กลองตุลาการ

-

มนุษยชาติเป็นสัตว์สังคม แม้ว่าจะมีรากเหง้าชาติพันธุ์เดียวกันแต่เมื่อดำรงชีวิตร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ มีผู้ปกครอง ผู้นำ ก็จำเป็นต้องกำหนดกฎระเบียบเป็นเครื่องควบคุมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและทิศทางที่สังคมนั้นๆ จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเครื่องควบคุมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือตัวบทกฎหมาย

กฎหมายของชนแต่ละกลุ่มแต่ละชาติก่อร่างขึ้นตามพื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนและมีการปรับปรุงพัฒนามาโดยลำดับ กฎหมายของชาติที่เจริญแล้วมุ่งเน้นความยุติธรรมและความเท่าเทียม ซึ่งนั่นเป็นเพียงตัวบท แต่ปัจจัยสำคัญยิ่งที่จะทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์เป็นไปตามเป้าประสงค์คือ ตุลาการและผู้พิพากษาผู้ที่ต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินคดีความ

ก็เมื่อผู้ใช้กฎหมายยังเป็นมนุษย์ปุถุชน เวียนวนอยู่ในกระแสแห่งโลภะ โทสะ และโมหะ กอปรด้วยอคติ 4 คือ ฉันทาคติ ภยาคติ โทสาคติ โมหาคติ ทำให้การตัดสินพิจารณาคดีบางคดีเป็นไปอย่างไม่สุจริตไม่ยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมจึงต้องเปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ฎีกาเพื่อทบทวนการตัดสิน

ในสมัยกรุงสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเปิดโอกาสให้ราษฎรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม “ถวายฎีกา” เพื่อทรงพิจารณาคดีด้วยพระองค์เอง ดังความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า

ปากประตูมีกระดึงอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจะกล่าวเถิงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดึงอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยซื่อ

สมัยโบราณหากราษฎรรายใดไม่ได้รับความเป็นธรรมก็มีสิทธิถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดิน แต่การที่จะถวายฎีกาให้ถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านกระบวนการตามลำดับขั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงทรงลดขั้นตอนดังที่กล่าวในศิลาจารึก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ราษฎรที่เดือดร้อนประสงค์จะถวายฎีกาตีกลอง “วินิจฉัยเภรี” ที่ตั้งไว้บริเวณทิมดาบกรมวัง ในพระบรมมหาราชวัง

กลองวินิจฉัยเภรี นั้นเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ผู้ว่าการโกษาธิบดีได้ไม้รักขนาดใหญ่มาจากเมืองจันทบุรี ทำเป็นหุ่นกลอง ขึ้นหน้าด้วยหนังกระบือเผือก นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อพุทธศักราช 2380 โปรดฯ ให้คลุมด้านบนด้วยผ้าอัตลัด ประดับประดาด้วยพวงดอกไม้ ให้เชิญไปไว้ที่ทิมดาบกรมวัง กั้นเศวตฉัตร 3 ชั้น สำหรับราษฎรตีร้องทุกข์ถวายฎีกา พระราชทานนามว่า “กลองวินิจฉัยเภรี” อันหมายถึงกลองสำหรับการวินิจฉัยพิจารณาคดี โปรดฯ ให้ตั้งพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยเทวดาผู้รักษากลองปีละ 2 ครั้ง ในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา คือ วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 และวันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ประกาศโองการบวงสรวงสังเวยครั้งนั้นแต่งเป็นคำฉันท์ ฝีพระโอษฐ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และพระยาบำเรอบริรักษ์ คำฉันท์บวงสรวงสังเวยดังกล่าว นอกจากจะเป็นการอัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาพิทักษ์รักษากลองวินิจฉัยเภรีและความยุติธรรมแล้ว ยังอธิบายถึงกระบวนการยุติธรรมในสมัยโบราณ และกล่าวถึงเล่ห์กระเท่ห์ฉ้อฉลของตุลาการหลากหลายรูปแบบ

อย่าเยียเยี่ยงสันดาน ตระลาการกระลำภร
ทำดุจผีหลอน    ประสงค์ทรัพยสินบน
เรียงความที่ผู้แพ้  เปนกระแหน่กระเหน็จกล
โลภลาภเลี้ยงตน ก็กลับร้ายให้ดูดี
ข้างโจทก์แลเข้าหา จำเลยมาก็เปรมปรีดิ์
สองปากเช่นพาชี  จะป้อนหญ้าก็รับเอา
ปฏิเสธเปนภาคเสธ จะบังเหตุก็แบ่งเบา
แปลงเติมสำนวนเขา สลายลบให้สูญคำ

     

 

นั่นเป็นพฤติการณ์ของตุลาการชั่วร้ายครั้งโบราณ ซึ่งท่านเปรียบเหมือน “ม้าสองปาก” รับผลประโยชน์ทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย ในลิลิตพระลอท่านจึงสอนคนที่จะเป็นผู้นำว่า “อย่าล่ามม้าสองปาก” คือไม่ให้ผู้ปกครองอุปถัมภ์ตุลาการชั่ว คำฉันท์สังเวยกลองวินิจฉัยเภรียังสาปแช่งตุลาการอยุติธรรมให้ประสบภัยพิบัติต่างๆ

จงเทพดาผลาญ  ตระลาการที่โกลำ
 ฆ้อนเหล็กประหารปรำ  ศิรให้ทำลายขจาย
แสงสายอสนีบาต  จงพิฆาตคะมำหงาย
 สามวันมิทันตาย  ก็เจ็ดวันประจักษตา

                                                                          

ตอนสุดท้ายของคำฉันท์บอกให้ตุลาการทั้งหลายพึงสังวรระวังยำเกรงความศักดิ์สิทธิ์ของกลองวินิจฉัยเภรี ไม่โลภทุจริต และตัดสินคดีอย่างสุจริตยุติธรรม

เสนาตระลาการ  จะพิจารณ์ก็ตฤกตรง
มล้างโลภลดลง     ประหยัดตัวด้วยกลัวกลอง

 

วันนี้ วินิจฉัยเภรี กลองศักดิ์สิทธิ์แห่งกระบวนการยุติธรรมยังเก็บรักษาไว้ในความดูแลของกรมศิลปากร ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี
เรื่อง: บุญเตือน  ศรีวรพจน์
ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!