อินเดียสู้จีน
จีนกับอินเดียสองยักษ์ของโลกแข่งขันกันมานานเพื่อครองความเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ปัจจุบันจีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน ในขณะที่อินเดียมี 1.38 พันล้านคน แต่การพยากรณ์ของสหประชาชาติระบุว่าบัดนี้โลกมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคนแล้ว และในเวลาอีก 2 เดือนข้างหน้าคือต้นปี 2023 อินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีนเป็นครั้งแรก
ในปี 1949 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มปกครองประเทศ จีนมีประชากร 524 ล้านคน เพิ่มเป็น 1.27 พันล้านคนในปี 2000 และอีก 20 กว่าปีต่อมาเป็น 1.4 พันล้านคน อัตราเพิ่มที่ลดต่ำลงเป็นผลจาก “นโยบายลูกคนเดียว” ระหว่างปี 1979-2015
ส่วนอินเดียประชากรเพิ่มจาก 356 ล้านคนในปี 1950 เป็น 1.05 พันล้านคนในปี 2000 และ 1.38 พันล้านคนในปัจจุบัน ทั้งสองประเทศยอมให้มีการเลือกเพศลูกได้ในระยะเวลาหนึ่ง จนอัตราส่วนของเพศชายหญิงเมื่อแรกเกิดบิดเบี้ยว กล่าวคือ ในกรณีปกติควรเป็นชาย 1.06 คนต่อหญิง 1 คน กลายเป็นชาย 1.15 ในจีนและชาย 1.12 ในอินเดีย จำนวนหญิงชายจึงผิดไปจากที่ควรจะเป็นในเวลาต่อมา
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงของจีนตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ทำให้คนจีนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงกว่าคนอินเดียถึงประมาณ 5 เท่าตัว (12,970 ดอลลาร์สหรัฐ กับ 2,466 ดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะที่จีนปกครองด้วยระบบเผด็จการ อินเดียก็ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีขนาดใหญ่และวุ่นวายที่สุดในโลก
โครงสร้างประชากรจีนทำให้เกิดอัตราการพึ่งพิง (จำนวนคนที่เด็กหรือแก่เกินไปที่จะทำงานหารด้วยจำนวนประชากรในวัยทำงาน) ที่สูงขึ้นจนถึงประมาณร้อยละ 40 ในปัจจุบัน ส่วนอินเดียมีสถานการณ์ที่ตรงกันข้าม ถึงแม้ภาครัฐต้องการควบคุมจำนวนประชากร แต่นักการเมืองส่วนหนึ่งก็ต่อสู้ให้มีประชากรจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว
อย่างไรก็ดีผู้คนต้องอยู่รอดในระยะสั้นก่อนถึงระยะยาว ดังนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่จึงกังวลกับการมีประชากรมาก เพราะเกรงว่าสภาพการณ์ว่างงานของคนอินเดียในอนาคตจะเลวร้ายยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่มีการส่งออกขนาดใหญ่ มีภาคอุตสาหกรรมเพียงร้อยละ 14 ของ GDP ฯลฯ จึงขาดพลังที่จะดูดซับแรงงานขนาดใหญ่ อีกทั้งความสามารถในการปรับทักษะแรงงานขนาดใหญ่ยังทำได้จำกัด ดังนั้นจึงอาจเกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา ปัจจุบันตัวเลขผู้อยู่ในวัยแรงงานที่มีงานทำแบบทางการมีเพียงร้อยละ 40 โดยแรงงานส่วนใหญ่ทำการเกษตร หรือภาคที่ไม่เป็นทางการ เช่น รับส่งอาหาร ค้าขายอิสระ รับจ้างรายวัน จักรยานรับจ้าง ขับแท็กซี ฯลฯ
ในอดีตทางการอินเดียเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเองมากกว่าเรื่องการค้าระหว่างประเทศ แต่วันเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วดังกรณีของจีนว่าการค้าคือหัวใจของความมั่งคั่ง รัฐบาลปัจจุบันจึงเริ่มมีการเจรจาการค้าพหุภาคี สนับสนุนการส่งออก ฯลฯ ซึ่งถือได้ว่าดำเนินการช้าไปหลายสิบปี
เมื่อประชากรเพิ่มไม่หยุดจนเป็นที่หนึ่งของโลก นโยบายการค้าเพื่อรับมือสถานการณ์จึงเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครตอบได้ว่าการมีประชากรมากจะเป็นผลบวกหรือลบต่ออินเดีย เพราะอย่างไรเสียประชากรเหล่านี้ก็เกิดมาแล้ว หนทางเดียวที่ต้องดำเนินการคือสร้างสิ่งแวดล้อมให้ประชากรเหล่านี้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และมีทางเลือกในการดำเนินชีวิตมากกว่าที่จะเป็นแรงงานส่วนเกินอยู่ในสังคมเช่นปัจจุบัน
คอลัมน์: สารบำรุงสมอง
เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ