เจนนี่ ปาหนัน เปิดใจให้ความแตกต่าง

-

เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง ที่เรียกว่า Pride Month ซึ่งเป็นดั่งความภาคภูมิใจของชาวเพศที่สาม หรือ LGBTQ (lesbian-gay-bisexual-transgender-queer) ทั่วโลกทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออกต่างร่วมประดับธงสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มเพศที่สาม ห้างสรรพสินค้า ร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดัง ร้านกาแฟเชน หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ถูกตกแต่งด้วยธงสีรุ้ง และสิ่งที่เป็นไฮไลท์คือขบวนพาเหรดของชาว LGBTQ ที่ออกมาแสดงตัวตนและพลังของเพศทางเลือก

เบื้องหลังสีสันความตระการตาของเทศกาลนี้คือประวัติศาสตร์การต่อสู้ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 เกิดเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ ในนครนิวยอร์ค เมื่อกลุ่มเพศที่สาม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับและไม่สามารถเปิดเผยตัวตน ขัดขืนการเลือกปฏิบัติของตำรวจที่มาตรวจบาร์ แล้วขยายวงกว้างสู่การลุกฮือประท้วงของเหล่าเพศที่สามต่อความอยุติธรรมในสังคม วันนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวเพศที่สาม และปี 2000 ประธานาธิบดีคลินตันได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็นเดือน Pride Month แม้สถานการณ์โควิด-19 อาจทำให้ปีนี้ต้องยุติการเฉลิมฉลองเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันโรค แต่เราก็ยังคงเรียนรู้และระลึกถึงความแตกต่างของผู้คนในสังคมผ่านวันสำคัญในเดือนนี้ได้

ออล แม็กกาซีน ฉบับเดือนมิถุนายนนี้ ขึ้นปกด้วยสกู๊ปบุคคลที่ไม่ว่าเราจะนิยามเขาด้วยคำใด เพศที่สาม สาวประเภทสอง LGBTQ หรือกะเทย นั่นก็ไม่สำคัญเท่าเนื้อแท้ของเขาที่เราเชื่อว่าหลายๆ คนชื่นชอบและหลงรัก เจนนี่ ปาหนัน พิธีกรชื่อดังจากรายการ เทยเที่ยวไทย แม้เจนนี่อาจไม่ได้ผ่านประสบการณ์อันขมขื่นเฉกเช่นชาวเพศที่สามบางคน แต่เรื่องราวของเขาก็น่าจะทำให้เราได้เห็นอีกแง่มุมของชีวิตอันแตกต่าง

1.

“น่าจะตั้งแต่เริ่มเดียงสาก็ค้นพบแล้วว่าเราชอบทำกิจกรรมที่ผู้หญิงทำกัน เราไม่เลือกไปเตะฟุตบอล แต่เลือกโดดยาง เล่นหมากเก็บแทน และเราค่อนข้างมีจริตจะก้านตุ้งติ้ง เอาผมทัดหูทั้งที่ผมสั้นหัวเกรียน พูดง่ายๆ คือรู้ตัวว่า ‘เป็น’ ตั้งแต่เด็ก” เจนนี่เล่าถึงสมัยเด็กที่รู้ว่าภายในร่างเด็กชายมีจิตใจของความเป็นเด็กหญิงอยู่ “เราไม่ถึงขั้นปกปิดพ่อแม่นะ แค่ไม่ได้แสดงออกชัดเจน แล้วเวลาอยู่บ้านก็ไม่เหมือนอยู่กับแก๊งเพื่อนด้วย ไม่ได้มีกิจกรรมให้ต้องแสดงออก เราแค่เรียบร้อย ไม่ถึงกับต้องแอ๊บแมน ถามว่ากลัวพ่อแม่ว่าไหมถ้าท่านรู้ มันก็กลัว แต่เป็นความกลัวที่เกิดจากอิทธิพลของสื่อมากกว่า คือเราโตมากับทีวี ภาพในทีวีมักแสดงให้เห็นว่า บ้านที่พ่อเป็นตำรวจหรือทหาร แล้วลูกเป็น LGBT มักไม่มีความสุข ต้องผิดใจกัน ทะเลาะกัน กลายเป็นภาพจำ ส่งผลให้เราเกิดความกังวลถ้าพ่อแม่รู้”

 

แล้วตอนไหนที่พ่อกับแม่รู้ว่าเป็นเพศที่สาม เราตั้งคำถาม “พ่อกับแม่ก็คงรู้มาตลอดแหละ เพราะเราเป็นเด็กกิจกรรม ที่บ้านแม่เปิดร้านอาหาร ครูก็มากินที่ร้านแล้วเม้าท์ให้แม่ฟัง วันนี้ลูกพี่ดาเต้นอีกแล้วค่ะ ทุกคนชอบดูกันใหญ่ พอเข้ามหาวิทยาลัยเราไว้ผมยาว ที่ศิลปากรผู้ชายเขาฮิตไว้ผมยาวเป็นหนุ่มเซอร์ แต่เราไว้เพราะอยากเป็นหญิงสาวสะบัดผม ทีนี้พอกลับบ้านญาติก็แซว มันไว้ผมยาวสวยใหญ่แล้ว จังหวะที่โดนแซวนั้น เราไม่อายที่ตัวเองเป็นกะเทยนะ แต่สิ่งที่เราห่วงมากที่สุดคือความรู้สึกของพ่อซึ่งอาชีพเขาคือตำรวจ มีหน้ามีตาในสังคม เขาจะรู้สึกแย่เพราะเรารึเปล่า และครอบครัวเราไม่เคยมีการยกเรื่องเพศที่สามมาพูดถึง เหมือนเป็นหัวข้อที่ตัดออกไปเลย เราจำขึ้นใจเลยว่า จังหวะที่พ่อเดินมาจับผมเราแล้วบอกว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ แต่อย่าเป็นเสือไบแล้วกัน’ แวบแรกที่คิดคือ ไม่ค่ะ หนูชัดเจนว่าชอบผู้ชายค่ะ (ฮ่า) นัยจริงๆ ที่พ่อสื่อถึงคือ ‘เป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี อย่าเป็นโจรผู้ร้าย’ เหตุการณ์นั้นคือปลดล็อคเลยนะ ความอึดอัดอ้ำอึ้งในครอบครัวหายไปเลย”

การเป็นลูกชายคนโตต้องเจอกับแรงกดดันอะไรบ้างไหม เราสงสัย “เราเป็นทั้งลูกชายคนโตและหลานชายคนโตของตระกูลด้วย แต่ไม่เคยรู้สึกกดดันตัวเองเพราะเป็นเพศที่สาม การตั้งใจเรียนตั้งใจทำกิจกรรมในวัยเด็กของเรา ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพื่อทดแทนที่เราเป็นลูกชายให้เขาไม่ได้ เราแค่อยากเป็นคนดีคนเก่งให้เขาประทับใจ ไม่ใช่เพราะเป็นกะเทย แล้วโชคดีของเจนนี่มากที่เวลาทะเลาะกับพ่อแม่ ท่านไม่เคยยกสิ่งที่เราเป็นมากล่าวโทษสักครั้ง”

เพราะความเข้าใจของคนรอบข้าง แม้โดนล้อเลียนก็ไม่สามารถทำร้ายจิตใจได้ “ถามว่าเคยโดนเอามาเป็นประเด็นล้อเลียนไหม เคย (เสียงสูง) โดนเรียกอีตุ๊ด แต่คำนี้เคยทำให้เรารู้สึกด้อยค่าไหม ไม่เลย เรามองว่าเป็นการล้อเลียนของเด็กๆ มากกว่า แล้วเราเป็นเด็กกิจกรรม มีคนในโรงเรียนรู้จักเยอะ มีรุ่นพี่รุ่นน้องที่สนิทและให้ความเคารพ กลายเป็นว่าเราได้รับการยอมรับจากคนอื่น จึงไม่เคยโดนบูลลี่ในระดับทำให้เจ็บช้ำใจ อาจเพราะใจเราเป็นนักสู้ หรือใจด้านชาด้วยรึเปล่าไม่รู้นะ แต่ถามว่าอยากโดนไหม ไม่มีใครอยากโดนหรอก”

‘ไม่มีอะไรยากไปกว่าการเป็นเพศที่สามแล้ว’ เป็นประโยคที่เราเคยได้ยินมา เมื่อถามความเห็นของเจนนี่ต่อประโยคนี้ เขาตอบว่า การเป็นเพศที่สามของเขาไม่ได้เป็นเรื่องยากขนาดนั้น “จากประสบการณ์ชีวิตของเจนนี่ ไม่รู้สึกว่าการเป็นแบบนี้ยากลำบากนะ ไม่เคยรู้สึกว่าเราใช้ชีวิตยากกว่าหญิงชายทั่วไปด้วย ปัญหาที่เราเจอคงมีแค่เรื่องการเข้าห้องน้ำ เมื่อก่อนสมัยยังไม่ทำนม พอเข้าห้องน้ำหญิง ผู้หญิงก็มองด้วยท่าทีตกใจ พอเข้าห้องน้ำชาย ผู้ชายก็มองว่ามาตรงนี้ทำไม แต่เราเป็นคนไม่คิดมาก ก็ไม่ได้เดือดร้อนใจขนาดนั้น แล้วตอนนี้เราเป็นเจนนี่ ปาหนัน ด้วย พอคนรู้จักก็เป็นมิตรกับเรามากขึ้น อย่างที่บอกบุคคลสำคัญที่สุดในชีวิตของเราคือพ่อแม่ ซึ่งไม่เคยสร้างบาดแผลในใจให้เลย จึงรู้สึกว่ามีหลายอย่างในชีวิตที่ยากและต้องใช้ความพยายามมากกว่า เช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราจึงไม่เคยต้องพิสูจน์ตัวเองเพราะเป็นเพศที่สาม แต่เป็นการพิสูจน์ในฐานะลูกคนหนึ่งซึ่งต้องการทำให้พ่อแม่ภูมิใจมากกว่า”

การเป็นเจนนี่ ปาหนัน ที่คนคุ้นเคย ประกอบกับการเป็นเพศที่สามด้วย จึงมีบางคนที่ยังมีทัศนคติว่า สามารถถูกเนื้อต้องตัวหรือแซวหยอกล้อคนกลุ่มนี้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด “ส่วนใหญ่ที่เข้ามาพูดคุยกับเรา ค่อนข้างอยู่ในขอบเขต มีเกินเลยบ้าง แต่เราจะบอกเขาทันทีว่าคุณทำอย่างนี้ไม่ได้นะ ทำไมถึงกล้าขอจับนมกะเทย ทำไมถึงกล้าเอ่ยคำนี้กับพวกเราได้ง่ายกว่าผู้หญิง อาจเพราะกะเทยขี้เล่นดูเข้าถึงง่ายเหรอ เราก็บอกเขาตรงๆ คุณบ้ารึเปล่า ใครจะให้จับ เราเป็นคนชอบพูดชอบอธิบายด้วย เราไม่ปล่อยผ่าน เราเป็นลูกสาวกำนัน เราต้องจัดการ (ฮ่า) บางคนมาในลักษณะเดียวกันแต่ทำตลกเข้าใส่ ก็บอกไป ไม่ได้นะ เดี๋ยวจะโดน”

 

 

แม้ประเทศไทยจะเปิดใจยอมรับเพศที่สาม ได้มากกว่าหลายประเทศที่อาจยังต้องแอบซ่อนตัวตนไม่ให้สังคมรู้ แต่ สิ่งที่เราคิดว่าทำดีแล้วนั้น ดีจริงในสายตาของกลุ่ม LGBTQ รึเปล่า เจนนี่ถ่ายทอดความเห็นในฐานะสมาชิก LGBTQ “ถ้ามีแค่สองคำตอบให้เลือกว่าดีหรือไม่ดี เจนนี่ขอเลือกยังไม่ดีแล้วกัน เพราะเรารู้สึกว่าแม้สังคมไทยจะยอมรับมากกว่าสังคมอื่น แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น แม้ปากจะบอกว่าเรายอมรับเพศที่สามนะ แต่ถ้ามองให้ลึก เจนนี่รู้สึกว่าเราแค่รับรู้ว่ามีคนประเภทนี้อยู่ในสังคม มากกว่ายอมรับคนประเภทนี้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงการยอมรับในทุกบริบทของสังคม รวมถึงในแง่กฎหมายอะไรแบบนี้ด้วย แต่ถามว่าตัวเจนนี่ต้องการการยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์เดี๋ยวนี้ตอนนี้เลยไหม เรารู้สึกว่าค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ เรารู้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันไปเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ  เรียนรู้และยอมรับกันไปดีกว่า”

ไม่ใช่แค่สังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นเท่านั้น โลกของโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตยังสร้างพื้นที่สำหรับการแสดงออกและเปิดเผยความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าในอดีต หลายครั้งที่เราทึ่งกับความคิดสร้างสรรค์ของเพศที่สาม และหลายครั้งที่เกิดกระแสวิจารณ์ด้านลบซึ่งมาจากการแสดงออกที่ขาดการไตร่ตรองให้ดี เจนนี่เองก็เป็นห่วงลูกสาวหรือสาวประเภทสองรุ่นน้อง “เรามองว่ากะเทย หรือ LGBTQ ทุกคนเป็นคนที่มีความคิดความอ่าน พูดง่ายๆ ว่าเลิศอ่ะ และเรารู้ว่าเด็กรุ่นใหม่กล้าแสดงออกอยู่แล้ว แต่ขอแค่ให้อยู่บนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ มีหลายวิธีมากที่ทำให้คนรู้จักเรา แต่หลายคนมักใช้วิธีค่อนข้างฉาบฉวย ให้ดังเร็วเข้าว่า เราเชื่อว่าถ้าสิ่งที่ทำอยู่บนพื้นฐานของความสร้างสรรค์ ผลตอบรับต้องดีแน่นอน อยากให้คนพูดถึงหนูในแง่ชื่นชมหรือตำหนิมากกว่ากันล่ะ”

2.

เจนนี่เรียกตัวเองว่าเป็นสาวสะตอพลัดถิ่น เพราะพื้นเพเป็นคนอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี สาขาภาษาฝรั่งเศส ตามความมุ่งหวังอยากสอบติดมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ความใฝ่ฝันที่แท้จริงอีกอย่างคืออยากทำงานสายนิเทศศาสตร์ ด้วยความที่ชอบดูทีวีเลยอยากเป็นผู้ผลิตสื่อ ทว่าเมื่อเรียนจบไม่ตรงสายอาชีพก็ทำให้ช่วงเริ่มต้นการหางานทุลักทุเลบ้าง เจนนี่ว่างงานอยู่เกือบสามปี แต่เมื่อจังหวะเวลามาถึง ประตูแห่งโอกาสทุกบานก็เปิดออกพร้อมกัน เจนนี่ทั้งสอบติดปริญญาโท และได้งานเบื้องหลังของช่อง Channel V Thailand เลยตัดสินใจเลือกทำงานก่อน แล้วเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เจนนี่ไปได้ดีกับเส้นทางที่ใฝ่ฝันนี้ จนย้ายมาทำรายการที่ GMM และอยู่หน้าฉาก โด่งดังจากรายการเทยเที่ยวไทย มีงานพิธีกร-การแสดงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“ตอนเด็กคนชอบถามโตขึ้นอยากเป็นอะไรคะ อ๋อ เป็นแม่คนค่ะ (ฮ่า) คือมีอาชีพหนึ่งที่เราอยากทำมาตลอดแต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าอะไร คืออยากทำรายการทีวี มารู้ทีหลังเขาเรียกว่าครีเอทีฟ พอได้ทำก็สมใจหวัง ได้ลองเป็นพิธีกรก็ชอบ เพราะเราชอบพูดมาตั้งแต่เด็ก ได้ลองงานแสดง ก็ชอบอีก บางบทบาทที่เราเล่นแล้วทำได้ก็ภูมิใจ ล่าสุดได้ไปร้องแรพรับเชิญ แล้วเราไม่ใช่คนร้องเพลงเพราะ แต่พอได้ลองทำ เฮ้ย! ชอบว่ะ ถามเขาเลย พี่คะ ถ้าอยากทำเพลงเดี่ยวของตัวเองต้องใช้เงินเท่าไหร่ (ฮ่า) โอเคค่ะ เดี๋ยวมาทำ เราชอบทุกงานที่เราทำอยู่ ไม่ว่าจะหน้าฉากหรือเบื้องหลัง และเราโชคดีที่ได้ทำในสิ่งที่ใฝ่ฝัน มีพี่ๆ ที่ให้โอกาสเรา เราไม่ค่อยได้สู้เพื่อฝันเหมือนบางคน เป็นข้อเสียของเจนนี่ด้วยแหละ เรามาถึงตรงนี้ได้ต้องขอบคุณทุกคนที่หยิบยื่นโอกาสดีๆ ให้ เป็นความโชคดีของเรา”

เมื่องานคือการสร้างความรื่นรมย์ เอ็นเตอร์เทนผู้ชม วิธีเติมพลังบวกของเจนนี่จึงเป็นการสร้างความรู้สึกสนุกสนานให้ตัวเองอยู่เสมอ “เราชอบดูอะไรที่ตลก เช่น คลิปวิดีโอตลก ดูหนัง ซีรีส์ รายการตลก เพื่อดึงอารมณ์ของเราให้กลับมาร่าเริง คนใกล้ตัวจะรู้ว่านอกเวลางาน เวลาพักผ่อน เราชอบอยู่คนเดียวเป็นนางห้องชาร์จพลัง จากเต็มร้อยกลับห้องปุ๊บลดเหลือศูนย์เลย ไม่มีตรงกลาง

ความภูมิใจของเจนนี่ในวันนี้ เป็นเพียงการมีความสุขกับความสำเร็จเล็กๆ ในชีวิต ไม่ต้องไปให้ถึงเป้าหมายยิ่งใหญ่ แค่มีความสุขในงานที่ทำ และทำออกมาให้ดี “ชีวิตเราภูมิใจกับอะไรหลายอย่างมากนะ เราสอบติดมหา’ลัย ก็ภูมิใจแล้ว เราเป็นพิธีกรเทยเที่ยวไทย แม้จะโดนวิจารณ์ตอนแรก แต่ตอนนี้คนดูยอมรับ เราก็ภูมิใจ หรือแม้แต่การไปทำหน้าอกซึ่งเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝัน เราทำสำเร็จแล้วก็ภูมิใจ เราเป็นคนแบบนี้ด้วยมั้ง เราภูมิใจกับสิ่งง่ายๆ ในชีวิต

“คนมักถามว่าความสุขของเราวันนี้คืออะไร ก็แค่การกินอิ่มนอนหลับ คำนี้เลยจริงๆ นะ มีช่วงก่อนหน้านี้เราทำงานหนักมาก ทำงานทุกวัน ออกจากบ้านแต่เช้าตรู่ กลับบ้านค่ำ กินข้าวไม่เป็นเวลา ไม่ได้เจอใคร จนเราท้อ เราไม่ใช่คนที่หวังอะไรมากด้วยแหละ แค่มีความสุขกับปัจจุบัน แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่หวังเยอะที่สุดตอนนี้คืออะไร คืออยากมีสามีค่ะ (ฮ่า)”

3 สิ่งสำคัญในชีวิตของ เจนนี่ ปาหนัน

  1. ที่หนีบผม ไว้หนีบหน้าม้าเอกลักษณ์ของเขา ถ้าขาดนี่ออกจากบ้านไม่ได้เลย
  2. รองพื้นสำหรับกลบหนวด เป็นอีกสิ่งที่ถ้าขาดจะไม่ยอมออกจากบ้าน
  3. พระเครื่อง เจนนี่มีกระเป๋าใส่พระพกติดตัวตลอด ช่วยให้อุ่นใจในการทำงาน

 

ภิญญ์สินี

Writer

กองบรรณาธิการ ศิษย์เก่าเอกปรัชญาและศาสนา ชอบติดตามกระแสสังคม และเทรนด์แฟชั่น สนใจศิลปวัฒนธรรม และสีมงคล ลายนิ้วหัวแม่มือคือลายมัดหวาย

อนุชา ศรีกรการ

Photographer

ช่างภาพที่เกิดวันเดียวกับวันถ่ายภาพโลก เลยทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!