สำนักพิมพ์ JLIT เปิดประตูวรรณกรรมคลาสสิคญี่ปุ่น

-

ในคอลัมน์ถนนวรรณกรรมเราพูดคุยกับสำนักพิมพ์มาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือนิยายรัก นิยายแฟนตาซี นิยายคลาสสิค หรือในหมวดสารคดี ประวัติศาสตร์ แต่เกือบทั้งหมดมักเป็นผลงานของนักเขียนบ้านเราหรืองานแปลจากภาษาตะวันตก ครั้งนี้เราจึงขอแนะนำหนังสือจากโลกตะวันออก อย่างประเทศญี่ปุ่น เพื่อนร่วมทวีปเอเชียกับเรา ที่ผ่านมาหนังสือแปลจากญี่ปุ่นครองใจนักอ่านชาวไทยอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าไม่เคยห่างหายจากความนิยม วันนี้สบโอกาสได้สนทนากับนักแปลญี่ปุ่นมากประสบการณ์ อรรถ บุนนาค และพรพิรุณ กิจสมเจตน์ ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ JLIT ผลิตงานแปลวรรณกรรมคลาสสิคจากญี่ปุ่น

พรพิรุณ กิจสมเจตน์ และ อรรถ บุนนาค

JLIT เริ่มต้นมาได้ยังไงคะ

พรพิรุณ: เริ่มจากเรามีต้นฉบับสูญสิ้นความเป็นคน ที่แปลเสร็จแล้ว พอดีได้คุยกับพี่อรรถซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ธรรมศาสตร์ว่าเสียดายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ เลยพูดกันเล่นๆ ว่ามาทำสำนักพิมพ์กันไหม เพราะเราก็ไม่ได้ทำงานประจำด้วย  จุดเริ่มต้นจึงเกิดจากบทสนทนาในร้านกาแฟ และต้นฉบับที่มีอยู่

อรรถ: จากนั้นก็ชวนอาจารย์น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ ผู้แปล ริง คำสาปมรณะ มาเป็นที่ปรึกษาของสำนักพิมพ์ JLIT จึงมีโครงการร่วมกับคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยให้นิสิตแปลเรื่องสั้นแล้วนำมาพิมพ์กับเรา เช่น ฝันสิบราตรี, บุงโก รวมเรื่องสั้นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่น

วรรณกรรมคลาสสิคญี่ปุ่นคือแนวทางหนังสือของ JLIT ที่ตั้งใจทำกันตั้งแต่ต้น?

อรรถ: ใช่ พอฟันธงว่าจะพิมพ์สูญสิ้นความเป็นคน เราก็คิดคอนเซ็ปต์ของสำนักพิมพ์ ที่แน่ๆ คือทำหนังสือแปลญี่ปุ่น แต่จะญี่ปุ่นแบบไหน พอดีสูญสิ้นความเป็นคน เป็นวรรณกรรมในยุคคินไดหรือยุคสมัยใหม่ เลยอยากเน้นทำหนังสือในยุคนี้เป็นหลัก (ญี่ปุ่นมีการแบ่งยุคสมัยของวรรณกรรมชัดเจน เช่น ยุคสมัยใหม่ ผลงานของ ดะไซ โอซามุ, นัตสึเมะ โซเซกิ, เอโดะงาวะ รัมโป ยุคปัจจุบันหรือยุคร่วมสมัย ผลงานของ  มูราคามิ ฮารูกิ) และวรรณกรรมแบ่งกว้างๆ เป็นสองประเภท ได้แก่ pure literature (วรรณกรรมบริสุทธิ์) กับ popular literature (วรรณกรรมกระแสหลักหรือวรรณกรรมตลาด) ในยุคคินไดมีวรรณกรรมสองประเภทนี้เช่นกัน เราก็อยากแนะนำงานทั้งสองประเภทให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จัก

พรพิรุณ: เรามองตลาดงานแปลญี่ปุ่นในไทยร้อยละ 90 เป็นวรรณกรรมร่วมสมัย มีบ้างที่เป็นงานจากยุคคินได แต่มีส่วนน้อยที่แปลจากภาษาญี่ปุ่นโดยตรง ส่วนมากเป็นการแปลผ่านภาษาที่สองคือภาษาอังกฤษ เราสองคนคลุกคลีในวงการแปลมาพอสมควร และเล็งเห็นปัญหาของวรรณกรรมที่ไม่ได้แปลจากภาษาต้นฉบับนั้นมีอะไรบ้าง จึงคิดกันว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราแปลจากภาษาต้นทางเลย

ปัญหาของงานแปลที่ไม่ได้แปลจากภาษาต้นฉบับคืออะไร

อรรถ: บางครั้งฝรั่งเขาแปลโดยตีความหรือใช้สำนวนเพื่อให้คนชาติเขาเข้าใจ ตัวอย่างกรณีศึกษาวรรณกรรมเรื่องอาทิตย์สิ้นแสง ของ ดะไซ โอซามุ ซึ่งอ.มาลินี แก้วเนตร เคยมีการแปลไทยมาก่อนโดยใช้ชื่อว่าอาทิตย์ลับฟ้า อาจารย์แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ในเรื่องมีฉากที่แม่นางเอกกับนางเอกซึ่งเป็นครอบครัวที่เคยมีเชื้อแถวแต่ถูกถอดยศสมัยสงครามโลก ไปรักษาตัวกับหมอที่ต่างจังหวัด คุณหมอก็ให้เกียรติเห็นว่าเคยเป็นคนตระกูลสูงศักดิ์ จึงสวมถุงเท้าทาบิสีขาวมารักษา เวลาที่สวมกิโมโนแล้วสวมถุงเท้าทาบิถือเป็นชุดสุภาพ ชุดพิธีการ ทีนี้พอฝรั่งแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ เขาเปลี่ยนบริบทเพื่อให้คนชาติเขาเข้าใจ จากการสวมถุงเท้าเป็นสวมถุงมือสีขาว white gloves คนตะวันตกเข้าใจทันทีว่าเพื่อความสุภาพ เราเห็นความคลาดเคลื่อนตรงนี้จึงคิดว่า ถ้าแปลจากภาษาญี่ปุ่นโดยตรง เราสามารถรักษาเนื้อความดั้งเดิมมากกว่า เสมือนรักษากลิ่นอายวาซาบิโดยไม่ผสมนมเนยในนั้น

พรพิรุณ: ส่วนทำไมที่ผ่านมามีคนแปลจากภาษาญี่ปุ่นน้อย เพราะยาก ภาษาต้นฉบับเป็นภาษาคนละยุคกับที่ใช้ในปัจจุบัน ตัวคันจิปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ลดทอน (simplify) แล้ว บางทีก็ต้องใช้การเดา แต่โชคดีที่เราเป็นนักแปลในยุคอินเตอร์เน็ต จึงสืบค้นได้ง่ายกว่าคนสมัยก่อนที่ต้องมานั่งเปิดดิคฯ

แนวทางหนังสือของสำนักพิมพ์คือวรรณกรรมคลาสสิค กังวลไหมว่าคนอ่านจะมีเพียงกลุ่มเล็กๆ

พรพิรุณ: ตอนแรกที่คุยกันเรามองว่าตลาดหนังสือไทยมีกลุ่มคนอ่านวรรณกรรมคลาสสิคของตะวันตกอยู่จำนวนหนึ่ง และมีความเป็นไปได้ที่เขาจะหันมาอ่านวรรณกรรมคลาสสิคของตะวันออกด้วย เราคาดการณ์ไว้ที่สองถึงสามพันคน เป็นนิชมาร์เก็ต (niche market-ตลาดเฉพาะกลุ่ม) คือเราเองก็หวังจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคิดว่าน่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่โตขึ้นมาและสนใจอ่านแนวนี้ หรือนักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่ต้องซื้ออ่าน เราหวังกลุ่มเล็กๆ นี้ เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราชวนกันมาตั้งสำนักพิมพ์เกิดจากความอัดอั้น สมัยที่เราเป็นนักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่น มีการเรียนการสอนเรื่องสั้นญี่ปุ่น แต่เราไม่สามารถหาหนังสืออ้างอิงได้ จะให้อ่านต้นฉบับเลย ด้วยความรู้ของเด็กปีสามปีสี่ก็ไม่สามารถ ได้แต่ฟังอาจารย์เล่าว่าเนื้อเรื่องเป็นแบบนี้ นักวิจารณ์เขากล่าวอย่างนี้ เป็นความอัดอั้นซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจให้เราอยากทำหนังสือคลาสสิคญี่ปุ่นเผยแพร่ในประเทศไทย

 

วางแผนการออกหนังสืออย่างไร

พรพิรุณ: ใจจริงเราอยากออกหนังสือให้ถี่ แต่เนื่องจากเราทำกันแค่ไม่กี่คน เลยหวังไว้ที่ปีละ 5-6 เล่ม แต่ก็ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าต้องวรรณกรรมบริสุทธิ์สลับวรรณกรรมตลาดนะ เราเลือกแปลจากความชอบเป็นที่ตั้ง ก็มาจากความอัดอั้นของเราสองคนอีกนั้นแหละ สมัยที่ทำงานสำนักพิมพ์ใหญ่แล้วเสนองานไม่ผ่าน ต้องแปลเล่มที่ไม่ได้ชอบมากนัก แล้วต้องอยู่กับมันอย่างน้อยสามสี่เดือน เป็นความทรมานของอาชีพนักแปลที่หลายคนไม่รู้

สูญสิ้นความเป็นคน คือหนังสือเล่มที่ขายดีที่สุดของสำนักพิมพ์ และสร้างปรากฏการณ์ซึ่งไม่ได้คาดคิดมาก่อน

อรรถ: ใช่ เล่มนี้ทำให้เรามีกำลังใจผลิตหนังสือออกมาอีก วรรณกรรมเรื่องนี้ดังมากในประเทศญี่ปุ่น เป็นหนังสือที่วัยรุ่นญี่ปุ่นต้องอ่าน ช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเอง หัวเลี้ยวหัวต่อ หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนประตูไขไปสู่คำตอบของปัญหาที่วัยรุ่นกำลังเผชิญ และไม่เคยมีคนแปลเป็นภาษาไทย เราจึงคิดว่าเหมาะสมที่จะแนะนำให้คนไทยรู้จัก ที่จริงช่วงแรกเรามีความกังวลเหมือนกัน เพราะเนื้อหาดูมืดมนแล้วจะมีผลกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารึเปล่า กลัวไปทำให้เขาคิดฆ่าตัวตาย แต่หลายคนกลับบอกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอ่านเรื่องนี้แล้วไม่รู้สึกอยากฆ่าตัวตายอีก เพราะตัวละครได้ทำสิ่งต่างๆ แทนเขาไปแล้ว และยังช่วยให้เขาพบว่าไม่ได้เป็นคนเดียวในโลกที่รู้สึกแบบนี้ เหมือนได้เจอเพื่อน ได้แชร์ความรู้สึกร่วมกัน แต่ในทางกลับกัน คนที่ไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้าอาจรู้สึกว่าเนื้อหามืดมนหดหู่มาก

พรพิรุณ: นอกจากการเป็นวรรณกรรมชื่อดังแล้ว ปัจจัยที่ไม่คาดคิดมาก่อนซึ่งช่วยให้หนังสือเล่มนี้ขายดี คือกระแส “จินยองอ่าน” (จินยอง สมาชิกบอยแบนด์เกาหลีวง Got7 ผู้ปลุกกระแสให้เด็กวัยรุ่นอ่านหนังสือตามเขา) อยู่ๆ เด็กก็หันมาสนใจอ่านจนป้ากับลุงตั้งตัวไม่ทันว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วยังมีกระแสจากอนิเมชั่นญี่ปุ่นเรื่อง คณะประพันธกรจรจัด (Bungo Stray Dogs) ซึ่งนำนักเขียนวรรณกรรมคลาสสิคมาเป็นตัวละคร ด้วยความที่เป็นการ์ตูนแนวต่อสู้ปล่อยพลัง เลยมีการใช้ท่าไม้ตายชื่อ “สูญสิ้นความเป็นคน” แฟนการ์ตูนเขาอยากรู้ว่าเรื่องราวต้นฉบับเป็นยังไง ก็ตามมาซื้อหนังสือกันจนพวกเราตกใจ แถมลุงกับป้ายังโดนฟีดแบ๊คจากเด็กว่าออกแบบปกเชยจัง เหมือนหนังสือลายไทย (ฮ่า)

 

จึงเป็นที่มาของการทำ jacket หรือปกชั้นนอกลายเส้นการ์ตูน?

พรพิรุณ: ใช่ มีน้องๆ แฟนคลับเรียกร้องเข้ามาเยอะจนเราไม่ทำไม่ได้แล้วแหละ เนื่องจากสำนักพิมพ์เราไม่ได้มีทุนมากมายก็จำเป็นต้องขอสปอนเซอร์ ดังนั้นที่เราแจกปก jacket จำนวนจำกัด ไม่ใช่ว่าเย่อหยิ่ง แต่เรามีงบจำกัดจริงๆ จึงทำเท่าที่ทำได้ และเราอยากสนับสนุนนักวาดการ์ตูนไทย ต้องชื่นชมจริงๆ ว่านักวาดรุ่นหลังมีศักยภาพสูง

อรรถ: ตอนนี้แฟนคลับของเราแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ เขาชอบปก jacket แบบต้องเอามาให้ได้ ในขณะที่สายวรรณกรรมซึ่งเป็นแฟนคลับดั้งเดิมเขาไม่แลเลย ทำ jacket ทำไมไม่เข้าใจ เราพยายามเป็นนางงามมิตรภาพรักทุกคนประคองทั้งสองกลุ่ม กลายเป็นว่าช่วงงานหนังสือ คอวรรณกรรมจะซื้อหนังสือของเราจากบูธฝากขาย เพราะบูธเราวุ่นวายมีเด็กเยอะ หรือไม่เขามาช่วงเย็นย่ำที่ซาจากความวุ่นวายแล้ว

คุณคิดว่าการเป็นสำนักพิมพ์เล็กมีข้อดีข้อด้อยอะไรบ้าง

พรพิรุณ: ข้อดีก่อน คือความคล่องตัวในการกำหนดนโยบาย เราโทรคุยกับพี่อรรถแล้วตัดสินใจได้ก็จบเลย และง่ายแก่การคุมคอนเซ็ปต์ของสำนักพิมพ์ ปัจจุบันต้องจับกลุ่มนีชมาร์เก็ตถึงจะอยู่รอด เพราะลักษณะตลาดเปลี่ยนไปแล้ว

อรรถ: เราเชื่อว่าสิ่งพิมพ์ยังไม่ตายและไม่มีวันตาย เพียงแต่จะกลายเป็นนีชมาร์เก็ต ไม่เฉพาะหนังสือนะ ทุกสิ่งที่เป็นความชอบ เป็นรสนิยม เมื่อเงินมีจำกัด เวลามีจำกัด จึงต้องทุ่มให้แก่สิ่งที่หลงใหลที่สุด

พรพิรุณ: ส่วนข้อด้อยคืออำนาจต่อรอง เราพิมพ์น้อย ต้นทุนสูง ไม่สามารถวางหนังสือให้ผู้บริโภคเห็นได้เป็นวงกว้าง เพราะไม่อยากเห็นหนังสือของเราเหลือแล้วถูกขายลดราคา ฉะนั้นเราเลือกที่จะโดนบ่นว่าหาหนังสือยากจังดีกว่า

 

 

ถ้าอยากเจอหนังสือ JLIT จะเจอได้ที่ไหน

อรรถ: ร้านนายอินทร์และซีเอ็ดบุ๊คส์บางสาขา คิโนะคูนิยะทุกสาขา และในเพจเฟซบุ๊ก abookfreebook ซึ่งเป็นสายส่งของเรา ส่วนเพจ JLIT นั้นไม่มีขายออนไลน์ เพราะเราทำงานกันแค่สองคน ถ้าให้แปลด้วย ขายด้วย คงไม่ไหว ให้เป็นหน้าที่ของสายส่งดีกว่า เพจ JLIT เน้นพูดคุยแนะนำหนังสือ และลงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราคิดว่าช่วยให้อ่านหนังสือสนุกขึ้น

คุณสองคนคร่ำหวอดในวงการหนังสือแปลญี่ปุ่น มองตลาดหนังสือญี่ปุ่นจากนี้เป็นยังไง

อรรถ: กระแสหนังสือญี่ปุ่นไม่มีวันหาย ไปได้เรื่อยๆ อย่างช่วงหนึ่งหนังสือสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นฮิตมาก ต่อด้วยหนังสือของมูราคามิ ฮารูกิ แล้วก็มีแนวญี่ปุ่นอบอุ่นหัวใจ ยุคหนึ่งแนว self-help (ปรับปรุงและพัฒนาตนเอง) ก็ดัง เช่น หนังสือจัดบ้านของคนโด มาริเอะ

พรพิรุณ: เราว่ากระแสหนังสือญี่ปุ่นเหมือนกับที่คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น เราอาจไปเที่ยวโตเกียวสักห้าครั้งแล้วเบื่อ ก็เริ่มหาจุดหมายใหม่ ถามว่าคุณไปประเทศอื่นแล้วจะเลิกไปญี่ปุ่นอีกเลยรึเปล่า ก็ไม่ใช่

การเติบโตของ JLIT ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

อรรถ: เรากำลังสนใจหนังสือประเภท non-fiction (สารคดีหรือสาระความรู้) อาจแตกเป็นสำนักพิมพ์ลูกเหมือน JLittle ที่เน้นทำวรรณกรรมเยาวชน แน่นอนว่ายังยึดยุคสมัยคินไดและเรื่องญี่ปุ่นเป็นแกนหลักเหมือนเดิม อาจเพิ่มนักเขียนไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น

3 เล่ม ซึ่ง สนพ. JLIT อยากแนะนำ

  • สูญสิ้นความเป็นคน โดย ดะไซ โอซามุ

คัมภีร์ของเด็กวัยรุ่นที่กำลังตามหาตัวเอง หนังสือเล่มนี้จะเป็นเพื่อนซึ่งช่วยแชร์ความรู้สึกนึกคิด และยังแสดงผลลัพธ์ของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหากเลือกเส้นทางเช่นนี้ คนแต่ละช่วงวัยเมื่อได้กลับมาอ่านจะเกิดมุมมองใหม่

  • เรื่องชุด ยอดนักสืบ อาเคจิ โคโกโร่ โดย เอโดงาวะ รัมโป

เป็นวรรณกรรมประเภท popular literature ที่โด่งดังจนถึงยุคปัจจุบัน นิยายสืบสวนที่มีบรรยากาศสยองขวัญ และมีความวิปลาสในการดำเนินเรื่อง ความสนุกคือเนื้อเรื่องที่เหนือความคาดเดา

  • บุงโก รวมเรื่องสั้นของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งญี่ปุ่น

รวมเรื่องสั้นของนักเขียนหลายๆ ท่านจากยุคสมัยคินได หลายคนไม่เป็นที่รู้จักของคนไทย เลยนำผลงานมาแนะนำให้รู้จักกัน

 

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!