Hong Kong in Dream

-

นักเลงโคลงกลอนยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไกลจากนิวาสสถานรอนแรมไปหลายวันหลายคืน มักบันทึกเรื่องราวด้วยโคลงกลอนเป็นของฝากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย ชาวเราเรียกโคลงกลอนลักษณะนี้ว่า “นิราศ”

การตั้งชื่อนิราศ มักเรียกตามสถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทาง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศพระบาท นิราศเมืองเพชร ของท่านสุนทรภู่ แต่มีนิราศบางเรื่องที่ใช้สถานที่ต้นทางมาตั้งเป็นชื่อ เช่น นิราศวัดรวก ของหลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก) และนิราศบางเรื่องก็ตั้งชื่อตามนามของผู้แต่ง เช่น นิราศนรินทร์ นิราศหลวงนา เป็นต้น นิราศทุกเรื่องที่กระผมกล่าวถึงนี้ กวีผู้แต่งเดินทางไปจริงและประสบพบเห็นด้วยตาตนเอง จึงสามารถบันทึกเป็นโคลงกลอนให้ผู้ที่ได้อ่านได้ฟังนิราศนั้นแล้วเกิดหยั่งเห็นกระจ่างใจไปตามถ้อยคำของกวีผู้แต่ง

“ฮ่องกงในฝัน” ที่กระผมนำมาขยายประเด็นครั้งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเพลงยาวนิราศที่พรรณนาการเดินทางไปยัง “ฮ่องกง” ซึ่งกวีผู้แต่งกล่าวถึงการเดินทางและสภาพบ้านเมืองได้อย่างละเอียดลออ โดยที่ผู้แต่งไม่ได้ร่วมเดินทางไปยังสถานที่นั้นด้วย นิราศฮ่องกงเป็นผลงานประพันธ์ของคุณพุ่ม กวีสตรีผู้ดีรัตนโกสินทร์ นักกลอนสักรวาเรืองนามตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕

 

 

คุณพุ่มแต่งเพลงยาวนิราศฮ่องกงไว้ ๒ สำนวน นิราศฮ่องกงสำนวนแรก แต่งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๐ อันเป็นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ที่ต้องเดินทางไปฮ่องกงคราวนั้นคือ แม่ปุก หรือ คุณปุก เศรษฐินีหม้ายสาววัย ๓๕ ปี เจ้าของเรือกำปั่นกิจการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคุณพุ่มรักเหมือนน้องสาว แม่ปุกเดินทางคราวนั้นเพื่อนำอัฐิเจียสัวมัน หรือเจ๊สัวมันผู้เป็นสามีไปบรรจุฮวงซุ้ยที่ฮ่องกงและนำสินค้าจากไทยไปขายที่นั่นด้วย คุณพุ่มกล่าวถึงที่มาของการแต่งนิราศฮ่องกงสำนวนแรกไว้ว่า

แม่แจ้งข่าวเล่าหมดกำสรดเศร้า                          ข้างฝ่ายเราเดาดุเขายุใหญ่

ให้แม่ไปฮ่องกงเหมือนจงใจ                              คิดเอาชัยชำนะไม่ละลด

จึงพากเพียรเขียนข้อยกยอยุ                              ให้ล่วงลุฦๅเลื่องเปรื่องปรากฏ

เอาชื่อไว้ในสยามให้งามงด                               อย่าระทดท้อทรวงเลยดวงจันทร์

คุณพุ่มเขียนนิราศฮ่องกงสำนวนแรกมอบให้แม่ปุกก่อนออกเดินทางเพื่ออ่านคลายความเหงาระหว่างโดยสารเรือรอนแรม จึงไม่มีบทพรรณนาสถานที่และสิ่งที่พบเห็นระหว่างทาง แต่มีการขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองรักษาและเดินทางโดยสวัสดิภาพ ส่วนนิราศฮ่องกงสำนวนที่ ๒ นั้น คุณพุ่มน่าจะแต่งขึ้นหลังจากที่แม่ปุกเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยแล้วเล่าเรื่องราวที่ได้ประสบให้คุณพุ่มนำมาแต่งดังที่ท่านบอกกล่าวไว้ตอนต้นของนิราศว่า

ฟังแต่เล่าเดาด้นนิพนธ์เพ้อ                                ไม่ถูกเธอถ้ากระไรก็ให้ติ

ด้วยไม่ได้ไปด้วยต้องช่วยริ                                คิดแบ่งบิบทเบื้องร่างเรื่องราว

แม้คุณพุ่มจะไม่ได้เดินทางไปด้วยตนเอง แต่ท่านสามารถบรรยายสภาพย่านการค้าที่ฮ่องกงได้แจ่มชัดราวกับตาเห็น

๏ จากกำปั่นผันผายขยายย่าง                             ขึ้นรถรามาทางหว่างวิถี

เที่ยวดูของท้องตลาดดาษดื่นดี                           แพรต่างสีดวงโตทั้งโล่ริ้ว

ขายโต๊ะพานจานชามลายครามตั้ง                        ถ้วยฝรั่งกาเฟืองของเครื่องหิ้ว

ตุ๊กตาตัวเล็กเล็กรูปเจ๊กงิ้ว                                  ของเกงจิ๋วเทียนจิ๋นป้านปิ่นโต

ฯลฯ

แต่ตึกรามงามจังหวะระยะย่าน                              ตามแถวร้านกระดานใหญ่มิใช่แผง

เขาปรับปูดูดีจนสีแดง                                       ขายข้าวแกงเต้าหู้หมูทั้งตัว

แต่ร้านผักหากจะว่าก็กว่าชั่ง                                พ่อค้านั่งบนเก้าอี้ที่เจียสัว

นางเมียสาวเกล้ามวยสวยทั้งตัว                            ขายหมี่ซัวหุงผัดช่วยจัดแจง

นั่นเป็นภาพตลาดเมืองฮ่องกงในความนึกฝันของคุณพุ่มที่เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของแม่ปุก แม้ว่าคุณพุ่มจะเป็นผู้ดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่กระผมสันนิษฐานว่าท่านคงไม่เคยเดินทางรอนแรมไปในท้องทะเล ดังนั้นเมื่อท่านพรรณนาถึงทะเลกว้างใหญ่ที่แม่ปุกโดยสารไปบนลำกำปั่น จึงเป็นภาพในจินตนาการบนพื้นฐานจักรวาลวิทยาตามคัมภีร์ไตรภูมิ

ดูมัจฉาสารพัดสัตว์ในน้ำ                                    เที่ยวด้นดำคล่ำคล้ายร่ายร่อนเร่

ปลาวาฬวนพ่นน้ำขน่ำคะเน                                 เมื่อวันเวลาค่ำเท่าลำตาล

ฯลฯ

โอ้ว่าสัตว์ปฏิสนธิ์คนในหอย                                 เที่ยวล่องลอยร่อยเรี่ยตัวเมียตัวผู้

ไม่ห่างแหแลเห็นนึกเอ็นดู                                   รู้มีคู่เคียงข้างไม่ห่างกาย

มัจฉาที่มีปีกฉลีกแฉลบ                                      บินวาบแวบเวียนวนชลสาย

เสียงปร๋อปรูดูแต่ไกลรำไรราย                               ล้วนมากมายเป็นหมู่ดูดังนก

นิราศฮ่องกงมี ๒ สำนวน ตามจินตนาการในฝันของคุณพุ่มยอดกวีสตรีสยาม ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน อยากรู้จักคุณพุ่มให้คุ้นเคยยิ่งขึ้นติดตามได้จาก “กวีนิพนธ์คุณพุ่ม” ที่ร้านหนังสือกรมศิลปากรนะครับ


คอลัมน์: ตะลุยแดนวรรณคดี

เรื่อง: บุญเตือน ศรีวรพจน์

ภาพ: ขวัญญาณี ศิรธนอนันต์

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!