‘เชื่อหัวไอ้เรือง’ เหอะ

-

วันหนึ่งหลานได้ยินเพื่อนพูดว่า “เชื่อหัวไอ้เรืองเหอะ” เมื่อพบกัน จึงถามผู้เขียนว่าสำนวนนี้มีที่มาจากไหน ฉบับนี้จึงสบโอกาสที่จะนำเสนอชื่อตัวละครสำคัญในวรรณกรรมบางเรื่องซึ่งมีบุคลิกลักษณะโดดเด่นจนมีผู้นำมาพูดกันเป็นสำนวน เช่น “เชื่อหัวไอ้เรือง” “ลุงเชย” “ยายเพิ้ง” เป็นต้น

 

เชื่อหัวไอ้เรือง

“ไอ้เรือง” เป็นตัวละครในนวนิยายเรื่องดาวเรือง ของ “ทมยันตี” (คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์) นวนิยายเรื่องนี้มีเนื้อเรื่องสนุกสนานขบขันจึงมีผู้นำมาจัดทำเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ โดยเฉพาะละครโทรทัศน์เป็นที่นิยมมาก มีการสร้างใหม่หลายครั้ง นางเอกในเรื่องชื่อดาวเรือง เป็นเด็กสาววัยรุ่นที่แก่นแก้ว ห้าวหาญเหมือนผู้ชาย ไม่กลัวใคร ฉลาดแกมโกงแต่มีความรับผิดชอบสูง ดูแลหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อยและเป็นนักวางแผนตัวยง เช่น ตอนหลวงตาผู้หวังดีแอบมาบอกแม่กับดาวเรืองว่า วรรณเด็กหนุ่มเกเรที่หลงรักดาวเรืองแต่ถูกเธอข่มอยู่ตลอด ได้ไปหาหลวงตาให้หาฤกษ์ที่จะฉุดดาวเรืองเพื่อแก้แค้น แม่จึงขอให้ดาวเรืองหลบไปอยู่กับพี่ชายที่กรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว แต่เธอปฏิเสธ พูดกับแม่ว่า

“ไม่ดีหรอกแม่ มันอยากฉุดต้องให้มันฉุด เอาเสียให้เข็ด”

เจ้าเรืองมันพูดหน้าตาเฉย จนแม่บานชื่นอ้าปากค้าง

“อ๊ะ มันเรื่องอะไรถึงยอมให้มันฉุด?”

“เถอะน่าแม่ บอกแล้วไงว่าเชื่อหัวไอ้เรืองเหอะแล้วดีเอง”

 

“เชื่อหัวไอ้เรือง” ได้ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบให้มีความหมายว่าผู้ที่มาปรับทุกข์ขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากตนจงเชื่อมั่นในแผนที่ตนวางไว้ เช่น ชุบตบบ่าออดเพื่อนรักที่กังวลเรื่องนิดเพื่อนสาวของเขาจะไปตามนัดเพื่อเที่ยวงานคืนวันลอยกระทงแน่หรือไม่ แล้วพูดว่า “เชื่อหัวไอ้เรืองเหอะ ถ้าแกพูดตามที่ข้าแนะไว้ ขี้คร้านยายนิดจะไปรอแกแต่หัววันน่ะซี”

 

 

ลุงเชย

คำว่า “เชย” ที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้มีที่มาจากชื่อตัวละครในหัสนิยายอมตะสะท้อนภาพสังคมที่แต่งเป็นตอนๆ ของ “ป. อินทรปาลิต” (ปรีชา อินทรปาลิต) เรื่อง พล นิกร กิมหงวน ในช่วง พ.ศ.2481-2511[*]  เรื่องนี้กล่าวได้ว่าเป็นนวนิยายยอดนิยมแห่งยุคสมัย ภายหลังได้มีการนำหลายๆ ตอนมารวมเป็นเล่มๆใช้ชื่อว่า “ชุดสามเกลอ” ตัวละครหลักที่มีบทบาทในทุกตอนได้แก่ พล พัชราภรณ์ นิกร การุณวงศ์ และกิมหงวน ไทยแท้ ส่วน ดร.ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ เจ้าคุณปัจจนึกพินาศ เชย พัชราภรณ์ (ลุงเชย) ศักดิ์แห้ว โหระพากุล (เจ้าแห้ว) ฯลฯ จะปรากฏบทบาทอยู่ในบางตอน

ลุงเชยเป็นพี่ชายแท้ๆ ของเจ้าคุณประสิทธิ์นิติศาสตร์ บิดาของพล มีบ้านอยู่ปากน้ำโพ (นครสวรรค์) แกจะเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมเยียนและพักผ่อนอยู่กับน้องๆ และหลานๆ ที่บ้านพัชราภรณ์ปีละครั้ง ด้วยความที่เป็นเศรษฐีชราบ้านนอกที่ขี้เหนียวและรู้มากที่สุดในโลก จึงถูกบรรดาหลานๆ รวมทั้งเจ้าแห้วคนรับใช้กลั่นแกล้งล้อเลียนอย่างสนุกสนานอยู่เสมอ แต่ลุงเชยก็ไม่ได้โกรธอะไรจริงจัง แกพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ภาษา เช่น เรียก “ห้องแล็บ” เป็น “ห้องแกลบ” หรือด้านอาหารการกิน เช่น ถูกเจ้าแห้วหลอกให้กิน “มัสตาด” โดยบอกว่าเป็น “กาละแมฝรั่ง” ที่ฝรั่งมีวิธีทำให้เป็นสีเหลือง หรือด้านการแต่งกาย เช่น ในเรื่อง “กินจุ” ผู้เขียนพรรณนาภาพลุงเชยตอนเตรียมตัวจะเดินทางกลับปากน้ำโพไว้ว่า “…ชายชราแต่งกายสากลเรียบร้อย แต่เสื้อกางเกงที่สวมไม่ได้รูป และผูกเน็คไทยานเทิบทาบจนเกินไป…”

ชื่อ“ลุงเชย” ถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบชายหนุ่มที่มีบุคลิกลักษณะเปิ่นๆ ไม่ทันสมัย ทำให้ดูน่าขบขัน เช่น พิพัฒน์พูดกับสมัยเพื่อนสนิทที่นัดพบกันจะไปดูภาพยนตร์ว่า “เฮ้ย! รองเท้าคู่นี้เลิกใส่ได้แล้ว เสื้อนี่ก็เหมือนกัน อย่าทำตัวเป็นลุงเชยหน่อยเลยน่า อย่างนี้สาวๆ ที่ไหนเขาจะแลวะ”

[*] ตอนแรกชื่อว่า “อายผู้หญิง”


คอลัมน์:  คมคำสำนวนไทย

เรื่อง: ยุพร แสงทักษิณ  ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!