เปิดเรื่องที่หญิงชราโรคสมองเสื่อมถูกพาเข้าบ้านพักคนชรา ลูกชายของเธอจึงฟ้องศาลเพื่อให้ปล่อยแม่ออกมาเพราะแม่ไม่เคยต้องการไปอยู่ในนั้นเลย แต่ในศาลมีหญิงสาวคนหนึ่งอ้างว่าตัวเองดูแล (care) ผู้สูงอายุที่เป็นโรคสมองเสื่อมได้ดีกว่าลูกของเธอเอง เพราะลูกของเธอไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร
เธอบอกว่า “การดูแล (care) คืองานของฉัน คือวิชาชีพของฉัน” มาร์ล่า เกรย์สัน ผู้อนุบาลหญิงชราซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากศาลกล่าวด้วยท่าทางมั่นใจ
ในทางกฎหมาย เมื่อศาลสั่งให้ใครก็ตามเป็นบุคคลไร้ความสามารถ (incompetent person) จากภาวะที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น โรคสมองเสื่อมในระดับรุนแรง, พิการทางสมอง ฯลฯ ก็จะมีคำสั่งตั้งผู้อนุบาล (guardian) เพื่อดูแลผลประโยชน์ ทำนิติกรรม จัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์
หากบุคคลนั้นมีครอบครัว สมาชิกในครอบครัวก็อาจตกลงกันว่าใครจะรับผิดชอบหน้าที่นั้น แต่ในบางครอบครัวก็ขึ้นโรงขึ้นศาลแย่งกันเป็นผู้อนุบาล บ้างก็หวังฮุบสมบัติโดยอาศัยการเป็นผู้อนุบาลบังหน้า
และนี่คือช่องทางธุรกิจของมาร์ล่าใน I Care a Lot
มาร์ล่ากับทีมงานเฝ้าสอดส่องหาผู้สูงอายุที่ไร้คนดูแลโดยมีเครือข่ายซึ่งเธอประสานอยู่สองทาง หนึ่งคือเจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชราผู้จะคอยแจ้งเมื่อมีห้องว่าง คอยประสานงานหาวิธีจัดการเหยื่อที่มาร์ล่าพาเข้าไปอยู่ เช่น ยึดโทรศัพท์มือถือไม่ให้ติดต่อคนภายนอกโดยอ้างเหตุผลต่างๆ นานาในเชิงว่าห่วงใย
สองคือหมอเอมอส เธอคือหมอที่รักษากลุ่มผู้สูงอายุ หมอจะเล็งว่ามีผู้สูงอายุคนไหนที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อมแล้วญาติไม่ค่อยดูแล จากนั้นก็เสนอชื่อให้มาร์ล่า ถ้าตกลงกันได้ หมอก็ยื่นเรื่องต่อศาลและโกหกว่าอาการของผู้ป่วยนั้นรุนแรง (แต่ที่จริงเป็นแค่อาการสมองเสื่อมขั้นต้นคือหลงลืมเล็กน้อย) จนต้องมีผู้อนุบาลฉุกเฉิน แล้วมาร์ล่าก็จะปรากฏตัวเป็นผู้อนุบาลพาเหยื่อไปบ้านพักคนชราแล้วเข้าจัดการทรัพย์สินของเหยื่อ
ผู้พิพากษาไม่รู้เท่าทันมาร์ล่า ยิ่งเห็นเธอดูแลผู้สูงอายุมาหลายรายแบบเป็นระบบ ก็ยิ่งไว้ใจว่าเธอทำงานตรงนี้ได้ดี แต่หารู้ไม่ว่านี่คือธุรกิจ คืออาชญากรรมที่ทำกันเป็นเครือข่ายของหมอผู้ผิดจริยธรรมและเจ้าของบ้านพักคนชราโดยมีมาร์ล่าเป็นศูนย์กลาง
คำว่า care ซึ่งมาร์ล่าพูดในฉากเปิดเรื่องหลายหน พิสูจน์ให้เห็นภายหลังว่าเธอ care จริงๆ เหมือนชื่อหนัง แต่ care ของมาร์ล่าไม่ใช่ในแง่ห่วงใย ทว่าคือใส่ใจรายละเอียดและดูแลผลประโยชน์ของเหล่าคนชราโดยมีจุดหมายเดียว นั่นคือหาประโยชน์ให้ตัวเอง
ดังตัวอย่างของเหยื่อรายล่าสุด หนังแสดงให้เห็นกระบวนการทำงานของมาร์ล่า เธอไปพาตัวเหยื่อเข้าบ้านพักคนชราทั้งที่เหยื่อไม่เต็มใจ โดยใช้ “ระบบและกฎหมาย” เป็นเครื่องมือ มีเจ้าหน้าที่มาควบคุมเหยื่อ มีหมายศาลอย่างถูกต้อง
เหยื่อรายล่าสุดของเธอคือเจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน ซึ่งเป็นเหยื่อในอุดมคติที่เธอต้องการ เพราะเจนนิเฟอร์ร่ำรวย แถมไม่มีลูกหลานหรือญาติที่จะมาทวงสิทธิพาเจนนิเฟอร์กลับไปดูแล
เรียกได้ว่ามาร์ล่าคือตัวละคร “หญิงร้าย” ที่คนดูไม่น่าจะเอาใจช่วย ทั้งเลือดเย็นและไร้ศีลธรรม จนเมื่อหนังตีแผ่ตัวตนที่แท้จริงของ เจนนิเฟอร์ ปีเตอร์สัน
ระบบศีลธรรมในตัวเราจะถูกทดสอบผ่านหนังน่าสนใจ
===
ช่วงยี่สิบนาทีแรก ไม่น่าจะมีใครเข้าข้างหรือเห็นใจมาร์ล่า เพราะในสายตาคนดู มาร์ล่าคือ “มิจฉาชีพ/ผู้ล่า” โดยมีเหล่าผู้สูงอายุเป็น “เหยื่อ” ยิ่งมาร์ล่ากดดันหรือหาทางเล่นงานด้วยกลเม็ดที่แพรวพราว ยิ่งกระตุ้นความร้ายในตัวเธอให้เรารังเกียจ เพราะระบบศีลธรรมพื้นฐานในใจก็น่าจะบอกคล้ายกันว่า มาร์ล่าทำผิด
แต่เมื่อหนังเปิดเผยว่าเจนนิเฟอร์ไม่ใช่เหยื่อที่ใสๆ ซื่อๆ เธอก็มีเครือข่ายเช่นกัน เป็นเครือข่ายที่พร้อมฆ่าทุกคนที่ขวางทาง วางแผนฆาตกรรมอำพรางคนอย่างโหดเหี้ยม แล้วมาร์ล่ากับคนรักก็กำลังเป็นเป้าหมายถัดไป
จากคนชั่วร้ายที่คนดูรังเกียจ (มาร์ล่า) ใช้วิธีสกปรกหาผลประโยชน์ (ติดสินบน, หลอกลวง) ต้องมาเจอคนที่ชั่วร้ายกว่า (มาเฟีย) ตามเล่นงานด้วยวิธีที่ชั่วร้ายกว่า (ฆ่าคน) ตาชั่งศีลธรรมในใจคนดูเลยพร้อมเปลี่ยนจากรังเกียจมาร์ล่ามาเป็นเอาใจช่วยแทน
และนี่ก็อาจสะท้อนคำพูดของมาร์ล่าที่เป็น monologue สื่อสารกับคนดูในช่วงต้นเรื่อง
“คุณคิดว่าคุณเป็นคนดี คุณไม่ใช่คนดีหรอก เชื่อฉันสิ มันไม่มีหรอกไอ้สิ่งที่เรียกว่า ‘คนดี’
ฉันเคยคิดแบบคุณที่ว่าถ้าทำงานหนักและทำตามกติกาก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุข แต่ไม่จริงหรอก
การทำตามกติกาคือเรื่องหลอกลวงที่คนรวยแต่งขึ้นมาเพื่อให้พวกเรายังจนเหมือนเดิม
มีคนที่แย่งชิงกับคนที่ถูกช่วงชิง ผู้ล่ากับเหยื่อ สิงโตกับลูกแกะ”
นี่คือความน่าสนใจของจิตมนุษย์ที่แปรผันได้ ศีลธรรมไม่ได้ตายตัว แต่มีลักษณะสัมพัทธภาพ
เราตัดสินคนได้ไม่ยากว่าใครดีหรือชั่ว เช่น ตอนต้นเรื่องมาร์ล่าคือคนชั่วร้าย คือสิงโต โดยมีเจนนิเฟอร์เป็นเหยื่อหรือลูกแกะ แต่ต่อมาหนังพลิกสถานการณ์ให้กลับขั้วกัน คำว่า “คนดี/ชั่ว” เริ่มเลือนราง เราเพียงเข้าข้างฝ่ายที่เป็น “เหยื่อ” โดยวัดระดับของ “การทำผิด/ทำชั่ว” ว่าใครชั่วกว่าก็กลายเป็นคนร้าย จนอาจลืมไปว่าคนที่เรากำลังเอาใจช่วยคือคนที่เรารังเกียจมากขนาดไหน
==
โรซามันด์ ไพค์ ได้รางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงนำหญิงในหมวดคอเมดี้จากหนังเรื่องนี้ แม้บทร้ายในเรื่องจะเป็นแนวร้ายโฉ่งฉ่างและอดไม่ได้ที่เราอาจนำไปเทียบกับความร้ายลึกซึ่งคนดูส่วนใหญ่จดจำจาก Gone Girl แต่เสน่ห์ของโรซามันด์ในเรื่องนี้ร้อนแรงยิ่งกว่า เราเห็นการแสดงที่หลากหลายฉายความมุ่งมั่นแน่วแน่เต็มเปี่ยมเพื่อที่จะเป็น “ผู้ชนะ” เห็นแคแรคเตอร์เป็นตัวแทนฝ่ายหญิงที่จะไม่ยอมให้ชายมาข่มเหง เห็นลีลาความเจ้าเล่ห์แพรวพราว
นี่คือบทที่น่าสนใจและทำให้ตัวละครมี mentality แบบนักสู้จนชวนให้สงสัยว่าปัจจัยอะไรที่ผลักดันให้เธอเป็นคนมีจิตใจแกร่งเกินปกติแบบนี้
ในแง่หนึ่งอาจเป็นเหมือนคนที่มีฝันแบบอเมริกันผู้มุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จ แต่ในอีกแง่หนึ่งเราก็จะเห็นความบ้าบิ่นไม่กลัวตายเพียงแค่ยอมไม่ได้ที่จะพ่ายแพ้ในเกมที่เธอคิดว่าอีกฝ่ายเล่นไม่แฟร์ (อันที่จริง เธอก็เล่นไม่แฟร์กับเหยื่อ แต่เธอถือว่าตัวเองยังเล่นสกปรกอยู่ในระบบหรือตามกรอบของ “กฎหมาย” แต่มาเฟียเล่นในระบบแค่ช่วงเสนอเงินตอนต้นแล้วจากนั้นก็ทำตัวนอกกฎหมาย)
ยิ่งได้เสื้อผ้าหน้าผมซึ่งทำให้เธอโดดเด่นเสมอ แล้วเลือกสีในแต่ละฉากที่คุมโทนเข้ากับชุดของมาร์ล่า ทุกฉากที่มีเธอเลยล้วนน่ามอง ต้องชมฝ่ายออกแบบซึ่งดีไซน์ตัวละครมาร์ล่า เกรย์สันให้เป็นตัวละครที่น่าจดจำทั้งภายในและภายนอก
คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ
เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ”
(www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)