีภาพของตัวละครผู้หญิงเป็นคนทำงาน มีบทบาทในด้านการบริหาร มีความรับผิดชอบต่อสังคม ครอบครัว และดำรงมั่นในอัตลักษณทางเพศของตัวเองอย่างผ่าเผย ประเด็นเหล่านี้ได้รับการบรรจุในเนื้อหานวนิยาย  ตัวละครฝ่ายหญิงในนวนิยายจึงมิได้รอคอยชายผู้มีความมั่นคงมาช่วยกอบกู้ชีวิตให้ตนอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงในนวนิยายยังถูกจำกัดกรอบในเรื่องบทบาทในครอบครัว ในฐานะลูกสาว เมีย และแม่  ซึ่งมีกรอบของสังคมให้ยึดปฏิบัติอยู่  และตัวละครเอกฝ่ายหญิงในนวนิยายหลายเรื่องเลือกที่จะก้าวออกมาจากข้อจำกัดดังกล่าว แล้วหยัดยืนในแนวทางที่ตนเองเลือก ซึ่งกะรัตรักเป็นหนึ่งในนั้น

กะรัตรัก เป็นเรื่องราวของ “กะรัต” พนักงานฝ่ายขายและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ เป็นผู้หญิงเก่งซึ่งเมื่อมองดูอย่างผิวเผินแล้ว เธอคือคนที่สมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน มีสามีที่ดี มีลูกชายฉลาดและน่ารัก มีฐานะทางเศรษฐกิจซึ่งคนทั่วไปอิจฉา แถมยังมีรูปสมบัติที่สะดุดตาใคร ๆ แต่หารู้ไม่ว่า กะรัตคือผู้หญิงที่ “พร่อง” ในหลายเรื่อง  เธอมาจากครอบครัวที่ขาดแม่  มีพ่อ แต่พ่อก็รักเธอน้อยกว่าน้องสาว  และพ่อยังควบคุมบงการเธอทุกอย่าง แต่เธอก็เลือกเป็น “ขบถ” กับพ่อ  ต่อสู้ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จทั้งทางการศึกษาและหน้าที่การงาน ทว่าเมื่อมีสามี ก็ไม่ได้ทำให้ครอบครัวอบอุ่น เขากลับเกิดความรู้สึกว่ากะรัตแย่งชิงความสำเร็จจากเขาไปทุกอย่าง  สามีผู้เป็นตัวแทนของสังคมชายเป็นใหญ่ จึงมิอาจยอมรับการเป็นช้างเท้าหลัง ซึ่งขัดต่อขนบของระบบครอบครัวไทย  เขาจึงเลือกที่จะนอกใจกะรัต และสาเหตุนี้ได้กลายเป็นชนวนของการหย่าร้างในที่สุด

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตนี้เอง ที่ไอ่ นักศึกษาฝึกงานได้สนิทสนมกับเธอ ความน่ารัก เอาใจใส่กะรัต แม้แต่เรื่องเล็กน้อย  ทำให้กะรัตรู้ว่าสิ่งที่เธอขาดที่สุดในชีวิตก็คือ ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร ซึ่งเธอควรได้รับจากพ่อและสามี เธอกลับได้รับจากหนุ่มน้อยรูปงามคนนี้ ความใกล้ชิดและความดีของชายหนุ่ม ทำให้กะรัตตกหลุมรักและกล้าที่จะพิสูจน์ว่าความรักต่างวัยระหว่างเธอกับไอ่นั้นเป็นไปได้ เมื่อเห็นไอ่สนิทสนมกับลูกชายของเธอ สัญชาตญาณของความเป็นแม่จึงยอมรับให้เด็กหนุ่มทลายกำแพงความรักและเพศอันแข็งแกร่งลงได้

ความรัก ความผูกพันทำให้ผู้หญิงที่เพียบพร้อมทุกด้านอย่างกะรัต กลายเป็นผู้อ่อนแอต่ออารมณ์ของตน และพร้อมจะสร้างความรักและครอบครัวใหม่กับเด็กหนุ่ม โดยไม่แคร์สังคมและคำครหาใดๆ กะรัตได้พังทลายกรอบของความมั่นคงในชีวิตสมรสที่หวังพึ่งพาผู้ชายฝ่ายเดียวลง เฉกเช่นที่เธอเคยขบถต่อพ่อ มาบัดนี้เธอก็ได้ขบถต่อผัวและกรอบจารีตของสังคม  เหลือไว้เพียงบทบาทของความเป็นแม่ที่ยังต้องดำรงอยู่อย่างเข้มแข็งต่อไป

ละครโทรทัศน์เรื่องกะรัตรัก จึงนำเสนอได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน ความรักและการสมรส ตลอดจนการใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “ความมั่นคง” แต่กลับให้ความใส่ใจในเรื่องความพึงพอใจ ความสุขในชีวิตสมรสมิใช่สิ่งเดียวกันกับฐานะทางเศรษฐกิจที่ฝ่ายชายจะต้องมอบให้ฝ่ายหญิงดังเมื่อก่อน ชายหญิงแม้จะแตกต่างกัน แต่ถ้าอารมณ์ ความรู้สึกสอดคล้องต้องกัน ยอมรับความแตกต่างกันได้  ทั้งสองคนก็พร้อมจะก้าวเดินไปด้วยกันได้

กะรัตรัก จึงเป็นละครโทรทัศน์ที่สะท้อนชีวิตของคนยุคใหม่ที่ว่าความรักและชีวิตคู่มิใช่เรื่องของ “เหตุผล” อย่างเมื่อก่อน แต่เป็นเรื่องของปัจเจกชนสองคนที่ยอมรับความแตกต่างกันได้นั่นเอง เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะพบว่าเรื่องนี้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


คอลัมน์: มองไทยในสื่อบันเทิง / เรื่อง: ลำเพา เพ่งวรรณ  ภาพ: ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไทยทีวีสีช่อง 3

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!