เราจะลงทุน (ถือสินทรัพย์) นานแค่ไหนดี?

-

หุ้น (และสินทรัพย์ลงทุนอื่น) ต้องถือยาวเท่าไหร่กัน?

นักลงทุนมือใหม่คงตั้งคำถามนี้ในใจเมื่อเข้าสู่ตลาดการเงิน เราควักเงินออกไปซื้อทรัพย์ เราคาดหวังกำไรจากส่วนต่างราคาตอนขาย แต่คำถามคือเมื่อไหร่ต้องขาย และถือไว้นานแค่ไหนถึงจะพอ

หลายคนคงเคยได้ยินว่า การถือหุ้นยาวนี่วิเศษจริงๆ การลงทุนระยะยาวจะสร้างผลตอบแทนอย่างยอดเยี่ยม การถือหุ้นยาวเป็นทางเลือกที่ดีเสมอสำหรับนักลงทุน หนังสือหลายเล่มบอกแบบนั้น อาจารย์หลายคนบอกแบบนั้น แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ นั่นไม่ใช่เรื่องจริง (เสมอไป)

การถือไว้ลงทุนระยะยาวจะดีก็ต่อเมื่อถูกที่ถูกเวลา

การลงทุนจะให้ผลตอบแทนยอดเยี่ยมในระยะยาวก็จริง แต่นั่นมีในเงื่อนไขว่า สินทรัพย์นั้นจะต้องเป็นสินทรัพย์ที่ดี และซื้อมาในราคาที่เหมาะสมด้วย ลองนึกภาพคุณกำลังกำเมล็ดพืชมาปลูกในสวน คุณคาดหวังให้มันเจริญงอกงาม แต่ถ้าเมล็ดพันธุ์นั้นตายแล้ว งอกต้นใหม่ไม่ได้ ต่อให้คุณรอนานแค่ไหน ดอกผลก็ไม่ออกมาหรอก

การหลับหูหลับตาถือหุ้นยาวจึงไม่ใช่คำตอบ และก็ไม่เคยเป็นคำตอบด้วย

รู้หรือไม่ว่า ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง หุ้นบางตัวมีราคามากกว่า 200 บาท ปัจจุบันเหลือราคาเพียงหลักหน่วยเท่านั้น แม้ว่าผ่านมา 20 กว่าปี ราคาหุ้นก็ไม่เคยกลับไปที่เดิม แถมหุ้นบางตัวยังล้มละลายและไม่เคยกลับมาอีกเลยด้วยซ้ำ นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีเยี่ยมว่า ลงทุนยาวอย่างเดียวไม่พอ

ทุกธุรกิจมีอายุขัยของตนเอง

หากใครเคยศึกษาเรื่อง business life cycle จะทราบว่าทุกธุรกิจมีอายุขัยของตนเอง ธุรกิจจะเริ่มต้นจากตั้งไข่ (startup) เติบโต (growth) อิ่มตัว (mature) และถดถอย (decline)

หุ้นบางตัว ธุรกิจบางธุรกิจอาจดีหน่อยเพราะสามารถหาทางเติบโตครั้งใหม่ก่อนที่ธุรกิจจะถดถอยได้ นั่นจะทำให้วงจรชีวิตของธุรกิจยืนยาวขึ้นอีกเหมือนได้เกิดใหม่

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับทุกธุรกิจ หลายธุรกิจก็ล้มเลิกไปตามเวลา เราได้เห็นกันจนชินตาว่าธุรกิจที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต ทุกวันนี้ล้มหายไปก็มาก ขายก่อนจะ decline นั่นอาจเป็นทางเลือกที่ดี

แต่ decline ของบริษัทก็ยาวนานไม่เท่ากัน

บางธุรกิจมีอายุขัยสั้น เกิดไวตายไว อาจมีชีวิตอยู่แค่หลักเดือน ลองนึกภาพธุรกิจที่วิ่งตามกระแส เช่น สินค้าแฟชั่น เมื่อมีใครคนหนึ่งขาย คนอื่นๆ ก็พากันขายตาม พอขายตามมากเข้าก็เลยตัดราคา ตัดราคากันมากก็ไม่เหลือกำไร ผู้บริโภคเบื่อ ธุรกิจเลยเจ๊ง คนขายก็หันไปขายอย่างอื่นแทน

ธุรกิจบางประเภทนั้นแข็งแกร่งตายช้า mature มากว่า 100 ปี แต่ก็ยังไม่เข้าช่วงถดถอย อย่างธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศ หรือแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคระดับโลกหลายแบรนด์ก็ยังคงอยู่มาเป็นร้อยปีแล้ว ธุรกิจบางธุรกิจมีอายุกว่าพันปีด้วยซ้ำ

สิ่งที่นักลงทุนต้องนึกเสมอคือทุกธุรกิจย่อมมีเวลาของตัวเอง

เมื่อพิสูจน์ชัดแล้วว่า หุ้นหรือสินทรัพย์ที่ลงทุนมีแนวโน้มจะแย่ลงในอนาคต เราก็จำเป็นต้องเอ่ยอำลา การซื่อสัตย์และรักเดียวใจเดียวจนชั่วฟ้าดินสลาย อาจไม่ให้ผลตอบแทนมากนัก หรือหลายครั้งก็อาจทำให้เราหมดตัวได้เช่นกัน

ถึงเวลาขายก็ต้องขาย

ตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าเราจะขายหุ้นเมื่อไหร่ คิดเสียตั้งแต่ก่อนซื้อ ลดความรัก ความลุ่มหลง ความอยากจะถือยาวลงจากหุ้นบ้าง หุ้นบางหุ้นมีเวลาจำกัด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าห้ามถือหุ้นยาว

สุดท้ายแล้วสภาพธุรกิจจะเป็นคำตอบ บางหุ้นอาจเหมาะกับการถือยาวเป็น 10 หรือ 20 ปีก็ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม หุ้นบางตัวนั้น แม้แต่วินาทีเดียวก็ไม่สมควรถือไว้

จุดแข็งของนักลงทุนคือการเลือกระยะเวลาของตัวเองได้

นักลงทุนส่วนมากยอมจ่ายแพงเพื่อเป็นเจ้าของหุ้นมากกว่าเจ้าของกิจการ แต่นั่นก็แลกมากับสภาพคล่องที่เราสามารถซื้อและขายได้อย่างสบายใจกว่าการเป็นเจ้าของโดยตรง

ธุรกิจดีก็ซื้อ ธุรกิจไม่ดีก็ขาย หลักการอาจมีอยู่เท่านั้น

การลงทุนที่ดีจึงไม่ควรมีกรอบยึดตั้งแต่ต้นว่าเราจะลงทุนนานเท่าไหร่ แน่นอนว่าเราสามารถมีภาพในใจได้ว่าอยากลงทุนในสินทรัพย์หนึ่งนานแค่ไหน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ห้ามโต้แย้ง

การปรับตัวเข้ากับสภาพการลงทุนจริงคือสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญเสมอ มองภาพการลงทุนให้ออก และตั้งคำถามอยู่เนืองๆ ว่าการลงทุนของเรายังดีอยู่หรือไม่

นักลงทุนจำนวนมากที่เพิ่งเข้าตลาดจะติดกับดักนี้

อันที่จริงการถือหุ้นยาวแบบถือลืมนั้นทำได้ง่าย เพียงซื้อแล้วก็ไม่ต้องสนใจอะไรอีก ไม่ต้องติดตาม ไม่ต้องคิดวิเคราะห์ มองภาพแค่ว่ารอไปห้าปี สิบปี

แต่การทำแบบนั้นย่อมเต็มไปด้วยอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในระหว่างทางสินทรัพย์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราวิเคราะห์ไว้แต่ต้น การถือหุ้นหรือสินทรัพย์นานเกินไปก็อาจทำให้เงินของเราพร่องลงเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การขาดทุนอย่างหนักในที่สุด

จึงไม่ควรทำแบบนั้น


คอลัมน์: ใดใดในโลกล้วนลงทุน เรื่อง: ลงทุนศาสตร์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!