บทเรียนจากโควิดในอินเดีย

-

            โรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกอย่างเสมอหน้าไม่ว่าประเทศร่ำรวยหรือยากจน ณ วันที่ 5 กันยายน 2563 สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 (ป่วย 6.2 ล้านคน ตาย 186,000 คน) บราซิลอันดับ 2 (ป่วย 4 ล้านคน  ตาย 124,000 คน) และอินเดียอันดับ 3 (ป่วย 3.9 ล้านคน  ตาย 68,000 คน) ซึ่งมีโอกาสที่จะแซงหน้าเป็นอันดับหนึ่งได้ มาดูบทเรียนจากอินเดียกัน

 

 

ประการแรก  อินเดียมีประชากรที่แออัดจึงมีโอกาสติดเชื้อกันได้ง่ายดาย เพราะไวรัสโควิดขนาด 0.1 ไมครอนไม่สามารถมีชีวิตโดดๆ ได้ในเวลานาน ต้องอาศัย “เจ้าภาพ” ซึ่งในกรณีนี้คือคน ดังนั้นมันจึงเดินทางไปกับคนที่ติดเชื้อ  ลองคิดดูคร่าวๆ ไทยมีพื้นที่ 500,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 70 ล้านคน อินเดียมีพื้นที่มากกว่าไทย 6 เท่า แต่มีประชากรมากกว่าไทยเกือบ 20 เท่า (อันดับสองของโลกรองจากจีน)  กอปรกับมีระบบสาธารณสุขที่ไม่เข้มแข็งโดยเฉพาะในชนบท  เมื่อมีประกาศล็อกดาวน์ปลายเดือนมีนาคม 2563 แรงงานที่อพยพมาทำงานในเมืองใหญ่ประมาณ 40 ล้านคนต้องอพยพกลับบ้านเพราะอยู่ในเมืองก็อดตาย เชื้อโควิดจึงระบาดออกไปทั่วประเทศ

ประการที่สอง ไม่มีการเตรียมการต่อสู้โควิดที่ดีทั้งที่อินเดียสามารถผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้จะทุ่มเทเงินถึง 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณร้อยละ 10 ของ GDP) เพื่อเป็นสวัสดิการฉุกเฉินและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากเปิดล็อกดาวน์แต่เงินก็ออกไปสู่ประชาชนช้ามาก  เนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของรัฐต่างๆ คนที่อาศัยอยู่ต่างรัฐก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ ในช่วงก่อนจะล็อกดาวน์ผู้คนจำนวนร้อยล้านคนเดินเท้านับเป็นร้อยๆ กิโลเมตรกลับบ้าน การดำเนินชีวิตของผู้คนปั่นป่วนเพราะคำสั่งห้ามออกจากบ้านไม่ชัดเจนว่ามีการยกเว้นให้รถคนทำงานขนส่งอาหาร ยา ฯลฯ หรือไม่

ประการที่สาม อินเดียแทนที่จะประสบปัญหาเดียวคือสู้กับโควิด กลับต้องสู้ถึงอีก 2 ปัญหาใหญ่คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากกิจกรรมเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดหยุดนิ่งเป็นเวลากว่า 2 เดือนอันเนื่องมาจากล็อกดาวน์ และปัญหาการใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขตของรัฐบาล

ปัญหาหนักอกของรัฐบาลจนจำเป็นต้องใช้อำนาจมากเกินงามก็คือนโยบายชาตินิยมอย่างแรงของพรรค BJP ของนายกรัฐมนตรี Modi ซึ่งเพิ่งชนะเลือกตั้งครั้งที่สองเมื่อไม่นานมานี้เพราะนโยบายถูกใจประชาชน อินเดียมีประชากรฮินดูร้อยละ 80 และมุสลิมร้อยละ 14 ความเกลียดชังระหว่างสองกลุ่มศาสนารุนแรงถึงขั้นไล่ฆ่าฟันกัน หรือเผาวัด หรือสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนานับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์

ช่วงก่อนโควิดจะระบาดก็มีการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ล้มตายไปกว่า 100 คนเพราะ 1.ยกเลิกสถานะการปกครองตนเองของแคว้นกัศมีร์ (แคชเมียร์) ที่มีคนมุสลิมอยู่หนาแน่น  2.ประกาศกฎเกณฑ์เข้มงวดขึ้นหากคนมุสลิมจากอัฟกานิสถาน  บังกลาเทศ  และประเทศมุสลิมอื่นๆ ขอแปลงสัญชาติเป็นอินเดีย  3.รัฐบาลใช้อำนาจเข้าไปสร้างวัดในเมืองอโยธยาซึ่งคนฮินดูถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นแหล่งกำเนิดศาสนา แต่บังเอิญเป็นเมืองที่มุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่

ประการที่สี่   อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก (ถึงแม้รายได้ต่อหัวต่ำเพียง 2,300 เหรียญ  แต่มีประชากรถึง 1,350 ล้านคน  จีนมีรายได้ต่อหัว 11,000 เหรียญ  ไทย 7,600 เหรียญ) มีการค้าระหว่างประเทศใหญ่โต  เมื่อทั้งโลกหยุดกิจกรรมเศรษฐกิจพร้อมกันเป็นครั้งแรกด้วยการล็อกดาวน์ การที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจึงเป็นไปได้ยาก  อำนาจซื้อสินค้าจากอินเดียจะยังคงอ่อนไปอีกนาน  มีการคาดคะเนว่าอย่างดีที่สุดเศรษฐกิจอินเดียจะประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเป็นเวลาถึง 2 ปี

ประการที่ห้า    อินเดียอยู่ไม่ไกลจากไทยและมีพรมแดนติดกับเมียนมาร์ประมาณ 1,500 กิโลเมตร  หากคนติดเชื้อโควิดทะลักเข้าเมียนมาร์จำนวนมากและกระจายเชื้อไปทั่ว ก็มีโอกาสที่แรงงานจากเมียนมาร์จะลักลอบเข้าไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับพม่ายาวถึง 2,400 กิโลเมตร การเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงไม่ให้คนแอบข้ามพรมแดนที่ยาวขนาดนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ลักษณะภูมิประเทศดังกล่าวจึงเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นสำหรับไทยไม่น้อย เมื่อคำนึงถึงว่าเมื่อเร็วๆ นี้เมียนมาร์มีคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจนถึง 1,133 คน และตาย 7 คน

อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่สามารถส่งผลกระทบต่อโลกได้อย่างมากในทุกทาง  ดังเช่นการมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทยตลอด 800 ปีที่ผ่านมา  ขอเอาใจช่วยอินเดียให้เอาชนะภัยเศรษฐกิจและเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว และประชากรเผชิญความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


คอลัมน์: สารบำรุงสมอง

เรื่อง: รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!