ฉบับนี้ผู้เขียนจะเขียนถึงสำนวนที่เพิ่งเกิดใหม่สำนวนหนึ่งคือ “ทิพย์” และสำนวนโบราณที่มีความหมายคล้ายคลึงกันกับ “ทิพย์” คือ “โคมลอย” ซึ่งยังคงนิยมใช้กันอยูในปัจจุบัน
ทิพย์
“ทิพย์” เป็นคำที่คุ้นเคยกันในความหมายว่า คืออะไรๆ หรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวกับเทวดาซึ่งล้วนแต่เป็นของดีวิเศษเหนือธรรมดาสามัญ อาทิ ตาทิพย์ หูทิพย์ ผ้าทิพย์ ดอกไม้ทิพย์ เป็นต้น เช่นในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์พระมหาธรรมราชาที่ 1 พญาลิไทย มีข้อความบรรยายถึงที่นั่งของเหล่าเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไว้ตอนหนึ่งว่า “…แลจิงมีที่นั่งของเทพยดาทั้งหลายอันเป็นใหญ่โดยอันดับกัน เทียรย่อมปูลาดอาสน์ย่อมผ้าทิพย์ เทพยดาลางหมู่มีดอกไม้ทิพย์เป็นที่นั่ง…”
ปัจจุบันมีผู้นิยมนำคำ “ทิพย์” มาใช้เป็นสำนวนให้มีความหมายในด้านลบ คือหมายถึงไม่จริง เช่น ท้องทิพย์ จนทิพย์ เที่ยวทิพย์ ฯลฯ ดังเมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ว่าสาวคนหนึ่งซื้อไก่ทอดจากร้านไก่ทอดชื่อดังกลับบ้าน ครั้นถึงบ้านเปิดดูกลายเป็นผ้าขนหนูผืนเล็กทั้งผืนชุบแป้งทอด เมื่อน้ำหวานดูข่าวนี้แล้วเล่าให้น้ำตาลพี่สาวฟัง น้ำตาลพูดขึ้นด้วยเสียงกลั้วหัวเราะว่า “มันคือไก่ทอดทิพย์จ้ะ”
โคมลอย
“โคมลอย” เป็นชื่อเครื่องจุดไฟชนิดหนึ่ง ทำจากไม้ไผ่ตั้งเป็นโครงมีรูปลักษณะต่างๆ บ้างก็กลม บ้างก็เหลี่ยม ฯลฯ แล้วติดหรือแปะด้วยกระดาษสาหรือผ้าสีต่างๆ ข้างในโคมจะใส่เทียนหรือเชื้อเพลิง ซึ่งเมื่อจุดแล้วความร้อนจะทำให้เกิดอากาศเบา เมื่อถูกปล่อยขึ้นฟ้าโคมจึงลอยไปได้คล้ายบอลลูน และจะลอยอยู่ได้จนกระทั่งไฟมอดก็ตกลงพื้น การทำ “โคมลอย” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ ของนานาประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา โปแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น ฯลฯ ส่วนในประเทศไทยทั้งสี่ภาค มีการประดิษฐ์โคมลอยขึ้นใช้ในเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลลอยกระทง เทศกาลออกพรรษา เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงใช้คำว่า “โคม” เป็นความเปรียบอยู่ในพระราชนิพนธ์บางเรื่อง เช่นเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน (พ.ศ.2431) ตอนหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์เป็นคำตักเตือนผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีฉัตรมงคล ทั้งพระภิกษุ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและผู้ปฏิบัติหน้าที่ในพระราชพิธีดังกล่าวว่า ต้องไม่บกพร่องเหลวไหล เช่น ทรงวิจารณ์พระวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่งว่า “…และเจ้าเข่งผู้สำหรับรับเข้ามาก็เคยโคมมิได้ขาดเลย” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์ถึงที่มาของคำ “โคม” นี้ไว้ในภาค “อธิบายศัพท์แผลง” ในการพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ครั้งที่ 2 ว่า
คำว่า “โคม” ย่อมาแต่โคมลอยๆ แปลว่าเหลวไหล มูลเหตุของศัพท์นี้มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษอย่าง 1 เรียกชื่อว่าฟัน ใช้รูปโคมลอยเป็นเครื่องหมายอยู่หลังใบปก หนังสือเล่มนั้นเล่นตลกเหลวไหล ไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลกอย่างอื่นคือปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขันจึงว่าราวกับหนังสือฟันบ้าง ว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้าง จะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่โคม ความที่หมายก็กว้างขวางออกไปจากไม่ขบขันจนแปลว่าเหลวไหล
ในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 (พ.ศ.2440) ที่ทรงมีพระราชทานสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถนั้น ตอนหนึ่งในฉบับที่ 21 ทรงเล่าถึงพระบุคลิกภาพของพระเจ้าแผ่นดินประเทศอิตาลีด้วยพระอารมณ์ขันว่า “…พระภักตร์ขมวดอยู่ในระหว่างคิ้วแลตา แก้มหย่อนสองข้าง หนวดโตไม่แลเห็นปาก… บางทีก็โคมมาก มีกระดิกหนวดยกแขนสูงน่าดูมาก แต่รับสั่งอะไรรัวๆ…”
“โคมลอย” ที่ใช้เป็นสำนวนในปัจจุบันจะใช้กับข่าวลือที่ไม่มีมูล เหลวไหล ไม่ใช่เรื่องจริง เช่น นุ่นโทรศัพท์ตัดพ้อแอ๋วเพื่อนรักที่เรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมว่า ได้ข่าวจากเพื่อนบางคนว่าแอ๋วจะแต่งงานเดือนหน้า ทำไมไม่บอกเธอ แอ๋วหัวเราะร่วนพร้อมกับพูดว่า “โธ่! ข่าวโคมลอยชัดๆ ถ้าคิดจะแต่งเมื่อไร หล่อนเป็นเพื่อนคนแรกที่ชั้นจะบอก อย่าทำเป็นคนขี้น้อยใจไปหน่อยเลย”
คอลัมน์: คมคำสำนวนไทย
เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์