เรื่องของเขา (Horn’s Story)

-

๏  โคควายวายชีพได้ เขาหนัง 

เป็นสิ่งเป็นอันยัง อยู่ไซร้ 

คนเด็กดับสูญสัง ขารร่าง 

เป็นชื่อเป็นเสียงได้ แต่ร้ายกับดี ฯ 

เรื่องของเขาที่จะนำมาเล่าสู่กันมื้อนี้ไม่ได้หมายถึง ‘เขาคนอื่น’ แต่เป็นอวัยวะถาวรที่งอกขึ้นบนหัวเหนือใบหูทั้งสองของโคหรือวัว เมื่อกระผมยังเยาว์วัยเคยเห็นตามบ้านเรือนในชนบทนิยมนำเขาสัตว์ที่งามๆ ทั้ง วัว ควาย เก้ง กวาง มาทำแป้นติดกับเสาเรือนเป็นที่สำหรับแขวนหมวกหรือเสื้อผ้า ทั้งยังเป็นของแต่งบ้านที่คนรุ่นปู่ย่าตาทวดเสาะแสวงมาไว้อวดกัน โดยเฉพาะเขาโคนั้น มีคติความเชื่อสืบมาช้านานว่าเขาโคที่มีลักษณะดีนั้นมีอานุภาพประหลาดอาจบันดาลให้ผู้เป็นเจ้าของอุดมด้วยโภคทรัพย์โชควาสนา จากความนิยมและความเชื่อดังกล่าว จึงมีผู้สังเกตจดจำบันทึกเป็นตำราดูลักษณะเขาของวัว บัญญัตินามตำราให้ขลังน่าเชื่อถือว่า ตำราเขาพระโค 

ก็แลบรรดาตำราโบราณที่เกี่ยวกับตำนานทั้งคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ ตามวิถีแบบไทยๆ หากจะบอกตามความเป็นจริงว่า เรื่องนั้น สิ่งนั้นเป็นผลผลิตจากจินตนาการสร้างสรรค์ของมนุษย์เดินดินกินข้าว เรื่องนั้นสิ่งนั้นก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่น่าศรัทธาเชื่อถือ ต้องยกให้เป็นอภินิหารพันลึกของเทวดาผู้มีฤทธิ์ระดับแนวหน้า หรือฤๅษีชีไพรผู้วิเศษ คนไทยจึงจะเชื่อแบบฝังหัว เช่น กำเนิดช้างก็อ้างตำนานว่าเกิดจากพระเป็นเจ้าทั้งสามและพระอัคนีเป็นผู้สร้าง กำเนิดแมวก็อ้างตำนานว่าฤๅษีเป็นผู้สร้าง งานช่างทั้งปวงก็อ้างตำนานว่าเป็นวิชาของพระเพชรฉลูกรรม์ หรือพระวิษณุกรรม เราสอนกันมา ถ่ายทอดมโนคติตามเรื่องเล่าสืบทอดกันมาหลายชั่วคน 

เรื่องของเขาวัวหรือเขาโคในตำราเขาพระโคก็มาอีหรอบเดียวกัน นักปราชญ์ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ท่านแต่งเป็นลิลิต ประกอบด้วยร่ายและโคลง บอกตำนานที่มาของเรื่องว่า “อิศวรราชแสดงลักษณ์ ให้พระนักสิทธิ์สดับ” คือพระอิศวรแสดงลักษณะของเขาโคแบบต่างๆ ให้ฤๅษีฟัง แล้วฤๅษีจดจำถ่ายทอดเป็นตำรา รับรู้เล่าเรียนเสาะแสวงหาเขาโคไว้เป็นมงคลแก่ตน 

ต้นเค้ามูลเหตุที่พระอิศวรจะชี้แจงแสดงคุณวิเศษแห่งโคและเขาโคนั้นมีว่า วันหนึ่งพระอิศวรเสด็จทรงโคอุศุภราชประพาสเขาหิมพานต์ ฤๅษีตนหนึ่งทูลถามพระอิศวรว่า “เหตุไฉนเถลิงอาสน์ โคอันชาติเดียรฉาน รำพึงการเหนไม่ควร” พระองค์คือมหาเทพสูงสุด เหตุใดจึงเอาโคชาติเดรัจฉานมาเป็นเทพพาหนะ พระอิศวรจึงอธิบายชี้แจงคุณวิเศษของโคลักษณะต่างๆ ให้พระฤๅษีจดจำเป็นตำราสำหรับชาวโลกสืบไป 

๏  นักสิทธิคิดจัดสร้าง ตำหรับพระโคอ้าง 

ออกไว้พึงเรียน  แลนา 

๏  เขียนตามสยัมภูวประสาท บอกชาติตระกูลไว้ 

เพื่อประโยชน์จักให้ โลกยรู้ฉบับบรรพ์  แลนา 

โคมงคลชนิดหนึ่งที่บอกไว้ในตำรับฉบับของพระอิศวร เช่น โคอุศุภราช สีกายดำดุจหมึก มีด่างขาว 7 แห่งคือ หน้า หนอก หาง และเท้าทั้ง 4 โคจงกลณี สีแดงล้วน โคสุทธิเศวต สีขาวล้วน โคหงษ์ สีเหลืองล้วน ผู้ใดเลี้ยงโคมงคลไว้ “…เจริญผลพูนสุขสวัสดิ์  อาจขจัดภยันตราย  ทุกข์ทั้งหลายคลายเคลื่อน  เกลื่อนดับร้ายกลายดี  แม้นใครมีเลี้ยงไว้  โควิเศษจักให้  ลาภล้ำโดยเสมอ  แลนา” 

นั่นเป็นเรื่องโคตัวเป็นๆ เจ้าของต้องคอยดูแลหาหญ้าน้ำให้กิน ส่วนเขาโคนั้นได้จากโคที่ตายแล้ว เจ้าของไม่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู ประสาชาวบ้านนอก ได้มาก็ทำแป้นไม้ประดับไว้ที่เสาเรือน นอกจากจะสวยงามแล้วยังใช้เป็นที่แขวนหมวกแขวนเสื้อได้อีกด้วย สำหรับชาววิไลใกล้พระนครท่านมีวิธีดูลักษณะเขาโคมงคลในลิลิตตำราเขาพระโคโดยให้พิจารณาจากสีของเขา เช่น เขาโคที่มีสีเหลืองดุจสีทอง มีค่าเท่ากับทองคำที่น้ำหนักเท่ากับเขานั้น เป็นของที่ควรมีไว้ในวัง 

๏  เขาหนึ่งสีเลิศเพี้ยง ศรีสุวรรณ 

เหลืองสรดดูแสงฉัน โปร่งน้ำ 

คำชั่งหนักเท่ากัน ควรค่า  เขาเฮย 

อย่างประเสริฐเลิศล้ำ ชอบไว้วังสถาน ฯ 

การเล่นเขาโคน่าจะได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ยุคต้นกรุง เพราะในตำราระบุว่า เขาที่ส่วนปลายสุดมีสีแดงดังถ่านเพลิงเป็นของคู่บุญพระมหากษัตริย์ 

๏  เขานี้เขาสี่นั้น ยศถา  ศักดิแฮ 

ควรพระบรมราชา ธิราชเจ้า 

เฉลิมพระยศอเนกา นุภาพยิ่ง  ใหญ่เฮย 

พระฤทธิอาจอคร้าว ข่มเสี้ยนเศิกมรณ์ ฯ 

ตามตำราท่านอธิบายลักษณะเขาโคมงคลไว้กว่า 20 ลักษณะ ล้วนเป็นของมีค่า มีราคา หายากยิ่ง ใครมีไว้เป็นเครื่องประดับบารมีต้องเซ่นวักบวงสรวง ทำความสะอาดล้างด้วยน้ำยา บอกส่วนผสมไว้พร้อมสรรพ ตอนท้ายยังบอกบทมนตร์บูชาและมนตร์เสกบวงสรวงเขาโคไว้ด้วย ท่านว่าขลังนักเชียว 


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์ 

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!