Joy รัก คลับ คลับสร้างสรรค์งานอดิเรก

-

สวัสดีปีใหม่ 2561 คุณผู้อ่าน ออล แม็กกาซี ทุกท่าน เมื่อปีเก่าพ้นไปปีใหม่มาถึง อะไรในปีเก่าที่เคยทำให้ขุ่นข้องหมองใจมาปรับจิตปรับใจแล้วเริ่มต้นใหม่ในปีนี้กัน เรื่องเด่นประจำเดือนมกราคม เดือนแรกของปี ขอนำเสนอวิธีการสร้างความสุขอย่างสร้างสรรค์ด้วย งานอดิเรก กับมุมมองของผู้คนที่หลงรักและเติมความสุขในชีวิตด้วยการทำงานอดิเรก ซึ่งพวกเขาบอกว่านอกจากสร้างสุขแล้วยังสร้างสมดุลให้ชีวิตอีกด้วย ในนาม Joy รัก คลับ คลับแห่งการเรียนรู้ไม่รู้จบ เพื่อไลฟ์สไตล์ที่สมดุล 

I love Hobbyจากมุมมองผู้ก่อตั้ง

โอ๋ – นริศรา ตันติกำเนิดกุล คือผู้ก่อตั้ง  Joy รัก คลับ ซึ่งเธอได้ไอเดียการตั้งชื่อจากภาพยนตร์เรื่องThe Joy Luck Clubรวมกับประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษาต่อยังต่างแดน จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจก่อตั้งคลับแห่งการเรียนรู้งานอดิเรก ซึ่งเปิดพื้นที่มาเป็นเวลาถึง5 ปี

นริศราทำงานเป็นคุณครูสอนภาษาไทย และอยู่ในแวดวงการเขียนหนังสือมาก่อน ด้วยความที่สนใจความรู้ด้านการศึกษาจึงเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอินเดีย และได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดเรื่อง Informal Education หรือการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ “เราไม่ได้ไปเรียนเกี่ยวกับ Joy รัก คลับที่อินเดีย แต่ไปได้คีย์เวิร์ดคำว่า Informal Education ที่นั่น คือการสอนในรูปแบบลงมือทำ หรือการ workshop ซึ่งมันมีมาแล้วเป็นสิบปี พอกลับไทยก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเปิดสถาบันอะไร ไปสมัครงานตามปกติแต่เราก็เลือกที่ที่เราอยากทำ ที่ซึ่งเหมาะกับเรา เผอิญว่าไม่มีที่ไหนรับเราเข้าทำงานเลย ถ้าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร เราทำรูปแบบการศึกษาที่อยากทำขึ้นมาเองแล้วกัน ประจวบกับครูแป้น พัชรบูรณ์ ด่านโพธิวัฒน์ ได้กรุณาให้เราแชร์พื้นที่เปิดเป็น Joy รัก คลับขึ้นค่ะ

Informal Education คือการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ สมมติว่าคุณอยากเรียนการทำเซรามิค คุณอาจจะต้องเข้าเรียนคณะศิลปะหรือภาควิชาที่เปิดสอนทำเซรามิค ซึ่งวิธีดังกล่าวคือการศึกษาในระบบ หรือแบบเป็นทางการ ส่วนแบบไม่เป็นทางการคือการลงเรียนคอร์สสั้น ๆ ไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อเป็นศิลปินอาชีพต่อไป หรือคุณต้องการเรียนปักผ้าไทย โดยปกติอาจจะต้องเข้าไปเรียนในวิทยาลัยในวัง เรียนจันทร์  ศุกร์ แต่การเรียนแบบไม่เป็นทางการคือคุณสามารถเรียนจบหลักสูตรได้ใน 1 วัน รู้เทคนิคบางประการและได้ชิ้นงานกลับบ้าน ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้จะไม่ถูกล้อมกรอบด้วยระบบ ผู้เรียนมีสิทธิ์ช็อปปิ้งหลักสูตรที่ต้องการ ซึ่งก็คือความรู้ในการทำงานอดิเรกทั้งหมด แต่เราทำให้ดูจริงจัง มีหลักสูตรการสอน และมีเป้าหมาย

คอร์สเรียนของJoy รัก คลับ นั้นแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็น 5ด้าน ได้แก่ 1.ศิลปะ (Art) ซึ่งเน้นงาน Fine Art หรือวิจิตรศิลป์ 2.ศิลปะผสมกับหัตถกรรม (Art and Craft) เช่น การปักผ้าที่มุ่งเน้นในแง่งานศิลปะ 3.งานหัตถกรรม (Craft) เช่น งานปักผ้าที่ทำตามแบบแผน มีแพทเทิร์น4.DIYการพึ่งตัวเอง เช่น การทำสบู่ใช้เอง ทำยาสระผมใช้เอง และ 5. เรื่องปัจจุบันที่เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การจัดการการเงิน คอร์สนักอยากเขียน ซึ่งเกี่ยวพันกับยุคสมัยที่คนหันมาทำงานเป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัด Workshop Tripทริปท่องเที่ยวที่ผู้ร่วมเดินทางจะได้ทำงานแฮนด์เมดกับศิลปินตัวจริง เช่น เรียนการย้อมผ้าที่อินเดีย หรือไปดูโรงงานที่ทำงานหัตถกรรมโดยตรง เพื่อให้สัมผัสบรรยากาศสถานที่ทำงานฝีมือจริง ๆ เราเคยมีทริปStreet Photo Project พาคณะไปถ่ายรูปที่อินเดีย 6 วัน คืน แทบไม่มีตารางช็อปปิ้งซื้อของฝากเลย เพราะถ้าช็อปปิ้งก็จะไม่ได้ถือกล้อง พอจบทริปเราจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายคัดรูปเด็ด ๆ มาคนละ 5 รูป เราพยายามทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและได้ประโยชน์ด้วย ส่วนคนที่ลงคอร์สเรียนปกตินั้น Joy รัก คลับ ก็มีเทศกาลปล่อยของ หรือจำหน่ายผลงานที่ผู้เรียนทำขึ้น เรียกว่างาน จอยรัก เมลา’ ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง นอกจากจะได้ช็อปปิ้งงานฝีมือยังได้ผูกมิตรสร้างสายสัมพันธ์กับผู้คนที่ชื่นชอบอะไรคล้าย ๆ กันเพราะเราอยากจะสร้างให้เป็นชุมชนที่แท้จริง ไม่ใช่แค่สถานที่ที่คนเข้ามาเช็คอินครั้งเดียวแล้วจากไป

คอนเซ็ปต์ของ Joy รัก คลับ คือ คลับแห่งการเรียนรู้ไม่รู้จบ เพื่อไลฟ์สไตล์ที่สมดุลนริศราให้คำอธิบายถึงชีวิตที่สมดุลอันเกิดจากการทำงานอดิเรกว่า “คนที่มาที่นี่อาจเครียดจากงานแล้วต้องการมาผ่อนคลาย แทนที่เขาจะเข้าห้างช็อปปิ้งเสียตังค์ แต่ไม่ได้ผลงาน การมาที่นี่นอกจากได้ผลงานกลับบ้านแล้ว ยังได้สังคมใหม่ ได้ทดลองลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ความเครียดลดลง สมดุลชีวิตก็กลับมา 

ก่อนตั้งสถาบันเรามีความกังวลเหมือนกันว่า คนไทยจะยอมจ่ายตังค์เพื่อลงเรียนอะไรแบบนี้รึเปล่า แต่พอเราลงมือทำมาเรื่อย ๆ ก็พบว่ามีกลุ่มคนที่เลือกจะใช้เงินและใช้เวลาออกจากบ้านเพื่อเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ  ดังนั้น ถ้าเรายังไปต่อได้อยู่ย่อมแสดงว่างานอดิเรกยังคงมีคุณค่าในตัวของมัน ซึ่งเรามีคำพูดที่มักพูดอยู่เสมอว่า ทุกครั้งที่คุณขยับทักษะก็เพิ่มอีกหนึ่ง เมื่อไหร่ที่คุณไหลหน้าจอมือถือไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้ขยับก็ไม่เกิดทักษะอะไร เราไม่บอกว่าศตวรรษนี้งานอดิเรกสำคัญหรือไม่ แต่ใครทำใครได้ ถ้าคุณขยับทักษะคุณก็เพิ่ม

นริศราในฐานะผู้ก่อตั้งและคนที่ทำงานอดิเรกด้วยเช่นกัน เธอเล่าว่าเพิ่งกวนสบู่และทำชาหมักเสร็จไปไม่นาน สิ่งที่เธอได้รับจากการทำงานอดิเรกก็คือ การผสานวิถีชีวิตให้เป็นเรื่องเดียวกัน โดยการนำวิชาจากห้องเรียนต่าง ๆ มาใช้ ทั้งการนำความรู้ทางการเงินมาบริหารเงินตนเอง นำความรู้ทางด้านการทำสบู่ แชมพู ปักผ้า มาใช้เอง ซึ่งที่สุดแล้วผลที่ได้คือการพึ่งพาตนเอง และสร้างชีวิตที่สมดุลให้เกิดขึ้น

I love Hobbyจากมุมมองผู้ถ่ายทอดความรู้

เอส – อรรถพนธ์ ลิมปนพงศ์เทพ คือผู้สอนวิชาปักผ้าไทย หรือปักผ้าดิ้นเลื่อม เขาไม่อยากให้ใครเรียกเขาว่า  ’คร เพราะเกรงว่าตัวเองยังไม่มีคุณสมบัติเทียบชั้นครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่จะสามารถใช้คำนี้ได้ อีกทั้งนักเรียนหลายคนล้วนอาวุโสกว่าเขา จึงขอเป็นแค่ผู้ถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ที่มให้กันมากกว่า อรรถพนธ์เข้ามาสอนที่ Joy รัก คลับเพราะการชักชวนของนริศราที่สนใจในวิชาความรู้ของเขาและมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งหลายที่เอื้ออำนวยทำให้เขาได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้ที่นี่เป็นเวลา2 ปีแล้ว อรรถพนธ์เล่าถึงความตั้งใจว่า เขาอยากจะหาคนคุยด้วย คนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน เลยแจ้งความจำนงว่าแม้มีผู้สนใจลงเรียนแค่ 2 – 3 คน เขาก็จะเปิดสอน ส่วนค่าจ้างนั้นเขาขอรับในราคาที่ถูกที่สุดเพราะจุดประสงค์คืออยากหาเพื่อนคุยมากกว่าหากำไรจากการสอน

การสอนปักผ้าดิ้นเลื่อมที่ Joy รัก คลับ อาจแตกต่างจากการเรียนกับครูบาอาจารย์ที่จะสอนเทคนิคต่าง ๆ ไปตามลำดับ จากนั้นนำวิธีการทุกอย่างมารวมกันเพื่อสร้างเป็นลวดลาย ทว่าการเรียนในรูปแบบworkshop ไม่อาจจะเรียนไปตามลำดับนั้นได้ จึงเน้นที่การทำชิ้นงานหนึ่ง ๆ ซึ่งใช้เทคนิคใดเทคนิคหนึ่ง ไม่เน้นความความประณีตมาก แต่เน้นการรู้ขั้นตอนการทำและสามารถทำให้สำเร็จขึ้นมาได้ อรรถพนธ์กล่าวถึงความคาดหวังในตัวผู้เรียนว่า เพียงนำความรู้ที่ได้ไปฝึกฝน ไปทำต่อที่บ้านก็พอใจแล้วเพราะสุดท้ายไม่ได้อยากให้ผู้เรียนปักแต่ลายไทย แต่อยากให้มองว่าเป็นเทคนิคชนิดหนึ่งที่นำไปต่อยอดสร้างเป็นลวดลายต่าง ๆ จนหลุดจากกรอบที่เรียนมาได้ 

ในมุมมองของผู้ถ่ายทอดความรู้ เขากล่าวว่าอาจจะไม่เห็นลึกถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลที่มาฝึกฝนงานอดิเรกนี้ แต่การปักผ้าก็ช่วยให้ผู้เรียนมีความสงบขึ้น “ในด้านการทำงาน แน่นอนว่าฝีมือจะค่อย ๆ ดีขึ้น จากที่เคยยากมันก็ง่าย แต่ในด้านจิตใจ คนใจร้อนยังไงก็ใจร้อน เพราะผมเองก็ใจร้อน เพียงแต่ ณ ขณะที่เราทำงาน ถ้าเราร้อนงานก็พัง ดังนั้นเวลาที่ทำงานอยู่จึงต้องสงบ มันเป็นเครื่องกำกับใจให้จดจ่อต่องานที่ทำตรงหน้า ไม่ฟุ้งซ่านกับสิ่งอื่น ไม่ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน (หัวเราะ) แต่พอออกจากสมาบัติก็เป็นเหมือนเดิม (หัวเราะ)  

คนที่คิดว่าเครียดอยากจะมาปักผ้าให้หายเครียด เตือนก่อนเลยนะว่าอย่าคาดหวัง หลายคนตั้งใจจะปักสไบ โอ้โห แค่สองกลีบเท่านั้นหนีกลับบ้านไปเลย ลองเรียนรู้ดูก่อนว่าเราชอบไหม เพราะมันไม่ง่ายและต้องใช้ความเพียรพอสมควร ศิลปะไม่ได้เกิดจากสุข แต่เกิดจากทุกข์แล้วเราก้าวข้ามผ่านมันมาได้ เป็นความสุขจากความภูมิใจที่สามารถทำสิ่ง ๆ นั้นได้สำเร็จ 

แม้จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่การเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนปักผ้าก็ทำให้อรรถพนธ์ได้พบเจอมิตรสหายที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกันและสามารถพูดคุยได้อย่างถูกคอ อันเป็นประโยชน์ซึ่งห้องเรียนงานอดิเรกแห่งนี้ได้มีส่วนช่วยสร้างชีวิตที่สมดุลให้แก่เขาเช่นกัน 

I Love Hobby ในมุมของผู้ปฏิบัติ 

หลิน แอ๊ด และก้อย คือสุภาพสตรีสามคนซึ่งแม้จะต่างวัยแต่หัวใจดวงเดียวกัน เพราะเธอทั้งสามต่างเลือกที่จะทำงานอดิเรกชนิดเดียวกัน นั่นคือการ ปักผ้าดิ้นเลื่อม ซึ่งอรรถพนธ์เป็นผู้ถ่ายทอดวิชา ทั้งสามคนยังเลือกที่จะใช้การทำงานอดิเรกเป็นวิธีในการสร้างความสุขในวันว่างของพวกเธอ  

หลิน อัจฉรา สุภาพสตรีผู้มีอาชีพเกี่ยวพันกับงานบัญชี เริ่มเปิดประเด็นว่า สาเหตุที่เธอมาที่ Joy รัก คลับ เกิดจากความรู้สึกเบื่องานที่ทำอยู่เป็นประจำ ซึ่งความเบื่อนั้นไม่สามารถหายได้ด้วยการอ่านนิยายอย่างที่เคยได้ผลมาตลอด เลยมองหาอย่างอื่นที่มันท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจได้มากกว่า เพื่อออกจากวังวนความรู้สึกเบื่อที่เกิดขึ้นนี้ เธอผ่านการเรียนรู้มาหลายคอร์ส แต่รู้สึกถูกจริตกับคอร์สปักผ้าดิ้นเลื่อมมากที่สุด สิ่งที่ห้องเรียนปักผ้าให้ประโยชน์แก่หลิน คือการได้เจอผู้คนหลากหลายอาชีพ ออกจากกรอบสังคมเดิม และเพราะความหลากหลายเหล่านั้นทำให้เธอได้มุมมองใหม่ ๆ ได้เปิดโลกทัศน์ และทำให้เธอแก้ปัญหาความเบื่องานของเธอได้ถูกจุด ส่วนทำไมถึงต้องเป็นงานปักผ้าดิ้นเลื่อม หลินตอบว่า เพราะมันทำยาก ใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ แต่พอเสร็จแล้ว มันเกิดความรู้สึกปริ่ม และดื่มด่ำกับความภูมิใจได้นานกว่างานอดิเรกอื่น ๆ 

ไม่ต่างกับ แอ๊ด ณัฐวดี ลีวุฒิประเสริฐ แม่บ้านผู้สนใจงานฝีมือเป็นทุน ที่เลือกจะใช้การปักผ้าเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกเครียดเช่นเดียวกัน เธอก้าวเข้ามาในห้องเรียนของ Joy รัก คลับ ด้วยความจับพลัดจับผลู ทดลองลงเรียนหลักสูตรหนึ่งก่อนและติดใจ จากนั้นจึงลงเรียนหลักสูตรงานฝีมืออื่น ๆ ตามลำดับ จนได้มาเจอกับการปักผ้าดิ้นเลื่อม แอ๊ดกล่าวว่าการปักผ้าทำให้ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึก ทั้งที่เป็นคนใจร้อน แต่เมื่อจับงานเย็บปักถักร้อยปุ๊บจะต้องใจเย็นทันที มิฉะนั้นจะทำสำเร็จไม่ได้ แม้จะยาก แต่ขณะที่ทำก็ประกอบด้วยความสุขในทุกจังหวะ “มันมีความสุขตั้งแต่เริ่มต้น แล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อชิ้นงานเสร็จก็เติมเต็มความรู้สึกมากค่ะ” ความเปลี่ยนแปลงที่เธอสังเกตเมื่อทำงานปักผ้าคือ “อย่างที่บอกว่าการทำงานปักผ้าเหมือนได้ปลดปล่อยความเครียดลงไปในงาน จากนั้นจะรู้สึกว่าได้สติมากขึ้น ใจเย็นขึ้น สามารถมองเห็นปัญหาและแก้ไขได้ดีขึ้น” 

ส่วน ก้อย คัคนางค์ ศรีเจริญพันธ์ คุณครูผู้ไม่มีทักษะการเย็บปักถักร้อยมาก่อนนั้น แปลกกว่าคนอื่นหน่อยตรงที่เธอมาเพื่อเติมเต็มความฝันในการทำงานฝีมือที่สนใจตั้งแต่เด็กแต่ไม่ได้สานต่อ จนมาเจอกับ Joy รัก คลับ นอกจากจะได้วิชาที่ต้องการ ยังได้สังคมที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน ก้อยเพิ่มเติมอีกว่าหลังจากที่เธอมาเรียนปักผ้า สังเกตว่าตนเองมีความมัธยัสถ์กว่าเดิม จากที่เอะอะก็ทิ้ง ทั้งเศษด้าย เศษผ้า ทำเสียก็ทิ้ง หลัง ๆ มาเริ่มเก็บไว้เผื่อนำไปใช้ทดแทนได้ในอนาคต เริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งของมากขึ้น ถึงแม้คนจะมองว่าการปักผ้านั้นไม่ใช่งานง่าย ๆ ต้องใช้ความตั้งใจสูง อีกทั้งยังต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทำงานแต่ละชิ้น แทนที่จะคลายเครียดกับยิ่งสร้างความเครียด สำหรับก้อยมองว่ามันคือความท้าทายมากกว่า และขณะที่ปักก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ดูลมหายใจ เป็นการปฏิบัติธรรมเล็ก ๆ รูปแบบหนึ่ง ซึ่งผลที่เห็นชัดที่สุดคือ ทำให้เธอมีความรอบคอบ รู้จักกลั่นกรองการตัดสินใจมากกว่าเดิม และมีความละเอียดมากขึ้น 

ชิ้นงานที่ทำได้สำเร็จนอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ทำ ยังส่งต่อเป็นของขวัญแทนใจที่บรรจุความสุขอันเต็มเปี่ยมของผู้ให้ส่งไปถึงผู้รับอีกด้วย 


Facebook : Joyrukclub Thailand 

โทรศัพท์ 08 – 8696 – 3774, 08 – 3826 – 9537 

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!