‘วิน’ ‘เกม’ และ ‘เดียร์’ เป็นเพื่อนสนิทสามคนที่เก่งกันคนละด้าน คนหนึ่งเก่งในด้านการคิดโมเดลธุรกิจ คนหนึ่งเก่งในด้านการประสานผู้คน คนหนึ่งเก่งในด้านการออกแบบ ทำโปรแกรม ฯลฯ ทั้งสามร่วมกันกู้เงิน 50 ล้านบาทมาทำธุรกิจเกม NFT ซึ่งเปิดตัวอย่างมีแววรุ่งจนน่าจะทำให้พวกเขาเป็นเศรษฐีในพริบตาเดียว แต่เพียงชั่วข้ามคืนที่โดนแฮ็ก พวกเขากลายเป็นหนี้นายทุนเงินกู้และต้องหาเงินมาชำระหนี้ทั้งหมดภายในหนึ่งเดือน แต่ธุรกิจของพวกเขาล้มเหลวจนสิ้นเนื้อประดาตัวเสียแล้ว
วันหนึ่งพวกเขาเห็นช่องทางทำเงินจากเงินทำบุญจำนวนมหาศาลผ่าน ‘วัด’ แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากระแสเงินหมุนเวียนนี้ไม่มีกลไกหรือหน่วยงานคอยตรวจสอบ ยิ่งผู้คนศรัทธามาก ยิ่งสามารถเลี่ยงการตรวจสอบได้ง่ายเพราะพุทธศาสนิกชนไม่ได้มองเงินเหล่านี้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่มองว่าเป็นปัจจัยในการบำเพ็ญบุญ
ทั้งสามจึงพลิกแพลงความสามารถของตัวเองมาใช้วางแผนพุทธพาณิชย์ มองเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่ง
เริ่มต้นจากมองหาวัดซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนา แต่ก็ต้องเป็นวัดที่ดูทรุดโทรม ขาดการทำนุบำรุง ไม่มีคณะกรรมการวัดคอยตรวจสอบอย่างเคร่งครัด มีเจ้าอาวาสที่ถูกหว่านล้อมชักจูงง่าย และเมื่อได้เป้าหมายแล้วก็เข้าไปเสนอตัวรับใช้เจ้าอาวาส โดยอ้างว่าจะช่วยเหลือ ‘เผยแพร่ศาสนาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น’
จากนั้นเมื่อสามารถเข้าไปควบคุมการบริหารจัดการวัด ก็จะเข้าถึงการบริหารจัดการเงินที่ไหลเวียนเข้ามา
นั่นคือจุดตั้งต้นของซีรีส์เรื่องสาธุ
หลังจากซีรีส์เรื่องนี้ออกฉายในสตรีมมิ่ง คำวิจารณ์ส่วนหนึ่งบอกว่าพูดถึงด้านมืดที่แฝงอยู่ในพุทธศาสนา
แต่ซีรีส์สาธุไม่ได้ฉายด้านมืดเป็นหลัก
เพราะด้านมืดอาจหมายถึง การโกงเงินวัด พระติดยาบ้า หรือคนทุจริตหากินกับศาสนา ฯลฯ
หลายเหตุการณ์ที่ปรากฏในสาธุ ไม่ใช่ด้านมืด แต่เป็นด้านจริงที่ไม่อาจพูดกันตรงๆ ได้สะดวกหรือ inconvenient truth เมื่อต้องพูดถึงศาสนานอกจากเรื่องแก่น เพราะแทบทุกศาสนาเมื่อขยับขยายไปสู่องค์กรหรือการเผยแพร่ให้เข้าถึงผู้คน ก็ต้องมีเรื่องทางโลกมาเกี่ยวข้อง เช่น
– ‘ทุน’ ต้องมีทุนทรัพย์ จึงจะสามารถสร้างงานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา (เช่น อาคาร วัตถุมงคล ฯลฯ) ต้องมีทุนจึงสามารถขยับขยายหรือดึงดูดผู้คนให้เข้าถึงศาสนา
– ‘อำนาจ’ ในโครงสร้างขององค์กรหรือสถาบันศาสนาแต่ละแห่งก็มีลำดับอำนาจ บางแห่งมีการแย่งชิงอำนาจเพื่อความเป็นใหญ่
– ‘การตลาดและประชาสัมพันธ์’ ไม่ใช่เพื่อดึงคนดึงลูกค้าในแบบทางโลก แต่เพื่อ ‘ดึงความศรัทธา’ เช่นหาบุคคลคล้าย influencer ที่จะทำให้ผู้คนศรัทธา หรือเลือกใช้สัญลักษณ์ทางศาสนาในเชิงวัตถุที่เป็นรูปธรรมเพื่อการเข้าถึงชาวบ้าน (วัตถุมงคลจึงไม่ใช่ด้านมืดเสมอไป) ในอดีตก็มีการใช้ศิลปะหรือชักชวนศิลปินมาสร้างผลงานที่มีเนื้อหาทางศาสนาแต่ยิ่งใหญ่เพื่อให้ผู้คนชื่นชมหรือสักการะ
– ‘connection’ ความยิ่งใหญ่หรือมั่นคงของศาสนาในแต่ละท้องถิ่นหรือระดับประเทศ ล้วนเกี่ยวโยงกับ ‘การเมือง’ หรือภาคการเมืองในสังคมนั้นๆ
ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่หลายคนไม่อยากพูดถึงเพราะนั่นคือเรื่องทางโลก หลายคนมองว่าหากยอมรับอาจทำให้ศาสนาดูมัวหมอง หรือรู้สึกว่าการปล่อยให้ทุนหรือการตลาดมาพัวพันจะทำให้ศีลธรรมตกต่ำลง แต่ในความเป็นจริงเมื่อขยับออกจาก ‘แก่น’ มาสู่การเผยแพร่ศาสนาหรือสู่ความมั่นคง ก็ต้องเกี่ยวข้องกับทางโลกอยู่ดีและเป็นเช่นนี้มานานนับร้อยปีของทุกศาสนา
พฤติกรรมของวิน เกม และเดียร์ ที่นำเงินทำบุญไปใช้ส่วนตัวจึงเรียกได้ว่าด้านมืดหรือหากินกับศาสนา แต่วิธีคิดแบบ business model หรือแนวทางประชาสัมพันธ์ที่พวกเขาใช้ ต่างก็เป็นสิ่งที่มีมาช้านาน แค่ไม่เคยถูกถอดรหัสให้เป็นทางโลกตรงๆ แบบในซีรีส์
ความสมดุลซึ่งศาสนาต้องสื่อสารกับทางโลก (เช่นเรื่องวัตถุมงคล ฯลฯ) จึงควรเป็นประเด็นที่น่าถกเถียงหรือพูดคุยกันมากกว่าว่า ณ จุดไหนมันจึงจะเป็นที่ยอมรับได้ในสังคม
อีกพล็อตย่อยซึ่งซีรีส์สาธุใส่เข้ามาก็น่าสนใจ คือนอกจากวัดหรือสถาบันศาสนาจะมีทางโลกมาเกี่ยวข้อง ตัวบุคคลเช่นพระที่เมื่อเลือกเข้าสู่ทางธรรม ก็ต้องฝึกควบคุมพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่ต้องเกลือกกลั้วกับกิเลสมากมาย คือความท้าทายที่ไม่ใช่ทุกคนจะผ่านไปได้
ด้านมืดส่วนบุคคล (พระ)ในซีรีส์คือเป็นเรื่องของมารศาสนา เช่น พระที่เลือกบวชมาใช้วัดเป็นช่องทางขายยาเสพติด พระที่เป็นเครือข่ายเดียวกับนายทุนผู้ไม่รู้สึกผิดในการทำร้ายหรือฆ่าคน ฯลฯ
แต่ด้านจริงที่อาจกระอักกระอ่วนใจหากต้องคุยกันตรงๆ หรือ inconvenient truth ในส่วนบุคคล (พระ)คือวิถีของตัวละครชื่อ ‘พระดล’ พระวัดป่าในอำเภอเล็ก
พระดลเมื่อมองผ่าน business model ถือเป็น influencer เพราะมีวิธีการเทศน์และบุคลิกภาพที่ชาวบ้านพากันเลื่อมใส แม้คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อินกับศาสนาก็ยังสนใจฟัง กลุ่มสามเกลอจึงหาทางเกลี้ยกล่อมให้พระดลเข้าร่วมโครงการโดยไม่บอกความจริงให้พระดลรู้ และอ้างแต่เพียงว่าต้องการให้พระดลมาช่วย ‘เผยแผ่ศาสนา/ช่วยให้ศาสนาเข้าถึงคนรุ่นใหม่’
พระดลไม่รู้ตัวว่าโดนหลอก แต่ก็ยังมีความมุ่งมั่นตั้งใจอันดีที่จะเผยแผ่ศาสนา โดยหารู้ไม่ว่าความเป็นมนุษย์ในตนเองที่เคยควบคุมได้เมื่อใช้ชีวิตในวัดป่า พอออกมาสู่โลกกว้างและเจอผู้คนมากขึ้น ‘โอกาส’ ที่จะผจญมารคือกิเลสเครื่องเศร้าหมองก็สูงขึ้นด้วย จึงเริ่มถูกกิเลสครอบงำ และเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละนิดตั้งแต่ย้ายนิกายมาเป็นพระวัดบ้าน จนถึงมีส่วนสำคัญในการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งเป็นผลจากความรักที่ก่อตัว
ซับพล็อตของ ‘พระดล’ จึงไม่ใช่เรื่องของด้านมืด แต่คือเรื่องความเป็นมนุษย์กับทางโลกที่ซ้อนทับกับศาสนา เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะเกิดกิเลส มีความอยากได้อยากมี ความต้องการทางเพศ ความรัก ฯลฯ ทว่านั่นเป็นข้อห้ามทางศาสนาขณะปฏิบัติ หากแต่พระดลจงใจปกปิดและทำผิดต่อศาสนาที่ตนเองเลือกเข้าปฏิบัติ (เช่นแอบคบหากับสีกาในเชิงชู้สาว แอบมีกิจกรรมทางเพศ ลักลอบค้ายาเสพติด ฯลฯ) นั่นอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวด้านมืด
แต่เมื่อพระดลรู้ว่าความเป็นมนุษย์ทางโลกในตนเองนั้น ช่างยากแก่การควบคุม และรู้ว่ายิ่งอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ยิ่งผิดต่อพระธรรมวินัย แล้วเลือก ‘ยอมรับ’ และตัดสินใจสละผ้าเหลือง นั่นคือวิถีปฏิบัติที่น่าเคารพนับถือในฐานะที่เป็นพระและปุถุชน
ตัวละครพระดลเป็นอุทาหรณ์ที่จะช่วยกระตุ้นให้พุทธศาสนิกชนได้มองภาพรวมของศาสนาแบบไม่เหมารวม (sterotyped) ทั้งด้านดีหรือแย่
‘แก่นของศาสนา’ คือหลักสำคัญที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง แต่ศาสนาขับเคลื่อนด้วย ‘มนุษย์’ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ไม่ได้ดีพร้อมหรือชั่วช้าเสมอไป ไม่อาจแทนที่ด้วยสีขาวหรือดำแบบตายตัว มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ไม่ว่าจะทางดีหรือร้าย แปรผันตามโลกภายนอกที่ตนเองประสบพบเห็น หากเราเชิดชูใครง่ายๆ โดยปราศจากการไตร่ตรองหรือตรวจสอบก็อาจเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือมารศาสนาที่หากินอยู่จริงๆ
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
( www.facebook.com/ibehindyou, i_behind_you@yahoo.com )