ออกมาแล้ว แถ่น-แทน-แท้น
หลังจากที่คนในวงการโรคหัวใจแอบลุ้นกันมานานถึงแปดปี นั่นคือผลงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบชิ้นยิ่งใหญ่เพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลระหว่างการรักษาโรคหัวใจด้วยยาและการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างเดียว กับการรักษาโรคหัวใจด้วยการทำบอลลูนหรือบายพาส งานวิจัยนี้มีชื่อเรียกในวงการหมอหัวใจว่างานวิจัย Ischemia เขาทำวิจัยในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่มีอาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง (stable angina) รวมทั้งพวกเจ็บระดับปานกลางถึงเจ็บมากจำนวน 5,179 คน ทำวิจัยในโรงพยาบาล 320 แห่ง กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ 37 ประเทศ ใช้เงินวิจัยร้อยกว่าล้านเหรียญสหรัฐโดยมีสถาบันหัวใจปอดและเลือดแห่งชาติสหรัฐ (NHLBI) เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ ผลวิจัยนี้เพิ่งนำเสนอในที่ประชุมสมาคมหัวใจอเมริกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2019 ที่ผ่านมานี้เอง ยังไม่ทันได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ แต่ผมเห็นเป็นเรื่องใหญ่จึงเอามาเล่าให้ฟังก่อน
วิธีการวิจัยคือสุ่มเอาผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบซึ่งมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเมื่อออกแรงหรือเมื่อเครียด (stable angina) อีกทั้งสวนหัวใจจนเห็นแน่ชัดแล้วว่ามีรอยตีบอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่หลอดเลือด (ไม่ว่ากี่เส้นก็ตาม) เอาผู้ป่วยเหล่านี้ทั้งหมด 5,179 คนมาจับฉลากแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้รักษาแบบปัจจุบันครบสูตร คือบอลลูนใส่สเต็นท์ (stent) หรือหากทำไม่ได้ก็ผ่าตัดบายพาสแล้วกินยากับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต อีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องรักษาแบบรุกล้ำ แค่กินยากับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตอย่างเดียว แล้วคอยดูอาการนานเจ็ดปีเพื่อดูว่ากลุ่มไหนจะเดี้ยงมากกว่ากัน โดยถือเอาการตาย, การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, การต้องเข้านอนโรงพยาบาลเพราะเจ็บหน้าอกแบบด่วนหรือเพราะหัวใจล้มเหลว เป็นตัวชี้วัด ผลปรากฏว่า แถ่น-แทน-แท้น
“ทั้งสองกลุ่มต่างก็เดี้ยงและตายในอัตราส่วนเท่ากัน”
จบข่าว!
นี่เป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ผู้ป่วยเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดถามกันอยู่ทุกวันว่าจะไม่ทำบอลลูนหรือบายพาสได้ไหม คำตอบคือทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ สุดแต่เจ้าตัวจะโปรด เพราะทำหรือไม่ทำก็ตายเท่ากัน
ขอหมายเหตุนิดหนึ่งว่านี่เป็นกรณีเจ็บหน้าอกขณะออกแรงซึ่งเมื่อพักชั่วครู่แล้วหาย หรือที่วงการแพทย์เรียกว่าเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน (stable angina) นะ ไม่เกี่ยวอะไรกับกรณีกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) ซึ่งเป็นการเจ็บหน้าอกแบบทำอย่างไรก็ไม่หายและกล้ามเนื้อหัวใจก็ตายมากขึ้นๆ ในกรณีอย่างนั้นการรักษาแบบรุกล้ำด้วยการทำบอลลูนหรือบายพาสฉุกเฉินยังคงเป็นมาตรฐานในการรักษาอยู่
เรื่อง: นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์