สังเกตได้ว่าระยะหลังนิยายจากประเทศญี่ปุ่นกลับมาได้รับความที่นิยมในบ้านเราอีกครั้ง หลังจากที่เคยเป็นกระแสพักใหญ่ก่อนจะซาลงไป มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ นำนิยายแนวต่างๆ ของญี่ปุ่นมาตีพิมพ์ บ้างเป็นแนวอบอุ่นหัวใจ บ้างก็เป็นวรรณกรรมคลาสสิค และขาดไม่ได้คือนิยายสืบสวนสอบสวนที่ต้องยอมรับว่านักเขียนชาวญี่ปุ่นรังสรรค์ไว้อย่างมีเอกลักษณ์ Hummingbooks (ฮัมมิ่งบุ๊คส์) คือสำนักพิมพ์ที่เราอยากแนะนำในครั้งนี้ นี่คือผู้จัดพิมพ์นิยายลึกลับ-สืบสวนสอบสวนแนวถนัด ที่พวกเขาตั้งใจมากๆ ในการคัดสรรมาให้ผู้อ่าน เรามีโอกาสคุยกับ อาจารย์ฉัตรระวี มหิธิธรรมธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ผู้เป็นบรรณาธิการอำนวยการ ดูแลภาพรวมของสำนักพิมพ์ Hummingbooks
สำนักพิมพ์ Hummingbooks ก่อตั้งขึ้นมาได้อย่างไร
ย้อนไปเมื่อปี 2556 พี่ชาย (ภาคย์ มหิธิธรรมธร) ชอบอ่านนิยายแปลภาษาญี่ปุ่นแนวสืบสวนของ อิมะมุระ อายะ มาก และนักเขียนท่านนี้ยังมีผลงานอีกหลายเล่มที่ไม่ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ประกอบกับพี่ชายเรียนจบคณะวิทยาศาสตร์ ด้านการพิมพ์ จากจุฬาฯ จึงพอมีความรู้เรื่องสิ่งพิมพ์ จึงมาชวนให้ช่วยกันทำสำนักพิมพ์ ส่วนตัวก็เป็นคนชอบเขียนเรื่องสั้นแนวลึกลับลงนิตยสาร และก็ชอบอ่านนิยายแนวลึกลับอยู่แล้ว เลยตอบตกลงค่ะ เราเริ่มจากทำหนังสือแนวลึกลับ-สืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นที่พวกเราชอบอ่าน ผลงานสองเล่มแรกของสำนักพิมพ์จึงเป็นผลงานเขียนของ อิมะมุระ อายะ ได้แก่ กุหลาบเลือด และ ฆาตกรรมล้างตระกูล
ชื่อสำนักพิมพ์ Hummingbooks มีที่มาจากไหน
มาจากคำว่า hummingbird ค่ะ นกชนิดนี้เป็นนกขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่มีความสามารถหลายอย่าง ทั้งกระพือปีกถี่จนสามารถลอยตัวกลางอากาศ บินเร็วมาก และมีความกล้าหาญในการเผชิญสิ่งต่างๆ ด้วย เลยนำชื่อนกชนิดนี้มาตั้งเป็นชื่อสำนักพิมพ์ค่ะ แล้วเล่นคำเปลี่ยนจาก bird เป็น book(s) แทน
Hummingbooks เน้นหนังสือแนวใดเป็นหลัก
นิยายแปลแนวลึกลับ-สืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียวเลยค่ะ โดยเน้นวรรณกรรมร่วมสมัยที่อ่านง่ายค่ะ
นิยายสืบสวนสอบสวนญี่ปุ่นของ Hummingbooks แตกต่างจากสำนักพิมพ์อื่นอย่างไร
ด้วยความที่เราโฟกัสเฉพาะนิยายแปลแนวลึกลับ-สืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่น เราจึงสามารถทำแนวนี้ได้อย่างเจาะลึกและครอบคลุม อย่างบางเล่มเป็นแนวสืบสวนจริงจัง บางเล่มเป็นแนวสืบสวนเบาๆ บางเล่มเป็นแนวสืบสวนเบาๆ ที่ผสมผสานความแฟนตาซี บางเล่มเป็นแนวลึกลับมีภูตผีวิญญาณ และบางเล่มก็เป็นแนวลึกลับซึ่งเกิดจากความดำมืดของจิตใจมนุษย์ค่ะ เราลงมืออะไรแล้วก็อยากทำสิ่งนั้นให้เต็มที่ค่ะ
มีเกณฑ์อะไรบ้างในการคัดเลือกหนังสือ
อย่างแรกเลยคือเล่มนั้นต้องมีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน มีธีมเรื่องที่ผู้อ่านน่าจะชอบหรือมีความน่าสนใจ ต่อมาคือต้องอ่านสนุก อ่านง่าย ไม่ต้องตีความซับซ้อน หรือบางทีเราก็เลือกผลงานของนักเขียนที่มีฐานผู้อ่านอยู่แล้วมาทำค่ะ นอกจากนี้ ด้วยงานประจำของเราซึ่งคลุกคลีกับภาพยนตร์ จึงมองว่าการผลิตและการขาย ‘หนังสือ’ กับ ‘ภาพยนตร์’ มีความเหมือนกัน หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘หน้าหนัง’ ในวงการภาพยนตร์ หนังควรต้องมี ‘หน้าหนัง’ ที่น่าสนใจและดึงดูดให้คนตีตั๋วเข้าชม หนังสือที่เราเลือกมาแปลก็เช่นกัน ต้องมี ‘หน้าหนัง’ ที่น่าสนใจมากพอให้ผู้อ่านจ่ายเงินซื้อได้
กลุ่มเป้าหมายของสำนักพิมพ์ล่ะ?
ตลาดนิยายแปลแนวลึกลับ-สืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นมีกลุ่มผู้อ่านประจำที่ชื่นชอบและติดตามอย่างเหนียวแน่นอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย และผู้ใหญ่วัยทำงาน ซึ่งจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายค่ะ
ปัจจุบันออกหนังสือมาแล้วกี่เล่ม
12 เล่มค่ะ
เล่มขายดีของสำนักพิมพ์คือเล่มไหน
คดีฆาตกรรมหมู่บ้านชิราคาวะโกะ ซึ่งเป็นเล่มแรกในซีรีส์ ‘มรดกโลกของญี่ปุ่น’ เป็นซีรีส์ไขคดีฆาตกรรมปริศนาที่เกิดขึ้นตามแหล่งมรดกโลกต่างๆ ในญี่ปุ่น ตอนเปิดตัวเล่มแรก กระแสตอบรับดีมากๆ ยอดขายเป็นที่น่าพอใจเลยค่ะ ตอนนี้มีเล่มสองออกตามมาแล้วคือ คดีฆาตกรรมภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งกระแสตอบรับดีมากเหมือนกัน จากนี้จะมีเล่มปิดท้ายซีรีส์คือ คดีฆาตกรรมโดมระเบิดปรมาณู ซึ่งเป็นคดีฆ่าหั่นศพสาวอาบอบนวด บนแผ่นหลังของศพมีข้อความเขียนไว้ว่า “ขอจงหลับใหลอย่างสงบ” ซึ่งเหมือนกับข้อความจารึกบนอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูในฮิโรชิมะค่ะ
นิยายสืบสวนญี่ปุ่นในบ้านเรามีความหลากหลายแค่ไหน
ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างมีความหลากหลายเลยค่ะ เพราะสำนักพิมพ์หลายแห่งที่ทำแนวนี้ก็มีแคแรกเตอร์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน สไตล์ของเรื่องที่ถูกเลือกนำมาแปลจึงแตกต่างกันตามความถนัดของแต่ละสำนักพิมพ์ค่ะ
ตลาดหนังสือแนวเดียวกับสำนักพิมพ์เป็นอย่างไร มีคู่แข่งมากหรือน้อย
ตอนนี้ก็มีหลายสำนักพิมพ์ที่มาทำแนวนี้ค่ะ แต่เรามองว่าแต่ละแห่งก็มีแคแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน ส่วนตัวเลยไม่ได้มองว่ามีคู่แข่งมากหรือน้อย แต่เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้อ่าน สามารถเลือกเล่มที่ตรงกับความชอบจริงๆ ได้มากขึ้นค่ะ
เมื่อหลายปีก่อนหนังสือแปลจากญี่ปุ่นบูมมากในบ้านเรา ปัจจุบันคุณมองว่าตลาดแนวนี้เป็นอย่างไร
ตอนนี้ตลาดนิยายแปลของญี่ปุ่นกลับมาบูมอีกครั้งนะคะ โดยเฉพาะแนวฟีลกู๊ดอบอุ่นหัวใจ เห็นได้ว่ามีหนังสือออกมาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแต่ละสำนักพิมพ์พยายามตั้งใจคัดสรรต้นฉบับที่น่าสนใจมานำเสนอ หลายเล่มจึงตรงกับความต้องการของผู้อ่าน จนเกิดเป็นกระแสและได้รับการกล่าวขวัญในโลกออนไลน์ คนอ่านรายใหม่จึงมีมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของนิยายแปลญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นที่จับตามองในวงการหนังสือค่ะ
สำนักพิมพ์วางแผนการตลาดอะไรบ้าง
พอใกล้ออกหนังสือใหม่ เราจะเปิดพรีออร์เดอร์ตามช่องทางต่างๆ เพื่อโปรโมทหนังสือให้ผู้อ่านเห็นหรือรับรู้เท่าที่จะมากได้ และออกแบบปกให้สวยเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน เรามีโอกาสได้ร่วมงานกับนักออกแบบปกและศิลปินชื่อดังหลายท่าน นอกจากนี้ในบางครั้งเรามีของแถมเพื่อส่งเสริมการขายด้วย อีกทั้งระยะหลังมานี้หนังสือของฮัมมิ่งบุ๊คส์เริ่มมีจำนวนปกมากขึ้น เราก็จะไปร่วมออกบูธในงานหนังสือต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านรู้จักเรามากขึ้น นับเป็นโอกาสอันดีในการพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้อ่านทั้งเก่าและใหม่ รับฟีดแบ็คจากผู้อ่านได้โดยตรง ในปีหน้าเราตั้งใจจะจัดกิจกรรมโดยให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการทำหนังสือกับเราด้วยค่ะ
เราสามารถเจอหนังสือของ Hummingbooks ได้ที่ไหน
มีวางขายตามร้านหนังสือทั่วประเทศเลยค่ะ รวมทั้งช่องทางออนไลน์ของร้านหนังสืออิสระ หรือสั่งซื้อผ่านทาง inbox เพจของสำนักพิมพ์ก็ได้
อุปสรรคในการทำสำนักพิมพ์มีอะไรบ้าง แล้วผ่านปัญหานั้นได้อย่างไร
เราเริ่มทำสำนักพิมพ์ด้วยเงินเก็บของตัวเอง ไม่ได้กู้ธนาคาร ดังนั้นเงินทุนจึงมีจำกัด ต้องออกหนังสือทีละเล่ม สำนักพิมพ์เลยไม่เป็นที่รู้จักนัก กระทั่งเมื่อสองปีที่แล้วเราตัดสินใจรีแบรนด์สำนักพิมพ์ เปลี่ยนโลโก้ใหม่ (ออกแบบโดย wrongdesign) เปลี่ยนขนาดรูปเล่มให้เล็กลงเพื่อพกพาง่ายขึ้น เปลี่ยนสไตล์ภาพปกใหม่ให้สวยเด่นสะดุดตา ผลคือมีกระแสตอบรับจากผู้อ่านดีมาก ยอดขายดีขึ้นเยอะ ขณะเดียวกันเรายังรักษาคุณภาพการทำหนังสือได้เหมือนเดิม ส่งผลให้ผู้อ่านเริ่มรู้จักสำนักพิมพ์ของเรา พอทำไปได้สักระยะ เราก็มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น กำลังการผลิตหนังสือจึงเพิ่มด้วย พอเราออกหนังสือเยอะ สำนักพิมพ์ก็เติบโตและเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสำนักพิมพ์มากน้อยแค่ไหน
ส่งผลมากพอสมควรเลย พอมีโควิด-19 ทุกคนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ผู้อ่านต้องประหยัด จึงซื้อหนังสือน้อยลง ยอดขายก็ตก อีกทั้งพอสถานการณ์โควิดรุนแรงขึ้น งานหนังสือก็ถูกยกเลิก ตามปกติแล้วงานหนังสือจะเป็นตัวช่วยให้ทุกสำนักพิมพ์ได้มีเงินสดไปหมุนต่อ ดังนั้นการเงินของทุกสำนักพิมพ์ย่อมฝืดเคืองขึ้น ด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้การหาเงินเลยยากยิ่งกว่าเดิม สำนักพิมพ์เราต้องหันมาบุกตลาดออนไลน์มากขึ้น แม้ว่ารายรับจะเทียบไม่ได้กับการไปขายหนังสือในงานหนังสือค่ะ
แล้วมีวิธีสู้กับวิกฤติโควิด-19 นี้ต่อไป
สิ่งสำคัญที่จะทำให้สำนักพิมพ์อยู่รอดได้คือเราต้องมีเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะ เราลองเลือกสไตล์เรื่องที่แปลกและแตกต่างจากที่มีอยู่ในท้องตลาดมาแปลมากขึ้น เพื่อเพิ่มสีสันและดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน อย่างตอนนี้ตลาดนิยายแปลญี่ปุ่นมีหนังสือออกมาเยอะ ผู้อ่านมีตัวเลือกแยะ ในขณะที่กำลังซื้อจำกัด ดังนั้นเวลาคัดเลือกต้นฉบับ เราต้องเลือกเรื่องที่คิดว่าน่าจะเข้าเป้าจริงๆ มาแปล หรือต้องเป็นเรื่องที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนอ่านได้มากกว่ากลุ่มที่ชอบนิยายแปลสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่น เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น โอกาสขายหนังสือได้ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งเราต้องเน้นขายออนไลน์ โดยทำโปรโมชันจัดเซ็ตลดราคาและมีของแถม เพื่อให้ผู้อ่านซื้อหนังสือโดยตรงกับเรา และให้ความสำคัญแก่การทำการตลาดมากขึ้นด้วยค่ะ
ปีนี้มีวางแผนออกผลงานอะไรบ้าง ยังเน้นแนวหนังสือเดิมอยู่ไหม
ยังคงทำแค่นิยายแปลแนวลึกลับ-สืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นค่ะ เราเชื่อว่าการทำสิ่งที่ถนัดย่อมให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอ เวลาเราชอบหรือถนัดอะไรก็อยากจะตั้งใจทำให้ถึงที่สุดก่อน อย่างปีนี้เราจะเพิ่มจำนวนหนังสือที่ออก ซึ่งมีทั้งผลงานของนักเขียนที่ผู้อ่านคุ้นเคย และผลงานของนักเขียนที่ไม่เคยแปลไทยมาก่อนด้วยค่ะ
3 เล่มที่สำนักพิมพ์ Hummingbooks อยากแนะนำ
• คดีฆาตกรรมหมู่บ้านชิราคาวะโกะ
เขียนโดย โยชิมุระ ทัตสึยะ
เป็นนิยายสืบสวนแบบดั้งเดิม ผูกเรื่องโดยสอดแทรกวัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นเข้าไปด้วยอย่างลงตัว ผู้อ่านที่ชื่นชอบเรื่องการท่องเที่ยวก็น่าจะชอบเล่มนี้
• หนูน้อยหมวกแดงพบศพระหว่างเดินทาง
เขียนโดย อาโอยากิ อาอิโตะ
เป็นนิยายสืบสวนที่นำโครงเรื่องของเทพนิยายดังระดับโลกจำนวน 5 เรื่องได้แก่ หนูน้อยหมวกแดง, ซินเดอเรลลา, ฮันเซลกับเกรเทล, เจ้าหญิงนิทรา และเด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ มาดัดแปลงและเรียงร้อยไว้ด้วยกัน คนที่ไม่ถนัดอ่านนิยายแปลญี่ปุ่นก็สามารถอ่านได้อย่างสบายๆ ผู้อ่านที่ไม่ชอบอ่านอะไรหนักๆ เครียดๆ ก็อ่านได้ บรรยากาศของเรื่องให้อารมณ์เหมือนอ่านนิยายแปลฝั่งตะวันตก
• ด้วยรักและความตาย
เขียนโดย มินะโตะ คะนะเอะ
รวมเรื่องสั้นหักมุม เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ หรือคนที่ไม่ชอบอ่านแนวสืบสวนแบบจริงจัง เป็นเรื่องลึกลับที่สะท้อนก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง
คอลัมน์: ถนนวรรณกรรม
เรื่อง: ภิญญ์สินี
ภาพ: ประสพสุข มิลำเอียง