จิมมี่-ซี หลากเส้นทาง สร้างความฝัน

-

จิมมี่-ซี สองหนุ่มนักแสดงชมีเส้นทางชีวิต มีความฝันแตกต่างกัน ‘จิมมี่’ จิตรพล โพธิวิหค มาทางสายสุขภาพ เป็นคุณหมอซึ่งปัจจุบันเรียนต่อเฉพาะทางด้านผิวหนังอยู่ ส่วน ‘ซี’ ทวินันท์ อนุกูลประเสริฐ มาทางสายกีฬา อดีตนักกีฬาแบดมินตัน ผู้เคยมีเป้าหมายไปถึงการติดทีมชาติ จิมมี่และซีมาเจอกันครั้งแรกในซีรีส์ Vice Versa รักสลับโลก เคมีระหว่างเขาทั้งสองถูกอกถูกใจแฟนคลับ จนนำมาสู่ผลงานเรื่องล่าสุด Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม แม้ทั้งคู่จะมาจากคนละเส้นทาง แต่วันนี้พวกเขามีความฝันร่วมกันคือการเป็นตัวจริงในวงการบันเทิง

‘จิมมี่’ จิตรพล โพธิวิหค

1. 

“ผมเป็นคนเพอร์เฟกชันนิสต์ ถ้ามีแบบทดสอบให้ทำก็เชื่อว่าได้ผลตามนี้แน่ครับ เราให้จิมมี่ลองนิยามตัวเอง เพื่อให้เรารู้จักคร่าวๆ เป็นการปูพื้น “คือถ้าผมทำสไลด์พรีเซนต์ ทุกอย่างจะอยู่กึ่งกลาง จะเท่ากัน แต่ไม่ถึงขั้น OCD (obsessive compulsive disorder โรคย้ำคิดย้ำทำ) ไม่แขวนเสื้อผ้าเรียงสี ห้องนอนก็ไม่เป็นระเบียบขนาดนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องงานก็ต้องการความสมบูรณ์แบบ” 

จิมมี่เล่าถึงช่วงวัยเด็กว่า พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นพี่คนโตและมีน้องสาวหนึ่งคน เรียนโรงเรียนอัสสัมชัญตั้งแต่ประถมถึงมัธยม จัดเป็นเด็กเรียนเก่ง ซึ่งเกิดจากการกวดขันของคุณแม่ “ไม่รู้ทำไมแม่ถึงเน้นวิชาเลขเป็นหลัก ช่วงปิดเทอมใหญ่ 3 เดือน ถ้าผมอยู่ชั้น ป.1 กำลังจะขึ้น ป.2 แม่จะซื้อแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ของ ป.2 มาให้ผมฝึกทำ ต้องทำวันละ 20 หน้าให้เสร็จก่อนถึงจะไปเล่นได้ เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึง ป.6 เลขเลยเป็นวิชาที่ผมถนัด ทำได้ดี ส่วนวิชาอื่นเราก็ไม่ทิ้ง เป็นเด็กเรียนดีได้เกรด 4 ครับ

“ส่วนกิจกรรมผมก็ไม่ละเลย ชอบเล่นกีฬา เช่น ว่ายน้ำ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เคยเป็นนักกีฬาปิงปองให้โรงเรียน ดนตรีก็เล่น ผมดูโหมโรงปุ๊บเกิดแรงบันดาลใจเรียนระนาดเอกเลย ฝึกจนเกือบจะเป็นนักดนตรีของโรงเรียนอยู่แล้ว ด้านดนตรีสากลก็ชอบเป่าแซ็กโซโฟน แต่พอเรียนหมอก็ทิ้งดนตรี เหลือแต่การเล่นกีฬาคือว่ายน้ำกับบาสเกตบอลเท่านั้น เพราะไม่มีเวลา”

เส้นทางการเป็นหมอของจิมมี่ ไม่ได้เริ่มจากอยากเป็นหมอ แต่เริ่มจากอยากสอบหมอ “ผมโชคดีที่รู้ตัวตั้งแต่ ม.4 ว่าอยากสอบหมอ ยังไม่ใช่ความอยากเป็นหมอ แค่อยากสอบให้ผ่าน และคิดว่าความสามารถเราน่าจะทำได้ด้วย เลยตั้งเป้าหมายคือการสอบ และเริ่มเรียนพิเศษ ผมเรียนจบเนื้อหาของ ม.6 ตอนอยู่ชั้น ม.5 เทอม 2 ใช้วิธีเรียนพิเศษทุกวัน ทุกวิชา ขนาดวันสอบไฟนัลช่วง ม.4-5 ผมทำข้อสอบเสร็จเร็วก็พุ่งไปเรียนพิเศษต่อ เพื่อนชวนเตะบอลก็ไม่ไป พอขึ้น ม.6 ผมก็ตะลุยทำแบบฝึกหัดเก่าๆ เลย เพราะเราเรียนเนื้อหาทั้งหมดจบแล้ว”

ความตั้งใจจริงนี้ทำให้จิมมี่สอบติดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะรุ่นพี่ที่ผ่านช่วงยากลำบากมาแล้ว จึงมีคำแนะนำที่อยากฝากถึงรุ่นน้องว่า “ผมคิดว่าการสอบหมอไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าใจเรามุ่งมั่นย่อมจะทำสำเร็จแน่นอน ทว่าของจริงคือหลังจากสอบผ่านต่างหาก ถ้าคิดว่าการอ่านหนังสือสอบเข้าคณะแพทย์คือหนักแล้ว อยากจะบอกว่ามันแค่เศษเสี้ยวกับสิ่งที่ต้องอ่านเมื่อเข้าไปเรียนจริง ช่วงปี 2 น้องๆ จะเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีเรียนกับอาจารย์ใหญ่ เพื่อนบางคนก็ไม่ไหว แต่สุดท้ายก็ต้องกัดฟันทำให้ได้ เราจะมีสอบทุกเดือน บางครั้งก็สองอาทิตย์สอบที แล้วเนื้อหาเยอะพอๆ กับที่ ม.6 หรือ ปี 1 สอบจบเทอม 

“พอขึ้นปี 4 ได้เข้าโรงพยาบาลครั้งแรก และเจอการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง คนในโรงพยาบาลจะคาดหวังในตัวน้องให้เป็นหมอในแบบที่ทุกคนอยากเห็น มันมีมาตรฐานที่เขาหวังไว้ ต่อให้เราใฝ่ฝันอยากเป็นหมอในแบบของเรา ก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ด้วย เป็นช่วงที่จะต้องปรับบุคลิกภาพ การพูดจา การปฏิบัติตัวครั้งใหญ่ พอจบปี 4 คณะจะให้เลือกว่าถ้าไม่อยากเรียนหมอต่อก็สามารถรับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตได้เลย น้องจะพบว่ามีเพื่อนส่วนหนึ่งถอดใจ แต่เขาก็ไปได้ดีในทางที่เลือกเดิน 

“ส่วนน้องที่อยู่ลุยต่อจนจบปี 6 จะเจอด่านชีวิตหมอที่แท้จริง ทุกคนต้องไปใช้ทุน ต่อให้จบจากเอกชนหรือต่างประเทศก็ต้องใช้ทุน เราจะได้เป็นหมอจริงๆ ครึ่งตัวแล้ว เพราะมีเลข มีลายเซ็น เซ็นสั่งพยาบาลได้ แต่ยังอยู่ในความดูแลของพี่และอาจารย์ เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยมาก แต่ก็มีค่า เราจะได้ฝึกทักษะการคุยกับคนไข้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต”

แม้เรื่องเล่าจากหมอจิมมี่จะฟังดูเหนื่อยและหนัก แต่เจ้าตัวบอกว่าชีวิตการเรียนของเขาไม่ได้เคร่งเครียดขนาดนั้น “ผมไม่หวังว่าต้องได้ที่หนึ่ง แค่เรียนเอาผ่าน เลยไม่เครียดกับผลการเรียน ชิลล์ๆ อย่างสมัยมัธยมผมอยู่ห้องทุน ถ้าเรียนได้เกรด 3.5 ขึ้นไปจะได้เงินเทอมละหมื่นหก ผมก็พยายามทำให้ได้มาทุกเทอมจน ม.6 เกรดไม่ถึง แต่ผมไม่เสียใจเลย ไม่ได้ก็ไม่ได้ เรียนหมอก็เหมือนกัน ปี 1 วิชาหมอผมได้ที่ 10 ของรุ่น ปี 2 ร่วงไปที่ 150 จาก 250 คน บางวิชาได้ที่ 20 บางวิชาได้ที่ 200 ก็ไม่เป็นไร”

ปัจจุบันหมอจิมมี่กำลังเรียนต่อเฉพาะทางด้านผิวหนัง “ตอนแรกผมเคยคิดจะเรียนเป็นหมอกระดูก ช่วงปี 6 ที่เราต้องฝึกทุกแผนก ได้เห็นการทำงานจริง เลยกลับไปคิดว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เราจะอยู่ตรงไหนดีที่สามารถเป็นได้ทั้งนักแสดงและหมอ สุดท้ายก็เหลือแค่สาขาผิวหนังที่เป็นไปได้ อีกเหตุผลที่เลือกเพราะผมชอบทำหัตถการเล็ก เช่น การฉีดหน้า ยิงเลเซอร์ หรือผ่าตัดเล็ก ชอบตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์แล้ว และสาขาผิวหนังก็มีโอกาสทำงานลักษณะนี้เยอะ” หัตถการเล็กน่าสนใจอย่างไร เราถามต่อ “ถ้าเราเป็นคนละเอียดรอบคอบก็ค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง ไม่เสี่ยงแบบการผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดสมอง ผ่าตัดหัวใจ ซึ่งใช้แรงและกำลังคนมาก การผ่าตัดหัวใจบางครั้งต้องใช้เวลา 10-16 ชั่วโมง หมอคนเดียวทำไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนเวรผ่า แต่บางคนก็สามารถลุยเองคนเดียวได้ มีเพื่อนผมที่ชอบการอยู่ห้องผ่าตัด แต่ผมไม่ไหว ชอบผ่าตัดเล็กที่ทำเร็ว ทำง่าย ปลอดภัยมากกว่า”

2.

การเข้าสู่วงการบันเทิงของจิมมี่นั้น ไม่ได้เป็นไปแบบจับพลัดจับผลู แต่เป็นการไปในเวลาที่เขาพร้อม “ช่วงผมเรียนปี 2-3 มีคนเข้ามาทาบทามเยอะ ผมก็บอกพวกเขาไปว่า ยินดีที่จะทำงานนะครับ แต่! ผมขอเรียนจบก่อน ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 2-3 ปีกว่าจะจบ ไม่มีใครรอผมหรอก จนเจอพี่บอย ผู้จัดการส่วนตัว ผมนั่งอ่านหนังสือในร้านประจำคือสตาร์บัคส์ ห้างเมญ่า ที่เชียงใหม่ พี่บอยนั่งใกล้ๆ ผมรู้ว่าเขาเหล่ๆ เราอยู่ แล้วเขาก็ส่งข้อความมา ผมเลยบอกเงื่อนไขตามเดิม แต่พี่บอยรอ จนเรียนจบปี 6 ผมยังขอให้รอเพิ่มอีกหนึ่งปี ขอไปใช้ทุนก่อน เขาก็พร้อมรอ

“งานแรกพี่บอยพาผมไปประกวดหนุ่มคลีโอ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่จัด แล้วก็พาไปแคสต์โฆษณา และเข้ามาแนะนำตัวที่ GMMTV พี่ ‘ถา’ สถาพร พานิชรักษาพงศ์ บอกให้พรุ่งนี้มาเซ็นสัญญาเลย ผมก็ครับๆ”

แค่เพื่อนครับเพื่อน คือผลงานการแสดงเรื่องแรกของจิมมี่ เขาได้เรียนรู้จากเพื่อนนักแสดงมากฝีมือและประสบการณ์ เช่น ‘นนน’ กรภัทร์ ‘โอม’ ภวัต และยังรับการเคี่ยวกรำจากผู้กำกับ ‘ออฟ’ นพณัช ชัยวิมล ซึ่งได้กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในผลงานล่าสุด Last Twilight ภาพนายไม่เลยลืม

“ในเรื่อง Last Twilight ผมรับบทเป็น ‘หมอก’ เขามีฐานะยากจน พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว เหลือแค่พี่สาวซึ่งเป็นพยาบาลส่งเสียเลี้ยงดูและเป็นญาติสนิทที่เหลือเพียงคนเดียว ผมดันรู้ว่าพยาบาลโรงพยาบาลรัฐนั้นทำงานหนักขนาดไหน ก็เลยอิน พี่สาวนั้นส่งเสียหมอกเรียนช่าง เขาก็ไม่ได้ช่วยแบ่งเบาภาระ เอาแต่ก่อเรื่องชกต่อยชาวบ้าน จนโดนจับเข้าคุก ตอนอ่านบทครั้งแรกผมคิดในใจ ‘ตรงไหนที่เหมือนตัวเราวะ’ แค่อย่างเดียวที่น่าจะเหมือนกันคือน้ำเสียง เสียงของผมน่าจะพอหาเรื่องคนได้ นอกนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

“ผมไม่มีภาพเลยว่าคนอย่างหมอกควรมีรูปลักษณ์ภายนอกแบบไหน ตอนเล่น Vice Versa The Series รับบทเป็นดาราซูเปอร์สตาร์ ยังพอรู้ว่าต้องเตรียมตัวเตรียมหุ่นแบบไหน แต่เรื่องนี้ภาพในหัวว่างเปล่าเลย เกือบไปโกนหัวให้เหมือนคนคุกแบบซีรีส์ฝรั่ง Prison Break แต่พี่ออฟ ผู้กำกับห้ามไว้ ใจเย็นก่อนนี่ซีรีส์วายนะ (หัวเราะ) พี่ออฟเลยสั่งให้ไปเพิ่มน้ำหนัก แล้วผมดูหน้าใสจับต้องยาก อันที่จริงผมก็ดูแลตัวเองปกตินะ เล่นกีฬา กินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ ส่วนผิวพรรณ เราเรียนเฉพาะทางผิวหนังก็ผลัดกันยิงเลเซอร์กับรุ่นพี่เป็นปกติ ช่วงเตรียมตัวก็ต้องหยุดยิงก่อน ปล่อยหนวดขึ้น ทำเท่าที่ได้ พี่ออฟก็โอเค ดูเป็นคนปกติขึ้นหน่อย (หัวเราะ)”

แม้ปีนี้หมอจิมมี่จะอายุ 29 แล้ว แต่ยังเป็นเป้าหมายหลักที่น้องๆ นักแสดงและทีมงานรุมหยอกเย้า “บรรยากาศกองถ่ายครื้นเครงมาก ทุกคนชอบแกล้งแหย่ผม ไม่รู้ทำไม เป็นตั้งแต่สมัยเล่นแค่เพื่อนครับเพื่อนแล้ว ตอนเล่นซีรีส์เรื่องนั้นผมโตสุดในกลุ่มนักแสดง แต่โดนน้องๆ รวมทั้งทีมงานแกล้งตลอด ผมเป็นคนไม่ตอบโต้ ล้อมาก็เฉย จนพี่ออฟเห็นก็บอกหัดสู้บ้าง ผมสู้ในแบบของผมนะ คือสู้ด้วยการไม่สนใจ เดี๋ยวแซวจนเบื่อก็เลิกเอง ส่วนการทำงานกับซีเข้าขากันดี น้องเก่งขึ้นเยอะมาก ต้องขอชมเลย บางซีนผมเล่นได้เพราะน้อง 

“ผมไม่รู้ว่าซีเตรียมตัวยังไง แต่เชื่อว่าเขาเป็นนักแสดงที่ทำการบ้านเยอะระดับหัวแถว ผมเป็นสไตล์ถ้าหาแคแรกเตอร์เจอแล้วก็เหลือแค่จำบท โชคดีที่เราใช้เวลาไม่นานในการจำ พอสวมบทเป็นหมอกไปได้สักพักก็ยิ่งเข้าใจแคแรกเตอร์มากขึ้น เลยใช้เวลาน้อยลง แต่ซีน่าจะทั้งอ่าน ทั้งอัดเสียงตัวเอง รวมถึงโทร. ปรึกษากับพี่ออฟ ใช้คำว่า ‘ทุ่มเท’ และ ‘ตั้งใจ’ ได้อย่างไม่เกินจริง และสิ่งที่น้องทำก็เห็นผล น้องเป็นนักแสดงที่ดีคนหนึ่งเลย”

‘ไม่มีวันพรุ่งนี้’ คือสิ่งที่หมอกได้สอนจิมมี่ “ตัวละครตัวนี้พบเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องเสียใจทีหลัง เพราะความเกเรเลยโดนจับ และไม่ได้รับโทรศัพท์จากพี่สาว กลายเป็นแผลในใจของเขา หลังจากนั้นไม่ว่าเรื่องอะไร ถ้าคิดจะทำคือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่มีคำว่า ‘เดี๋ยว’ ถ้าจะทำต้องทำเลย บางครั้งตัวผมมีความขี้เกียจ ความเป็นหมอกก็กระตุ้นให้เรากระตือรือร้นขึ้น”

ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากโลกสายวิทย์และสายศิลป์ “อาชีพหมอเป็นอาชีพที่ต้องการความน่าเชื่อถือ มีความภูมิฐานหน่อย แต่ผมกลับมีจุดอ่อนที่หน้าเด็ก อายุ 29 ปีแล้วยังโดนคนไข้ถาม หมอเพิ่งจบรึเปล่าเนี่ย หมออายุเท่าไหร่ นัยของคำถามนี้คือความลังเล ความไม่เชื่อมั่นในตัวเรา จะช่วยกูได้หรอวะ เวลาผมทำงานหมอจึงเป็นเวอร์ชันที่นิ่งกว่าเดิม ตอนนี้อาจคิดว่าผมพูดชัดถ้อยชัดคำแล้ว แต่เวลาตรวจคนไข้จะยิ่งเพิ่มดีกรีให้ดูน่าเชื่อถือ ดูเป็นผู้ใหญ่ เพื่อกลบจุดอ่อนเรื่องความหน้าเด็กของเรา ทว่าจุดอ่อนนั้นกลับเป็นจุดเด่นในวงการบันเทิง และทำให้ผมได้มาเป็นนักแสดง ได้เข้า GMMTV วงการบันเทิงไม่ต้องการความภูมิฐาน มีหลักการไปเสียทุกอย่าง วงการบันเทิงลดความพยายามเข้มขรึมของเรา และเพิ่มสีสัน เพิ่มความเป็นมนุษย์ให้เรา เวลาเราทำงานหมอ เราใกล้ชิดความเป็นความตาย แผล เลือด จนความรู้สึกด้านชาโดยไม่รู้ตัว การเข้ามาทำงานวงการบันเทิงช่วยให้เรารู้สึกถึงจิตใจและอารมณ์ของมนุษย์ ดีใจ เสียใจ กลัว  ฮีลใจเรา ให้เราหาจุดสมดุลได้”

‘ซี’ ทวินันท์ อนุกูลประเสริฐ

 1.

เราเริ่มต้นด้วยคำถามเดียวกับจิมมี่ ให้ซีนิยามตัวเองสั้นๆ “ผมเป็นคนสไตล์บ้านๆ เด็กบ้านนอกทั่วไป ใช้ชีวิตง่ายๆ เรื่อยๆ ไม่ต้องการอะไรมากมาย” 

ซีเกิดและเติบโตที่จังหวัดอยุธยา เป็นลูกชายคนกลางของครอบครัว มีพี่สาวและน้องชาย “ถ้าถามว่าใครซนที่สุด น่าจะเป็นผมนี่แหละ เพราะเราอยากรู้อยากเห็น มีอะไรแปลกใหม่เราก็อยากเข้าไปเล่นไปลอง ผมเป็นคนกลางก็จริง แต่ไม่เคยโดนพี่น้องแกล้ง น่าจะมีแค่ครั้งเดียวที่พี่น้องรวมหัวกัน ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายเพราะจะไม่พลาดอีก (หัวเราะ) นอกนั้นมีแต่ผมชวนพี่แกล้งน้อง ชวนน้องแกล้งพี่ เราแสบสุดแล้วเพราะแกล้งทั้งพี่ทั้งน้อง

“วิถีชีวิตของผมกับวงการบันเทิงห่างไกลกันมาก บ้านผมอยู่นอกอำเภอเมือง ไกลความพลุกพล่านและเล่นกีฬาเป็นหลัก จะมีแค่ตอนเด็กที่ดูหนังกับป๊าบ่อยๆ แล้วคิดว่าอยากลองแสดงบ้าง แต่ก็เป็นเพียงการแวบคิดเล่นๆ ผมมุ่งไปทางกีฬามากกว่า ป๊าพาไปเล่นหลายอย่างทั้งยิมนาสติก ไอกิโด เทควันโด บาสเกตบอล แต่ชอบที่สุดคือแบดมินตัน ผมเห็นรุ่นพี่ตีแล้ว เฮ้ย เก่งจัง อยากเก่งแบบเขาบ้าง ขอป๊าเรียนเลย กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการแบดฯ”

แบดมินตันไม่ใช่แค่การเล่นกีฬาเพื่อความสนุก แต่ซีมุ่งหวังสู่การติดทีมชาติไทย “ผมจริงจัง ตั้งเป้าหมายเป็นทีมชาติ ช่วง ม.ปลาย ผมออกจากโรงเรียนแล้วไปเรียนเทียบเอา เพื่อจะได้ซ้อมแบดฯ เต็มที่ ผมซ้อมทุกวัน จันทร์-อาทิตย์ ไม่มีวันพัก เรารัก เราชอบ เราตีทุกวันได้ไม่เบื่อ ที่บ้านก็สนับสนุนจนสุดกำลัง ป๊ากับแม่ดูแลรับส่งผมไปคอร์ตแบดฯ ไปเรียน ไปซ้อม ชีวิตผมไม่ค่อยไปเที่ยวไปเล่นเกมกับเพื่อน เลิกเรียนสามโมงครึ่งปุ๊บ ก็ไปซ้อมแบดฯ ต่อถึงสองทุ่มแล้วค่อยกลับบ้าน พรุ่งนี้เช้าก็ตื่นไปโรงเรียนแล้วก็ไปซ้อมแบดฯ วนเป็นกิจวัตรแบบนี้ ผมไม่โหยหาการไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน พอเราทุ่มเทเรื่องแบดฯ แล้ว ความอยากเที่ยวก็หายไป อยากเล่นกีฬามากกว่า”

กระนั้น ซีก็เคยมีช่วงดื้อและติดเพื่อน จนป๊ากับแม่ต้องให้ย้ายโรงเรียน “สมัยม.ต้น ผมหัวรั้นมาก ไม่ฟังใคร เกเรติดเพื่อน จนป๊ากับแม่ทนไม่ไหวจับผมย้ายไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ พอเราเปลี่ยนสังคม ความประพฤติก็ดีขึ้น เราก็เริ่มคิดถึงอนาคต มีการวางแผนชีวิต ซึ่งผมว่าสำคัญมาก”

ช่วงเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของซี “ผมตั้งใจจะเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่ไม่มีภาคอินเตอร์ เลยดูคณะอื่นที่เป็นไปได้ พี่สาวเรียนเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เลขเยอะมาก ผมน่าจะไม่ไหว พอดีเพื่อนเลือกบริหารธุรกิจ คณะนี้พอจะเป็นไปได้ เลยเลือกเรียนบริหารฯ ผมยังได้เล่นแบดฯ เป็นนักกีฬาให้มหา’ลัย จนโควิด-19 มา คราวนี้เรียนอยู่บ้านยาวๆ จนจบเลย 

“ผมเริ่มคิดว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อดี ต้องบอกว่าครอบครัวผมไม่ได้ร่ำรวยขนาดนั้น มาจากติดลบแล้วค่อยๆ สร้าง ผมเห็นป๊าทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด เรารู้ว่ามันเหนื่อยมาก เราอยากแบ่งเบาครอบครัวเลยมองหางานพิเศษ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร มีเพื่อนคนหนึ่งพาไปเดินแบบของมหา’ลัย และได้พี่ๆ แก๊ง KU Sexy Boy ช่วยผลักดันเรา ถ้าไม่ได้พี่ๆ ตอนนี้ผมคงยังไม่ถึงไหน จากนั้นก็ได้ไปแคสต์งานต่างๆ”

การที่ต้องทิ้งความฝันด้านกีฬา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย “เสียดายครับ นักแบดฯ ทุกคนก็คงเป็นเหมือนกัน เกินหนึ่งหมื่นชั่วโมงที่เราฝึกซ้อม ทุ่มเทเพื่อสิ่งนี้ นักกีฬาทุกคนก็คาดหวัง แต่สุดท้ายเขาจะเลือกเราเป็นนักกีฬารึเปล่า เขาจะดันเราไหม ไม่ได้ขึ้นกับตัวนักกีฬาอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับปัจจัยรอบด้าน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา”

2.

ซีเล่าถึงการได้ร่วมงานกับ GMMTV ว่า เคยมาแคสต์ไว้ แล้วมีทีมงานทักแชตทางโซเชียลมีเดีย แต่ซีเป็นคนไม่ค่อยเล่นโซเชียล จึงไม่เห็นข้อความนั้นจนเวลาล่วงเลยเป็นปี ทีมงานจึงต้องโทร.ติดต่อทางคุณพ่อเพื่อเรียกมาคุยและเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงในสังกัด 

“ช่วงแรกของการแสดงผมทำการบ้านเยอะ ผมเตรียมการบ้านก่อนถ่ายทำ 3-4 เดือนเลย ผมอ่านบทแล้วเขียนสรุป ซีรีส์มี 16 อีพี ผมก็ทำสรุปทุกตอน ไม่เพียงแค่แคแรกเตอร์ที่ตัวเองสวมบทเท่านั้น แคแรกเตอร์อื่นผมก็ทำสรุปไว้หมด จำได้ว่าเราแม่นบทมากๆ รู้ทุกอย่างว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละอีพี”

แม้จะมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นแล้ว แต่ผลงานล่าสุด Last Twilight ภาพนายไม่เคยลืม ซีก็ยังเตรียมพร้อมเสมอก่อนการถ่ายทำ “ผมไม่อยากให้คนอื่นรอเลยเตรียมตัวอย่างเต็มที่ ผมรู้ว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนหน้าเซ็ตบ้าง แต่ถ้าเรารู้เรื่องทั้งหมดก็สามารถพลิกแพลงได้เยอะกว่า ที่ต้องใช้เวลาเตรียมตัวเยอะเพราะผมต้องมีช่วงเวลาตกตะกอน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการอ่านในแต่ละวันก็แตกต่างกัน จึงต้องใช้เวลาค่อยๆ ทำความเข้าใจ กะเทาะความคิดออกมา สมมติวันนี้ถ่ายทำจบ อาทิตย์หน้าเบรก วันรุ่งขึ้นผมก็เตรียมทำการบ้านเลย ด้วยการอัดเสียงตัวเองที่อ่านบทแต่ละซีนไว้เปิดฟังไปเรื่อยๆ ผมเป็นคนจำช้า เข้าใจอะไรยาก จะจินตนาการได้ดีถ้าเป็นการฟัง เพราะตอนเด็กๆ ติดการฟังป๊าเล่านิทาน พอเป็นการฟังเราจะเห็นภาพได้ไวกว่าการอ่าน”

ซีสวมบท ‘เดย์’ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา และเป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับเขา “เดย์มีความเป็นเด็กดื้อ กวนประสาท และมองไม่เห็น การสื่อสารให้คนดูรู้สึกว่านี่คือคนตาบอดจริงๆ ยากมาก ผมต้องไปเวิร์กช็อปก่อนเพื่อเรียนรู้ว่า คนที่มองไม่เห็นขณะสำรวจห้องว่ากว้างแค่ไหน เขาจะใช้เสียงสะท้อน เพื่อฟังและคะเนขนาดห้อง หรือที่เราเห็นว่าเขาใช้มือคว้า แต่ที่จริงคือการยื่นศอกซึ่งเป็นอวัยวะที่แข็งออกไปสำรวจนะ

6“ผมสนุกมากกับการไปกองถ่าย มีความสุขทุกครั้ง พี่ออฟเคยพูดคำหนึ่งซึ่งผมชอบ เราต้องทำงานด้วยกันวันละ 16 ชั่วโมง เราควรทำให้เหมือนเป็นช่วงเวลาที่อยู่กับครอบครัว ผ่อนคลายแบบ feel like home เพราะถ้าเราเครียดหรือไม่มีความสุข แล้วต้องทำงานด้วยกัน 20-40 คิว มันแสนทรมาน แต่ถ้าถ้าเรามีความสุข แม้จะเหนื่อยก็ยังสนุก ยังมีแพชชันในการทำ แล้วเราจะทำได้ดี เพราะมาจากความรัก แล้วเรื่องนี้ผมยังแกล้งเฮียจิมฉ่ำเลย เขาถือขนมมา ผมก็แย่งกิน เขาเดินมาหยิบขนม ผมก็แซว ส่วน ‘มาร์ค’ ภาคิน ก็ตีกันปกติ (หัวเราะ)”

สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากบทบาท ‘เดย์’ “บางสิ่งบางอย่างถึงจะทุกข์ไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้ สุดท้ายก็ควรปล่อยผ่าน”

อดีตนักกีฬานำแนวทางที่เคยเรียนรู้มาปรับใช้กับการทำงานวงการบันเทิง “นักกีฬาทุกคนผ่านการกดดันจากพ่อแม่ โค้ช พวกเราเคยโดนด่าอยู่ข้างหลังระหว่างลงแข่งแล้วตีไม่ได้ เราผ่านการถูกทำโทษ การโดนด่ามาเยอะมาก พอมาทำงานก็เจอแรงกดดันเหมือนกัน แต่ไม่หนักเท่าสมัยเล่นแบดฯ เราเลยผ่านมันไปได้ นอกจากนั้น เรายังถูกฝึกให้รู้หน้าที่ รู้จักรับผิดชอบ ซึ่งช่วยเราได้เมื่อต้องอยู่ในสังคมการทำงานครับ”


ขอบคุณสถานที่ 

Hotel Clover Asoke

9/1 Sukhumvit 16 (Sammit), Klongtoey, Bangkok 10110 Thailand

Tel : +66 (0) 2258 8555

E-mail: rsvn.rs@hotelcloverbangkok.com

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!