คำในประวัติศาสตร์ลาว

-

ลาวและไทยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเนิ่นนานนับเนื่องแต่ครั้งโบราณ ในพระราชสาส์นที่พระมหากษัตริย์ลาวมีมายังพระมหากษัตริย์ไทยในพงศาวดารมักกล่าวว่า ไทยลาวเป็นเครือญาติกันมาแต่ครั้งขุนบูลม (ขุนบรมราชาธิราช) พู้น ขุนบรมนี้ชาวลาวนับถือว่าเป็นผู้ที่พญาแถนส่งลงมาเป็นต้นตระกูลของชนชาติไทยลาวทั้งปวง ปกครองดินแดนลุ่มน้ำโขงมาจนจรดเจ้าพระยาและเวียดนาม การศึกษาประวัติปรัมปราลาวเทียบกับไทยช่วยให้เราเชื่อมโยงที่มาที่ไปของไทยลาวในฐานะเครือญาติและเข้าใจกันได้มากขึ้น

ແຖນ แถน หมายถึง ฟ้า หรือเทพเจ้าแห่งฟ้า อันเป็นผู้ปกครองสูงสุดในความเชื่อโบราณดั้งเดิมของลาว เป็นผู้สร้างโลกฟ้าดิน และให้กำเนิดมนุษย์ตามตำนานปรัมปราของเผ่าไท-ลาว นอกจากนี้ ยังเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของคนด้วย เช่นสำนวนว่า คาดแต่แถน แนนแต่ฟ้า หมายความว่า ชีวิตคนนั้นกำหนดมาโดยพระเจ้า ชะตากำหนดมาจากฟ้า นักวิชาการลาว-จีนสันนิษฐานว่า คำว่าแถน นี้ อาจมีที่มาเช่นเดียวกันกับคำว่า เทียน 天 ในภาษาจีนซึ่งแปลว่าฟ้าและสื่อถึงสวรรค์ เทพเจ้าสูงสุดเหมือนกัน

ຂຸນ ขุน คือ หัวหน้า กษัตริย์ หรือประมุขของชนชาติ ชนเผ่าไท-ลาวในประวัติศาสตร์ ต่างก็ใช้รากคำนี้ร่วมกันในภาษาไทย ภาษาไทใหญ่ และภาษาลาว จนเมื่อรับเอาวัฒนธรรมขอม-อินเดียผ่านศาสนาพุทธ-พราหมณ์จึงเปลี่ยนไปใช้คำอื่น

ໄທ້ ไท้ คือ เทพเจ้า และยังนำมาใช้เรียกชื่อขุนเจ้าผู้ปกครอง ว่าเป็นผู้ที่แถนส่งลงมาให้ปกครองบ้านเมือง ต่อมาในภาษาลาวและไทยจึงใช้คำว่า ไท้ นี้หมายถึงกษัตริย์และราชวงศ์

ອ້າຍ อ้าย หมายถึงพี่ชายคนโต ในการนับทายาทของชาวไท-ลาวดั้งเดิม เริ่มจาก อ้าย เป็นพี่ใหญ่ ยี่ เป็นพี่รอง เรียงลงมาตามลำดับเป็น สาม ไส งั่ว ลก เจิด ซึ่งเป็นการนับเลขแบบเฉพาะ และมีความคล้ายคลึงกับภาษาหมิ่นหนานและกวางสีจ้วงด้วย

ທ້ອນໂຮມ ท้อนโฮม หมายถึง การรวบรวม คือการรวบรวมแว่นแคว้นบ้านเมืองที่แตกแยกกันให้เป็นอาณาจักรเดียว ในประวัติศาสตร์ลาวยกย่องนับถือเจ้าฟ้างุ้ม หรือพระเจ้าฟ้าหล้าธรณีศรีสัตตนาคนหุต ว่าเป็นปฐมกษัตริย์แห่งล้านช้างผู้ท้อนโฮมรวบรวมชนชาติลาวให้เป็นปึกแผ่น จากเมืองซวาหรือหลวงพระบาง อันขุนบรมได้ให้ขุนลอเจ้าอ้ายลูกชายคนโตปกครองสืบมาถึงเจ้าฟ้างุ้ม รวบรวมเมืองต่างๆ เข้าเป็นราชอาณาจักรล้านช้างร่มขาว นับเป็นยุคประวัติศาสตร์ลาวถึงปัจจุบัน


คอลัมน์: ไขคำข้ามโขง

เรื่อง: ธีรภัทร เจริญสุข

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!