ระยะไม่กี่ปีมานี้ ผู้เขียนได้ยินคนพูดสำนวน “กะลาแลนด์” ซึ่งเป็นสำนวนของกลุ่มผู้มีแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่ตรงกันข้ามกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม สำนวนนี้มีที่มาจากสำนวน “กบในกะลาครอบ” ในอดีตคำ “กะลา” ยังถูกนำไปใช้รวมกับคำอื่นเป็นสำนวนต่างๆ อีก เช่น “คุ้มกะลาหัว” “เจียมกะลาหัว” เป็นต้น
กะลาแลนด์
สำนวน “กบในกะลาครอบ” ใช้กันมาแต่สมัยโบราณ หมายถึงกบที่ถูกกะลาครอบอยู่ มันจะมองเห็นเฉพาะพื้นที่ว่างในกะลารอบตัวมันเท่านั้น โลกของมันจึงแคบ
ต่อมาได้มีผู้นำ “กะลาแลนด์” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบกับดินแดนหรือประเทศที่ผู้คนในประเทศนั้นมีวิสัยทัศน์แคบๆ เดิมๆ มีแนวคิดด้านการอนุรักษ์สุดขั้ว โดยไม่ยินยลถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ของประเทศที่ก้าวหน้าทันสมัยในโลก ผู้ใช้สำนวนนี้จึงมีจุดประสงค์สื่อน้ำเสียงในเชิงปรามาส เสียดสี เช่นผู้อภิปรายคนหนึ่งพูดในที่ประชุมสัมมนาวิชาการทางสังคมตอนหนึ่งว่า “ผมว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเป็นไปของโลกในยุคนี้ มิฉะนั้นโลกทัศน์ของเราก็จะแคบเหมือนอย่างที่บางคนเรียกประเทศไทยว่าเป็นกะลาแลนด์ ผมได้ยินแล้วรู้สึกหดหู่ใจ”
คุ้มกะลาหัว
คำว่า “คุ้ม” แปลว่ากันหรือป้องกัน เมื่อนำคำ “กัน” มาใช้ซ้อนกับคำ “คุ้ม” เป็น “คุ้มกัน” จะแปลว่าคุ้มครองป้องกันให้ปลอดจากภัยอันตราย ส่วน “กะลา” เป็นส่วนแข็งที่หุ้มเนื้อมะพร้าว เมื่อใช้เนื้อหมดแล้วเอามาครอบศีรษะถ้าบังเอิญมีอะไรหล่นใส่ ก็จะช่วยมิให้เป็นอันตรายได้ ส่วนคำ “กะลาหัว” เป็นภาษาปากซึ่งหมายถึงกะโหลกศีรษะ “คุ้มกะลาหัว” จึงแปลได้ตามตัวอักษรว่าคุ้มกันหัวกะโหลกศีรษะ
เมื่อนำ “คุ้มกะลาหัว” มาใช้เป็นสำนวนเปรียบจะมีความหมายว่า เมื่อผู้ใดต้องเผชิญภัยจากเหตุการณ์หรือจากพฤติกรรมในด้านลบของตน ก็จะมีผู้มีอำนาจบารมีช่วยปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย เช่น ขณะนั่งจักตอกบนแคร่หน้าบ้าน ตอนหนึ่งตามีเล่าให้ลูกชายที่มาเยี่ยมพ่อฟัง ถึงหนุ่มวัยรุ่นลูกผู้ใหญ่บ้านที่ไปชกและทุบตีแม่ค้าขนมหวานในหมู่บ้านเพราะพูดผิดหูเขา แม่ค้าไปฟ้องผู้ใหญ่บ้าน เรื่องจึงออมชอมกันได้ในที่สุดว่า “ดีนะที่เจ้าฟุ้งมันมีพ่อคุ้มกะลาหัว ม่ายงั้นอาจต้องนอนคุก กร่างไม่เข้าท่า”
เจียมกะลาหัว
คำว่า “เจียม” แปลว่ารู้จักประมาณตัว ประพฤติตนพอสถานประมาณ มักจะใช้พูดกันว่า “เจียมเนื้อเจียมตัว” คือรู้จักว่าอะไรควรหรือไม่ควรประพฤติ ทำให้ผู้ได้พบเห็นหรือได้รู้จักรู้สึกเอ็นดูและชื่นชมว่าปฏิบัติตนได้เหมาะแก่สถานภาพของตนในสังคม ไม่อวดเก่งหรือทำตนให้เป็นที่ตำหนิติฉิน แต่เมื่อนำคำเจียมมาใช้กับกะลาหัวก็จะได้สำนวน “เจียมกะลาหัว”
“เจียมกะลาหัว” เป็นสำนวนที่ไม่ว่าจะนำมาใช้ในบริบทใดก็มีน้ำเสียงสื่อนัยความหมายไปในด้านลบอย่างรุนแรง เช่นเย็นวันหนึ่งแม่แย้ม ซึ่งไปทำงานบ้านให้บ้านนายเชิดเศรษฐีใหญ่ในหมู่บ้าน พูดให้แง่คิดแก่ลูกชายวัยรุ่นที่คบหาอย่างสนิทสนมกับลูกสาวเศรษฐีเชิดตอนหนึ่งว่า “เราเป็นคนจน ต้องรู้จักประมาณตน อย่าให้ใครเขานินทาเราได้ว่าไม่รู้จักเจียมกะลาหัวนะ”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์