นายชาติชายทำงานในสำนักงานแห่งหนึ่ง เขาสนิทกับนายวินัย นายวินัยเป็นคนคุยสนุก ความรู้รอบตัวมาก สอนเขามากมาย บ่อยครั้งไปกินข้าวเที่ยงด้วยกัน
วันหนึ่งนายชาติชายพบว่านายวินัยคบหญิงสาวพร้อมกันหลายคน คุยกับหญิงสาวทางโซเชียลมีเดียเป็นประจำ และทำให้ผู้หญิงทุกคนที่เขาคุยด้วยเชื่อว่าเขาจริงจังกับพวกเธอ
ทันใดนั้นนายชาติชายก็รู้สึกไม่ชอบนายวินัยขึ้นมาทันที เขารับไม่ได้กับนิสัยแบบนี้ของเพื่อน
นายชาติชายค่อยๆ ตีห่างจากนายวินัย หาเหตุผลไม่ไปกินข้าวเที่ยงกับนายวินัยอีก
เขาเห็นว่าเพื่อนเป็นคนไม่ดี
……………
นางสาวรื่นฤดีสนิทกับนางชื่นใจมานานปี ชื่นใจแต่งงานกับนายสมดุล ทะเลาะเบาะแว้งบ่อยๆ นางสาวรื่นฤดีบอกให้เพื่อนอดทน เพราะการแต่งงานก็เหมือนลิ้นกับฟัน
วันหนึ่งนางสาวรื่นฤดีเห็นนางชื่นใจคบหาอย่างสนิทสนมกับชายอีกคนหนึ่ง
นางสาวรื่นฤดีค่อยๆ ตีห่างจากเพื่อน เธอไม่ชอบที่เพื่อนเธอมีสามีแล้ว แต่ไปคบกับชายอีกคน
เธอเห็นว่าเพื่อนเป็นคนไม่ดี
พฤติกรรมอย่างนี้ฝรั่งเรียกว่า judge หมายถึงการตัดสินใครคนหนึ่งเอาเอง ส่วนใหญ่ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมของตนเอง
มันไม่ใช่ศาลทางกฎหมาย ไม่มีบทลงโทษจำคุก มันเป็นศาลในใจของเรา และเราทำตัวเป็นผู้พิพากษา
มองไปรอบตัวจะพบว่า มนุษย์เราตัดสินคนอื่นแทบทุกเรื่อง
ในหลายเรื่องไม่มีกฎหมายลงโทษ แต่สังคมลงโทษโดยการประณาม หรือไม่คบหาสมาคมด้วย
คนบางคนไม่คบกับพวกรักร่วมเพศ คนบางคนคิดว่าคนผิวดำไม่มีการศึกษา หรือคนผิวเหลืองด้อยกว่า ฯลฯ
ปัญหาคือมาตรวัดของเรื่องหนึ่งๆ ไม่เหมือนกัน เรามักใช้มาตรวัดที่เราเคยชินหรือได้รับการปลูกฝังมา ด้วยข้อมูลเท่าที่เราเห็น บางเรื่องเราได้รับข้อมูลถูกต้องและครบถ้วน บางเรื่องไม่ถูกต้อง บางเรื่องไม่ครบถ้วน
ดังนั้นเราจึงอาจไม่อยู่ในสถานะที่ตัดสินคนอื่นได้ เพราะเราไม่ใช่เขา ยกตัวอย่างกรณีของนางชื่นใจ เธออาจมีเหตุผลที่ “คบชายอื่น” เธออาจไปถึงจุดของชีวิตที่กำลังเปลี่ยนแปลง สิ่งที่คนรอบตัวเห็นก็อาจไม่ใช่ความจริงทั้งหมด นั่นอาจไม่เพียงพอให้เราตัดสินเธอ
ไม่มีใครไม่เคยทำผิด ผิดมากหรือน้อยขึ้นกับรายละเอียด สถานการณ์ การตัดสินใครคนหนึ่งขึ้นกับความคิด ความรู้สึกที่อาจได้นับการศึกษา การหลอมเหลาของสังคม ค่านิยม มาตรฐานทางศีลธรรมส่วนตัว
กัปตันเรือที่รอดชีวิตจากเรือล่ม โดยมีลูกเรือหลายคนจมน้ำตาย มักถูกตัดสินว่าเป็นคนขี้ขลาด เพราะเรามีภาพฝังหัวว่า กัปตันควรออกจากเรือเป็นคนสุดท้าย และควรจมไปกับเรือ
เมื่อสงครามโลกครั้งสองยุติ ชาวโลกพบความจริงที่น่าสะพรึงกลัวว่า ชาวยิวหกล้านคนถูกนาซีฆ่าตายในสถานกักกันหลายแห่ง แต่มีนักโทษยิวจำนวนหนึ่งรอดตายมาได้
เมื่อชาวยิวที่รอดตายเหล่านี้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศอิสราเอล ปรากฏว่ามีคนไม่น้อยตัดสินพวกเขา ตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาไม่ตาย รอดมาได้อย่างไร เป็นพวกนาซีหรือเปล่า จึงรอดชีวิตมาได้
มันเป็นการตัดสินที่ไม่มีข้อมูลใด ใช้แต่ความรู้สึกและอคติ คิดเองเออเอง
การตัดสินคนอื่นมิใช่เรื่องผิดหรือถูก เพียงแต่มันเป็นการ “ยึดมั่นถือมั่น” อย่างหนึ่ง แต่เราควรถามตัวเองว่า เราสามารถก้าวข้ามเรื่องบางเรื่องของชีวิตคนอื่นได้หรือไม่
บางครั้งการตัดสินคนอื่นไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ทำให้ใจของเราเป็นทุกข์ด้วยความคิดของเราเอง เหมือนอยู่ดีๆ เราก็เอาเรื่องของชาวบ้านมาแบกไว้เอง
หากนิสัยหรือพฤติกรรมของคนอื่นทำให้เราไม่มีความสุขเลยที่จะคบกับเขา หรือไม่สามารถที่จะก้าวพ้นเรื่องส่วนตัวของเขาได้เลย ก็ไม่ต้องคบเขา
และระวัง! ขณะที่เราตัดสินคนอื่น คนอื่นก็อาจตัดสินเรา ถ้าเราไม่ชอบให้คนอื่นตัดสินเรา เขาก็ไม่ชอบให้เราตัดสินเขา
คอลัมน์ ลมหายใจ
เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ
winbookclub.com
เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/