แมงดาทะเล (horseshoe crab) คือสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งมีฉายาว่า “ฟอสซิลที่มีชีวิต” เนื่องจากโครงสร้างลำตัวโดยรวมแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลยเป็นเวลาหลายล้านปี มีความเกี่ยวพันกับแมงมุมและแมงป่องมากกว่าปู ในทางชีววิทยาเราเรียกแมงดาทะเลแมงมุม เห็บ กุ้ง ปู กิ้งกือ ตะขาบ และแมลงชนิดต่างๆ ว่า ‘สัตว์ขาข้อ’ (arthropod) ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) แมงดาทะเลจัดอยู่ในชั้น (class) เมอโรสโตมาตา (Merostomata) หรือกลุ่มแมงดา นับเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อกว่า 400 ล้านปีก่อน แต่เหลือเพียง 4 ชนิดที่ยังคงรอดชีวิตอยู่บนโลกจนถึงปัจจุบัน มี 2 ชนิดที่อาศัยตามพื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทย และอีก 2 ชนิดพบได้ทั่วไปในบริเวณป่าชายเลนและตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงหาดทรายและหาดโคลนซึ่งมีระดับน้ำทะเลไม่สูงนักในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอินเดีย-แปซิฟิก แม้แมงดาทะเลจะมีวิวัฒนาการมายาวนาน แต่โครงสร้าง และรูปร่างภแทบเหมือนกับต้นแบบดั้งเดิม แมงดาทะเลส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งปีใต้ทะเลน้ำลึก กินพวกหอย (molluscs) และไส้เดือนทะเลชนิดต่าง ๆ (polychaetes) เป็นอาหาร
แมงดาทะเล 2 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ได้แก่
1.แมงดาถ้วย หรือแมงดาไฟ (Carcinoscorpius rotundicauda) หรือ “เหรา” ในภาษาท้องถิ่น
มีลำตัวโค้งมน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร ผิวด้านบนเรียบมัน สีน้ำตาลอมแดง ส่วนด้านหน้ามีรูปทรงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวหรือรูปเกือกม้า ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลมมนคล้ายดินสอ ไม่มีสันหรือหนามแหลม เป็นสัตว์ทะเลมีพิษที่เรียกว่า ‘สารเตโตรโดท็อกซิน’ (tetrodotoxin) หรือ ‘สารซาซิท็อกซิน’ (saxitoxin) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข่ของมัน ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค เนื่องจากพิษของแมงดาทะเลส่งผลต่อระบบประสาท และมีอันตรายถึงชีวิต
2.แมงดาจาน หรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus Gigas)
มีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ผิวด้านบนมีสีน้ำตาลอมเขียว ลำตัวแบนและกว้างคล้ายจาน ส่วนล่างและหางคล้ายรูปสามเหลี่ยม ซึ่งมีหนามแหลมเรียงชิดติดกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย ไข่ของแมงดาถ้วยมักพบในฝั่งอ่าวไทย มันเริ่มวางไข่มาตั้งแต่เดือนธันวาคม และมีความหนาแน่นของไข่ที่พร้อมให้กินระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ดังนั้นใครที่กินไข่แมงดาในช่วงนี้ จึงควรรู้ไว้ว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นไข่แมงดาถ้วย ซึ่งมีพิษอันตรายถึงชีวิต การนำแมงดาทะเลมากินควรผ่านการปรุงจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ซึ่งขาดความชำนาญไม่ควรนำไข่แมงดามาปรุงกินกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูวางไข่ ซึ่งไข่ของแมงดาทะเลมีการสะสมสารพิษสูงสุด
‘ไข่แมงดาทะเล’ ขึ้นชื่อว่าหอมมัน เคี้ยวอร่อย คือหนึ่งในเมนูอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สามารถนำมาทำเมนูได้หลากหลาย ทั้งกินแบบเผากับน้ำจิ้มซีฟู้ด นำมาทำเป็นยำไข่แมงดา แกงคั่วสับปะรด แกงคั่วกับกะท้อน หรือทำของหวานคือขนมไข่แมงดาหน้ากระฉีก มีอีกหลายชาติในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ต่างก็ช่วยกันลดจำนวนประชากรแมงดาจาน จนในระยะหลังไทยเราจึงได้นำเข้าไข่แมงดาจานจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่หารู้ไม่ว่าในความอร่อยนั้นยังแฝงไปด้วยพิษภัย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตอยู่ไม่น้อยจากการกินแมงดาที่มีพิษ
ไข่แมงดายำมะม่วง
แมงดาไข่นึ่งหรือเผาทั้งกระดอง หงายแกะพุงเปิดให้เห็นไข่เกาะพราว แถมแกะรยางค์วางให้แทะกินกับยำมะม่วงรสแซ่บ
ขนมไข่แมงดาหน้ากระฉีก
ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ซึ่งอาศัยเพียงประสบการณ์ ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเอาแมงดาทะเลมาทดลองกิน กว่าจะรู้ว่าชนิดไหนปลอดภัย จึงได้ถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลังรู้วิธีการเลือกชนิดที่ไม่เป็นอันตราย เพื่อทำเป็นแกงคั่ว ยำ นอกจากทำเป็นอาหารคาว ยังทำเป็นของหวานได้อีก พบขนมไข่แมงดาหน้ากระฉีกที่ตำบลบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี โดยเอาไข่แมงดามากวนกับมะพร้าวขูดสำหรับเป็นหน้าข้าวเหนียวมูน เป็นกับข้าวแช่แทนผัดไชโป๊ว ก็เก๋ไก๋ไปอีกอย่าง หรือกินเล่นเป็นของหวานตามประสาคนเมืองน้ำตาล
เฮ่าก๊วยหรือขนมแมงดาทะเล (鲎粿 ) ‘Horseshoe crab pudding’
เป็นขนมตำรับดั้งเดิมจากตำบลเตี้ยเอี้ย เมืองแต้จิ๋ว ที่ทำผสมกับแมงดาทะเล เรียก เฮ่าก้วย (鲎粿 Hòu guǒ) ตามปกติมักปรุงโดยการเอาเนื้อไข่แมงดาทะเล แป้ง เห็ดหอม อาจมีของอื่นๆ เพิ่ม เช่น กุ้งแห้ง แล้วหยอดส่วนผสมในถ้วยแบนคล้ายถ้วยตะไล นำไปนึ่งสุกแล้วแคะใส่จานจนมองเห็นไส้ด้านในได้เนื้อสัมผัสนุ่ม หอมกลิ่นแมงดา จิ้มกินกับน้ำจิ้มสูตรพิเศษ ทั้งนี้สามารถปรุงและมีส่วนผสมได้หลากหลายขึ้นอยู่กับภูมิภาคและประเพณีท้องถิ่น
ทั้งนี้ในการจำแนกชนิดของแมงดามีพิษกับไม่มีพิษ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมงดาทะเล กล่าวว่า
“แมงดาถ้วย หรือแมงดาไฟ หรือเหรา ตามแต่จะเรียกชื่อต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ พบได้ในประเทศไทยโดยอาศัยอยู่ตามหาดโคลนปนทราย ลักษณะภายนอกจะมีกระดองโค้งกลมเหมือนถ้วย ตัวสีเข้ม วางไข่ตามป่าชายเลน วิธีสังเกตง่ายๆ จากลักษณะกายภาพให้ดูที่โคนหางถึงกลางหาง ถ้ามีลักษณะกลมเหมือนแท่งดินสอก็เป็นแมงดาที่มีพิษ ไม่ควรนำไข่มากิน อาการเมื่อกินแล้วเมา มีอาการแพ้ ปากชา พูดไม่ได้ แขนขาชา หายใจไม่ออก บางรายอาจมีอาเจียนด้วย ทำให้เสียชีวิต”
อ้างอิงข้อมูล
- รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม, อาทิตย์ ลมูลปลั่ง, คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
- ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี.https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/bulletin/bul95/v3n1/Hors_crabSaint Louis Zoo
- https://www.stlzoo.org/visit/thingstoseeanddo/stingraysatcaribbeancove/horseshoecrabfact
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). https://www.nstda.or.th/th/news/13084-horseshoecrab
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.https://www.nectec.or.th/schoolnet/library/create-web/10000/science/10000-3737.html
- ภาพถ่าย ChatGPT, มีรัติ รัติสุวรรณ
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
ภาพ: อินเทอร์เน็ต