“การลงทุนมีความเสี่ยง”
แต่ความเสี่ยงที่ว่ามีระดับขั้นแตกต่างกันไป การลงทุนคือการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์โดยคาดหวังว่าสินทรัพย์จะสร้างผลตอบแทนให้ แน่นอนว่าสินทรัพย์แต่ละประเภทย่อมมีระดับความเสี่ยงที่ไม่เท่ากัน โดยทั่วไปสินทรัพย์ที่เราคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนสูงมักมีความเสี่ยงสูงด้วย ตามคำกล่าวที่บอกว่า High risk, high (expected) return สิ่งหนึ่งซึ่งนักลงทุนหรือนักอยากลงทุนควรรู้ คือ เราควรเรียนรู้การลงทุนไปทีละขั้นทีละตอน มิใช่ว่ามือใหม่จะเล่นของเสี่ยงไม่ได้ แต่การฝึกฝนจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ
สินทรัพย์สำหรับลงทุนมีหลายประเภท หากจัดเรียงตามผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับและค วามเสี่ยง จะแบ่งตามประเภทได้ดังนี้ (1) เงินฝากธนาคารและสลากออมทรัพย์ ผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 1% (2) ตราสารหนี้ ผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 3% (3) หุ้น ผลตอบแทนคาดหวังประมาณ 10% (4) อนุพันธ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผลตอบแทนคาดหวังขึ้นกับลักษณะการลงทุน (5) สินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ สกุลเงินดิจิทัล และ (6) กองทุนรวม ผลตอบแทนคาดหวังขึ้นอยู่กับลักษณะสินทรัพย์ที่ไปลงทุน
สำหรับมือใหม่ การเริ่มต้นลงทุนจากความเสี่ยงน้อยไปหาความเสี่ยงมากเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เชิงว่าสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยจะศึกษาง่ายกว่าสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากเสมอไป แต่การค่อยๆ ปรับใจให้สามารถรับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการกินยาที่ต้องค่อยๆ เพิ่มขนาดทีละน้อย เพื่อห้ผู้ป่วยทนอาการข้างเคียงของยาได้ กว่าจะกินยาในระดับสูง ๆ สินทรัพย์ระดับความเสี่ยงสูงๆ ร่างกายเรา จิตใจเราก็กล้าแกร่งพอที่จะรับมืออาการข้างเคียงของการลงทุนได้อย่างเต็มกำลัง
สินทรัพย์ที่ผันผวนมากเกินไปย่อมไม่ดีสำหรับนักลงทุนมือใหม่นัก เหตุผลสำคัญคือการลงทุนแบบวูบวาบ ได้ง่ายเสียง่ายจะปลูกฝังให้เรามองการลงทุนเป็นเหมือนการพนัน ตามวลีที่มักบอกกันว่า ได้มาง่ายก็เสียไปง่าย หรือไม่ก็ได้เงินมาง่ายจนเคยตัว ความอดทนเพื่อรอคอยผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมก็อาจไม่เหลือแล้ว คิดดูสิเราเคยเล่นหุ้นได้ผลตอบแทนวันละ 5 – 10% วันหนึ่งจะให้กลับมาลงทุนแบบรอผลตอบแทนปีละ 5 – 10% ก็คงรอไม่ไหว นิสัยที่บิดเบี้ยวไปทีละนิดจะชักนำเราให้เล่นเกมอันตรายมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว
หากคุณขับรถด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นประจำ คุณจะไม่รู้สึกว่ามันเร็วเลย จนกระทั่งรถของคุณชนเข้าอย่างจังนั่นแหละ คุณก็จะตระหนักทันทีว่าความเร็วระดับนี้อาจฆ่าคุณให้ตายได้ หรือไม่คุณก็อาจเข็ดขยาดการขับรถไปตลอดชีวิต ผมเองโชคดีที่รู้จักนักลงทุนจำนวนมาก บางคนสร้างผลตอบแทนได้หลายร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อปีต่อเนื่องกัน 3 ปี และเขาก็หายไปในปีที่ 4 นั่นอาจทำเงินได้มากในระยะสั้น แต่ผมมองว่าไม่เป็นผลดีแก่การลงทุนระยะยาว
ดังนั้นสิ่งที่ผมจะแนะนำคือคุณควรลงทุนทีละขั้นทีละตอน
ไม่ต้องรีบร้อนกระโจนเข้าสู่ตลาดหุ้นหรือตลาดสารพัดเหรียญในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ควรเริ่มต้นจากสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายและผันผวนน้อยๆ ก่อน เช่น เงินฝากธนาคารหรือสลากออมทรัพย์ คุณอาจเริ่มต้นศึกษาว่าเงินฝากธนาคาร หรือสลากออมทรัพย์มีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันอย่างไร ฝากเงินซื้อลงทุนอย่างไรจึงจะได้ผลตอบแทนสูงสุด จนคุณเบื่อ จนคุณบรรลุ คุณค่อยก้าวต่อไปที่ตราสารหนี้ ลองศึกษาตราสารหนี้แต่ละประเภท อาจลองลงทุนผ่านกองทุนรวม เพื่อเข้าใจความผันผวนที่ต้องเจอในแต่ละวันก่อน
หากจะเข้าตลาดหุ้น สิ่งที่ผมแนะนำคือคุณควรเริ่มต้นจากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น เช่น คุณมีเงินอยู่ 10,000 บาท คุณอาจนำเงิน 10,000 บาทนั้นไปซื้อกองทุนรวมหุ้นทั้งหมดเลย แน่นอนว่าคุณต้องศึกษาเรื่องกองทุนรวมมาอย่างดีเยี่ยม ระหว่างที่คุณศึกษาตลาดหุ้นนั้น หากคุณเจอหุ้นอะไรน่าสนใจ คุณก็ขายกองทุนรวมออก แบ่งมาซื้อหุ้น ไม่ต้องรีบ ค่อยๆ เพิ่มระดับยาที่ชื่อว่าการลงทุนในเลือดของคุณทีละน้อย คุณจะเข้าใจความผันผวน คนที่เจอความผันผวนจากน้อยไปหามาก ย่อมรับมือความผันผวนระดับสูงตั้งแต่แรกได้แน่นอน
เวลาผมเห็นนักลงทุนมือใหม่ได้ผลตอบแทนสูงๆ จากการลงทุน ผมรู้สึกว่านั่นเป็นทั้งของขวัญและคำสาป ยิ่งถ้าเป็นผลตอบแทนอันเกิดจากการกล้าได้กล้าเสี่ยง ไม่ได้เกิดจากความรู้ ยิ่งอันตรายมาก เหมือนคุณเดินเข้าบ่อนไปปั่นสล็อตแมชชีนได้รางวัลใหญ่เป็นเงิน 100 ล้านบาท คุณจะเคยชินกับผลตอบแทนจำนวนมหาศาล ผมว่าคุณคงกลับมาทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนยาก ถึงแม้มีรายได้มากกว่าค่ามาตรฐาน และแน่นอน ผมไม่คิดว่าเงินที่ได้จากการพนันจะจีรังยั่งยืน
การประคองตัวเองจากการลงทุนที่ผันผวนเกินไป วูบวาบเกินไป กระตุ้นการหลั่งของอะดรีนาลีนมากเกินไป นอกจากช่วยป้องกันเงินที่หามาอย่างยากลำบากแล้ว ยังช่วยไม่ให้เราเสียนิสัยง่ายอีกด้วย การได้ผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผลในระยะยาวเป็นเรื่องดี อาจมีปีที่ยอดเยี่ยมบ้าง ยอดแย่บ้างสลับกันไป แต่การได้ผลตอบแทนอย่างพอเหมาะพอควรกับความรู้และลักษณะตลาด ย่อมทำให้นักลงทุนอยู่ในตลาดได้ในระยะยาว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่ก้าวแรกของการลงทุน
อย่าลืมว่าหัวใจของการลงทุนคือการประคองตัวเองให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม
ใครจะได้เงินมากมายเท่าไหร่ ผลตอบแทนมหาศาลอย่างไร ช่างเขาเถิด เราต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อนอันดับหนึ่ง บอกตัวเองเสมอว่าเรากำลังทำอะไรและตั้งใจจะเลือกเดินไปทางไหน ผมย้ำเสมอว่าการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากมายขึ้นง่ายกว่าการอยู่รอดระยะยาวในตลาด ค่อยๆ เริ่มทีละขั้น กินข้าวทีละคำ ลงทุนทีละตอน จิตใจที่ค่อยๆ ปรับให้รับมือความเสี่ยงอย่างเหมาะสมจะช่วยปกป้องเราจากความผันผวนวูบวาบของตลาดลงทุนที่พร้อมจะกลืนกินเราได้ทุกขณะ
การลงทุนมีความเสี่ยง และเป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะต้องเลือก “เสี่ยง” แต่พอดี
คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน / เรื่อง: ลงทุนศาสตร์