ด้วยความที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง อาหารลาวกับอาหารไทยจึงมีความคล้ายคลึงกันมาก และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รสชาติและตำรับการปรุงซึ่งกันและกันเสมอ วัตถุดิบ เครื่องปรุงรส ก็ละม้ายกัน รวมถึงศัพท์เกี่ยวกับอาหารต่างๆ นั้น บ้างก็เป็นคำลาวที่คล้ายกับคำอีสาน หรือใช้คำเดียวกันกับคำไทย แต่มีบางคำ บางอย่าง ที่เรียกต่างกัน และไม่คล้ายกับภาษาไทยถิ่นอีสานเลย จึงน่าสนใจเรียนรู้ไว้เพื่อจะได้เรียกถูกเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวหรือพักในลาว ไม่ให้สั่งอาหารผิดจนหมดอร่อย
ແປ້ງນັວ แป้งนัว คือ ผงชูรส ชาวลาวนิยมปรุงอาหารใส่ผงชูรสเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งเครื่องจิ้มผลไม้ก็ยังใช้เกลือ น้ำตาล พริกป่น ผสมผงชูรสลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ คำว่า นัว หมายถึงรสชาติเค็มมันอร่อย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นรสอุมามิ เครื่องปรุงที่ให้รสนัวมีลักษณะเป็นผงเหมือนแป้ง ภาษาลาวจึงรวมเรียกว่า แป้งนัว
ຫັວສີໄຄ หัวสีไค คือ ต้นตะไคร้ คำว่าสีไคนี้เป็นคำลาวดั้งเดิม แต่ภาษาอีสานไม่ค่อยใช้แล้ว ยกเว้นในจังหวัดอุบลราชธานีที่ยังเรียกตะไคร้ว่าสีไคอยู่บ้าง
ໝາກເຜັດ หมากเผ็ด คือ พริก เดิมทีอาหารไทยอาหารลาวไม่มีพริกเป็นเม็ด มีแต่พริกไทยและมะแขว่นเป็นเครื่องปรุงรสเผ็ดจนกระทั่งโปรตุเกสนำพันธุ์พริกเข้ามา อาหารลาวดั้งเดิมที่ปรุงแบบไม่มีพริกเทศนั้นอาจหาดูได้ในลาวเหนือ ภาษาลาวจึงเรียกพริกเม็ดซึ่งมีสีสันต่างๆ ตามรสที่ได้ว่า หมากเผ็ด
ຊີ້ນ ซี้น คือ เนื้อ คำว่า ซี้น ในที่นี้ออกเสียงสระอี เสียงยาว ต่างจาก ซิ่น ที่หมายถึงผ้านุ่งซึ่งออกเสียงสระอิ เสียงสั้น หมายถึงเนื้อสัตว์ และตามด้วยคำขยาย เช่น ซี้นงัว คือ เนื้อวัว ซี้นหมู คือ เนื้อหมู แต่จะไม่ใช้เรียกเนื้อปลาหรือสัตว์น้ำอื่น โดยมากใช้เรียกเฉพาะสัตว์บก
ໃບຂີ້ຫູດ ใบขี้หูด คือ ใบมะกรูด เนื่องจากผลมะกรูดมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูด ภาษาลาวจึงเรียกมะกรูดว่า หมากขี้หูด เมื่อใช้ใบมาเป็นเครื่องเทศปรุงอาหาร จึงพลอยเรียกว่า ใบขี้หูด
ໝາກເລັນ หมากเล็น คือ มะเขือเทศ โดยมากมะเขือเทศที่ใช้ปรุงอาหารลาวมักมีขนาดเล็ก ผลรี รสเปรี้ยวมาก ปลูกตามริมแม่น้ำในฤดูหนาว ใช้ใส่ในส้มตำและแกงลาวเพิ่มรสเปรี้ยวและเนื้อในผล คำว่า เล็น ในที่นี้จึงหมายถึงลักษณะลูกกลมรีขนาดเล็ก แต่เมื่อมีมะเขือเทศลูกใหญ่สำหรับใช้ทำอาหารฝรั่งก็ยังคงเรียกชื่อเดิมอยู่
ຜັກກາດຊອມ ผักกาดซอม คือ ผักกวางตุ้งหรือบ็อกฉ่อย ชื่อผักต่างๆ ในภาษาลาวหากเป็นผักต่างถิ่น มักถูกแปลงให้เข้ากับลักษณะผักพื้นถิ่นแล้วระบุคุณสมบัติเพิ่มเติมตามรูปลักษณ์ คำว่า ซอม นี้ ในพจนานุกรมไทยแปลว่า เรียง แต่ภาษาลาวแปลว่า ตาม, แอบ, หลบ ผักกวางตุ้งจึงถูกเรียกว่าผักกาดซอมในภาษาลาว เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วใบจะพับทับซ้อนกัน
ຖົ່ວແປ ถั่วแป คือ ถั่วลันเตา ภาษาลาวเรียกถั่วลันเตาว่า ถั่วแป (แป หมายความว่า แบน) ตามลักษณะฝักถั่วที่แบนราบ มีเพียงเม็ดถั่วที่นูนขึ้น
ຫອມປ້ອມ หอมป้อม คือ ผักชี ประเภทผักเครื่องเทศที่มีกลิ่น ส่วนมากภาษาลาวเรียกรวมว่า หอม ซึ่งมีคำขยายต่างกันตามคุณสมบัติ โดยเรียกผักชีว่า หอมป้อม ตามลักษณะต้นเตี้ยป้อม เวลาเก็บเกี่ยวและมัดแล้วโค้งงอกลมป้อม
คามแตกต่างของพืชผักและอาหารระหว่างไทยกับลาวยังมีอีกมาก หากมีโอกาสได้ไปเดินตลาดหรือเข้าร้านอาหาร อย่าลืมสังเกตสอบถามเพื่อทำความเข้าใจ และเพิ่มพูนความรู้เพื่อให้เข้าถึงซึ่งกันและกัน
คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง
เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข
ภาพ: www.pexels.com