ข้าวตอก คือข้าวเปลือกที่คั่วไฟให้แตกบานกลายเป็นข้าวตอก ในสมัยสุโขทัยพบการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ มีหลักฐานกล่าวไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ตอนหนึ่งว่า “…จึงชักชวนกันแต่งแง่แผ่ตน ทากระแจะแลจันทน์น้ำมันหอมแลมีมือถือเข้าตอกดอกไม้ไปบูชากงจักรแก้วนั้นแล” ดังนั้นแสดงว่าตั้งแต่ครั้งสุโขทัยมีการใช้ข้าวตอกเป็นส่วนหนึ่งของการบูชาสิ่งที่เคารพ เป็นการอวยพรให้ความรักของบ่าวสาวเบ่งบานสวยงามผ่องใส และยังเชื่อว่าจะให้ทรัพย์สินเงินทองบานเบิกเหมือนที่ข้าวตอกแตกบานจากข้าวเปลือกด้วย ในสมัยโบราณยังเป็นของที่ใช้ในพิธีบวงสรวงบูชาตามงานมงคลต่างๆ เช่น ในการรำอวยพรหรือการบูชามีการโปรยข้าวตอกดอกไม้ (มักใช้กลีบกุหลาบมอญ) เป็นต้น เดิมทีข้าวตอกนิยมทำในช่วงตั้งแต่วันสารทไทยจนถึงวันออกพรรษา เนื่องจากคนส่วนมากนิยมนำไปทำบุญโดยใส่เป็นเครื่องกัณฑ์เทศน์มหาชาติ รวมถึงการทำพิธีมงคลอื่นๆ เช่น ใช้เป็นเครื่องบูชาด้วยข้าวตอกและดอกไม้อันเป็นประเพณีมีมาแต่ดั้งเดิม เข้าใจว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดีย กล่าวคือ อินเดียสมัยโบราณเวลารับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินต้องโปรยข้าวตอกดอกไม้ ทั้งนี้เพื่อใช้แทนดอกมะลิมากกว่าดอกไม้อื่น
อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า “…แล้วจึงยกศพไปสงสักการด้วยแก่นจันทน์กฤษณาทั้งหลาย แล้วบูชาตัวยข้าวตอกดอกไม้ทั้งหลาย…” จากหลักฐานที่กล่าวนี้จะเห็นว่า ในสมัยสุโขทัยนอกจากใช้ข้าวตอกเป็นเครื่องบูชาแล้ว ยังใช้ในงานศพ สมัยก่อนทางภาคอีสาน เมื่อนำศพไปฝังหรือเผา ก็จะมีคนถือพานข้าวตอกเดินนำหน้า แล้วโปรยข้าวตอกตั้งแต่ออกจากบ้านจนถึงที่ฝังหรือเผา การใช้ข้าวตอกโปรยของชาวอีสานมีคำอธิบายว่า คนที่ตายไปนั้นเปรียบเสมือนข้าวตอก ไม่มีทางงอกเงยได้อีก คนตายก็เช่นเดียวกัน ไม่มีทางฟื้นคืนชีวิตได้อีก
“ข้าวตอก” และ “ข้าวเม่า” ยังใช้เป็นส่วนผสมพื้นฐานของขนมไทยอีกหลายชนิด โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่าข้าวตอกเป็นของกินกับน้ำกะทิเป็นของหวาน หรือในบางกรณีใช้ข้าวตอก ข้าวเม่า ผสมกับถั่ว งา แล้วกวนกับน้ำตาลหรือน้ำอ้อยจนเป็นกระยาสารท เป็นต้น
จากวิถีชุมชนสู่ตำรับขนมไทยพื้นบ้าน จากตำนานสู่ขนมไทยที่เต็มไปด้วยเรื่องราว จากขนมที่ไม่มีใครรู้จัก พลิกฟื้นสืบสานให้คงอยู่เป็นมรดกทางนวัตวิถีของชุมชน ดังที่จังหวัดสุโขทัย มีบ้านไม้ทรงไทยหลังใหญ่หลังหนึ่ง นอกชานกว้างรับลมโกรก ด้านตะวันตกเป็นโรงครัวขนาดใหญ่ที่มีกระทะใบบัวและซึ้งใบใหญ่ตั้งอยู่เรียงรายบนเตาอั้งโล่ ลานตาไปด้วยนานาเครื่องครัว เป็นบ้านชื่อ “บ้านคุณยาย” ที่ยังรักษามรดกทางวัฒนธรรมอาหารโบราณผลิตขนม “ข้าวตอกตัดพระร่วง 100 ปี” โดยแม่ครัวที่มีอายุรวมกันหลายร้อยปีเกือบเท่าอายุกรุงสุโขทัย ขะมักเขม้นช่วยกันอนุรักษ์ขนมโบราณนี้ตั้งแต่การโม่แป้ง ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ บ้างก็ปั้น บ้างก็ห่อ และอีกมากขั้นตอนโดยมีคุณยายเป็นหัวเรือใหญ่คอยกำกับการผลิตตั้งแต่การเตรียมวัตถุดิบ ปรุงรส จนถึงการบรรจงบรรจุลงห่อด้วยความประณีตงดงาม

ในที่สุดเมื่อทำเสร็จ จะได้กลิ่นหอมจรุงอวลเตะจมูก จนซึมซาบและจดจำรูป กลิ่น รสนั้นไว้ เป็นเคล็ดลับส่งต่อแก่ชนรุ่นต่อไปให้สืบสานไม่รู้จบ
ตามที่แจกแจงมาแต่ต้นจะเห็นว่าข้าวตอก ข้าวเม่า มีส่วนพัวพันกับชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ และจะคงมีอยู่สืบไป ถ้าเราไม่นิยมกินขนมต่างชาติจนลืมของไทยๆ หมดสิ้น มนต์เสน่ห์ของขนมไทยพื้นบ้านที่รังสรรค์ขึ้นจากวิถีชีวิตของชาวบ้านผู้มีความผูกพันกับข้าว ผสมผสานกับวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ถ่ายทอดเป็นมรดกอันล้ำค่า ควรแก่การอนุรักษ์เอาไว้

ในวาระขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2564 นี้จึงขอใช้ข้าวตอกนี้โปรยปรายความสุขความเจริญอันพึงมีพึงได้แด่ท่านผู้อ่านตลอดปี เทอญ
ขอขอบคุณเรื่องราวและภาพจาก
คุณวิธุวัทน์ ทรัพย์พร้อม แห่งบ้านคุณยาย
59/3 หมู่ 7 ตำบลสารจิตร อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130
โทร. 08 9204 0065
คอลัมน์ : กินแกล้มเล่า เรื่องโดย : สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
All Magazine มกราคม 2564