ณฐ ตรัยนานนท์
เหรียญทองแดงโอลิมปิกปรัชญาครั้งแรกของไทย
ผู้อ่านอาจเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการกันมาบ้าง เป็นการแข่งขันที่เด็กนักเรียนมัธยมจากนานาประเทศมาร่วมประชันความเป็นเลิศในวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ ที่แล้วมาเด็กไทยทำผลงานได้ดีจนสามารถคว้าเหรียญมาครองหลายรุ่น แต่หลายคนคงไม่ทราบว่าในการแข่งขันดังกล่าวมีวิชาปรัชญารวมอยู่ด้วย และคงไม่คาดคิดว่าประเทศไทยก็ส่งเยาวชนลงแข่งในสนามนี้ และคว้าเหรียญมาได้สำเร็จ ทั้งนี้เพราะปรัชญาไม่ใช่วิชาที่คนไทยคุ้นเคย และไม่อยู่ในหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยม
ณฐ ตรัยนานนท์ คือเยาวชนไทยคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกปรัชญาได้ ปัจจุบันอายุ 18 ปี เรียนโฮมสกูล และกำลังเตรียมสอบเพื่อศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยด้านปรัชญาที่เขาชอบ ณฐเล่าถึงความสนใจวิชาปรัชญาว่าเริ่มต้นจากการฟังวิจารณ์ภาพยนตร์ในยูทูบ ซึ่งผู้วิจารณ์ได้นำความรู้เชิงปรัชญามาวิเคราะห์ “ผมฟังการวิเคราะห์ซีรีส์เรื่อง Bojack Horseman และ The Matrix แล้วสนใจวิธีที่เขานำปรัชญามาวิเคราะห์หนัง จึงศึกษาเพิ่มเติม แต่ผมไม่รู้ควรเริ่มต้นเรียนยังไง เพราะวิชานี้ไม่มีในหลักสูตร จึงเริ่มจากเรื่องที่สนใจก่อน คือ existentialism (ปรัชญาอัตถิภาวนิยม) ซึ่งเขานำมาใช้วิเคราะห์หนัง ถามว่ายากไหม ยาก แต่สนุกในการพยายามทำความเข้าใจ สมัยนี้มีกูเกิลให้เสิร์ช มียูทูบที่เขาอธิบายก็เลยเข้าใจง่ายขึ้น”
การที่มีโอกาสเข้าแข่งขันโอลิมปิกปรัชญานั้น ณฐเล่าว่าเป็นเรื่องจับพลัดจับผลู วันหนึ่งเขาเสิร์ชแล้วเจอประกาศรับสมัคร ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการเปิดรับ จึงลองส่งใบสมัครดู ผู้สมัครต้องมีอายุเข้าเกณฑ์คือไม่เกิน 20 ปี และยังไม่ได้ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ผู้สมัครต้องทำข้อสอบคัดตัว ซึ่งจำลองรูปแบบจากการแข่งขันโอลิมปิกปรัชญา กล่าวคือมีโจทย์อยู่ 4 ข้อ ผู้สมัครต้องเลือกตอบเพียง 1 ข้อ และให้เวลา 4 ชั่วโมง “โจทย์ที่ผมเลือกทำ เขายกวาทะของอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) เกี่ยวกับทฤษฎีความรู้ ซึ่งกล่าวถึงการที่มนุษย์ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เพื่อจะได้มาซึ่งความรู้นั้น เราสามารถตอบแบบไหนก็ได้ ทั้งในเชิงแสดงความคิดเห็นต่อคำพูดนี้ หรือเสนอแนวคิดใหม่เลย ผมตอบในเชิงไม่เห็นด้วยและให้เหตุผลไป”
ณฐได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย 1 ใน 2 คน เพื่อเดินทางไปแข่งที่ประเทศโปรตุเกส การแข่งขันเริ่มขึ้นในวันที่ 2 จาก 4 วันที่ต้องเก็บตัวทำกิจกรรมร่วมกัน มีผู้เข้าแข่งขันกว่า 40 ประเทศ ความคาดหวังสูงสุดของณฐคือรางวัลชมเชย แต่ที่หวังจริงๆ คือแค่ทำข้อสอบได้เป็นพอ ข้อสอบมีทั้งหมด 4 ข้อ เขาเลือกตอบข้อที่กล่าวถึงปรัชญาการเมืองของฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) “ผมเพิ่งอ่านเล่มนี้มาด้วย เลยเข้าทาง” สิ่งที่ณฐประทับใจที่สุดในการแข่งขันนั้น คือมิตรภาพระหว่างเพื่อนนานาชาติ เป็นการรวมกลุ่มของผู้มีความชอบเหมือนกัน แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
ณฐมีความสนใจเป็นพิเศษในด้านปรัชญาคณิต ปรัชญาฟิสิกส์ และปรัชญาภาษา มีนักปรัชญาที่ชื่นชอบคือลุดวิก วิทเกนสไตน์ (Luwig Wittgenstein) ซึ่งจัดในกลุ่มปรัชญาตะวันตกร่วมสมัย สำหรับณฐความสนุกของวิชาปรัชญาคือ “การได้ถกเถียง การได้คิดไอเดียขึ้นใหม่ การได้วิพากษ์ วิเคราะห์ ได้รู้ความเห็นของคนอื่น และความสนุกอีกอย่างคือการได้เพิ่มเติมความรู้”
การถกเถียงซึ่งเป็นแก่นของวิชาปรัชญานั้น ณฐมองว่าประโยชน์ของกระบวนการนี้คือ การสร้างความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ “ถ้าพูดถึงการเรียนในชั้นเรียน การตั้งคำถาม การถกเถียง คือการที่เราสนใจสิ่งสิ่งหนึ่งและอยากรู้เรื่องนั้นให้ชัดเจน ลึกซึ้งมากขึ้น ในด้านสังคมการตั้งคำถามและถกเถียง เช่น ทำอย่างนี้ได้หรือไม่ ทำอย่างไรจะดีขึ้น มีวิธีอื่นอีกไหม นำไปสู่ความคืบหน้าของอะไรก็ตามที่เรากำลังพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ”
คำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวความดี ความงาม ความรู้นั้นแม้บางคนอาจคิดว่า การตั้งคำถามเช่นนี้ไม่มีเป้าหมาย ตอบไปก็ไม่ได้อะไร เป็นเพียงวิธีการหนึ่งของวิชาปรัชญา แต่ณฐเห็นว่า ต้องมีประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น การพูดเรื่องจริยศาสตร์ก็สามารถนำแนวคิดต่างๆ มาปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้
การที่ประเทศไทยไม่ได้มีการเรียนการสอนสาขาวิชานี้ตั้งแต่การเรียนระดับมัธยมศึกษา ทำให้เราเสียโอกาสอะไรไหม ณฐมีทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า “ผมคิดว่าถ้าเขาไม่สนใจก็อย่าไปบังคับ แต่ถ้าเด็กสนใจอยากเรียน เขาก็ขาดโอกาสที่จะได้ศึกษา การเรียนวิชานี้ช่วยฝึกการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือ critical thinking ฝึกการตั้งคำถาม การแสดงความคิดเห็นของตัวเอง การเสนอแนวคิด และการเปิดกว้างทางความคิด ซึ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่อปราศจากการเรียนการสอน”
สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาปรัชญา ณฐแนะนำว่าให้เริ่มจากปรัชญาพื้นฐาน โดยหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตหรือยูทูบได้ หรือเอาอย่างเขาซึ่งเริ่มต้นจากเรื่องที่สนใจก่อน แล้วค่อยๆ ขยายสู่หัวข้ออื่น ตอนนี้ณฐและเพื่อนๆ ที่รู้จักมักคุ้นกันจากการแข่งโอลิมปิกปรัชญา กำลังทำเว็บไซต์ให้ความรู้เรื่องปรัชญาชื่อ www.cogitosociety.com สามารถเข้าชมได้
คอลัมน์: ยุทธจักร ฅ.ฅน เรื่อง: ภิญญ์สินี ภาพ: อนุชา ศรีกรการ
All magazine ตุลาคม 2565