กระแสอาหารเสริมในปีที่ผ่านมา คงไม่มีอะไรแรงไปกว่า “ถั่งเช่า” ซึ่งเห็นโฆษณาขายกันตามรายการทีวี มีพรีเซนเตอร์เป็นดารานักร้องที่มีชื่อเสียง อวดอ้างสรรพคุณมากมายครอบจักรวาล เช่น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน บำรุงปอด ความดัน ไขมัน เบาหวาน ไตเสื่อม ภูมิแพ้ หอบหืด หัวใจ โรคตับ หลอดเลือดสมองตีบ ไทรอยด์ เก๊าท์ มะเร็ง และเนื้องอก ฯลฯ
แต่ขณะเดียวกัน ในโลกโซเชียลก็มีการแชร์ข่าวเศร้าเกี่ยวกับการสูญเสียบิดาไป เจ้าทุกข์บอกว่าเมื่อก่อนคุณพ่อไม่ป่วยอะไร นอกจากปวดแข้งขาตามประสาคนแก่ แต่หลังจากเชื่อโฆษณาขายถั่งเช่าในโทรทัศน์ และซื้อมากินได้ 4-5 เดือน ก็มีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก น้ำท่วมปอด ค่าไตต่ำมากและเป็นไตวายระยะสุดท้าย จนเสียชีวิตอย่างกะทันหัน
ยิ่งกว่านั้น คุณหมอด้านโรคไตยังออกมาเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่อาการแย่ลงถึง 3 คน เพราะกินสารสกัดถั่งเช่าวันละ 1 เม็ดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา 1 เดือน แล้วส่งผลให้ค่าการทำงานของไตต่ำลง พอหยุดใช้ บางคนกลับมีการทำงานของไตที่ดีขึ้น แต่บางคนก็ไม่ดี คาดว่าเพราะถั่งเช่าทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น ไตจึงทำงานหนัก จนอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ กลุ่มแพทย์ชนบทจึงออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดการเรื่องนี้โดยเร่งด่วน
ถั่งเช่า หรือชื่อเต็มว่า “ตังถั่งแห่เช่า” แปลว่า “ฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” ตามรูปลักษณะของมันที่คล้ายกับแท่งประหลาด ซึ่งงอกขึ้นจากพื้นทุ่งหญ้าในฤดูร้อน บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตและพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย ณ ระดับความสูงสี่พันถึงห้าพันเมตร แต่พอขุดขึ้นมาก็มีส่วนที่คล้ายกับหนอน ฝังอยู่ใต้ดินลึกประมาณ 15 เซนติเมตร
ความจริงแล้ว ถั่งเช่านั้นเป็นเชื้อรา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ophiocordyceps sinensis ที่เป็นปรสิตในหนอนของผีเสื้อกลางคืน (Hepialidae) ซึ่งกินสปอร์ของราเข้าไปในช่วงฤดูหนาว ก่อนที่หนอนจะลงไปจำศีลใต้ดินเพื่อหลบความหนาว สปอร์จะเริ่มเจริญเติบโตในตัวหนอนด้วยการดูดสารอาหารจากเนื้อเยื่อหนอน กลายเป็นเส้นใยไมซีเรียมแทรกซึมไปทั่วตัวหนอน จนหนอนตายในที่สุด และเมื่อถึงฤดูร้อนถัดไป เส้นใยไมซีเรียมจะพัฒนากลายเป็นส่วนที่ใช้ในการสืบพันธุ์ คล้ายกับเห็ด งอกออกทางส่วนหัวของซากหนอน ยื่นโผล่ขึ้นมาบนดินเป็นแท่งๆ กลายเป็นถั่งเช่าอย่างที่รู้จักกัน
ถังเช่าสดๆ นั้นมีเนื้อส่วนเห็ดที่สีออกเหลืองอ่อนๆ มีเนื้อในเป็นสีขาว กลิ่นคาว และรสออกขมเล็กน้อย เชื้อราของถั่งเช่าเจริญเติบโตได้ช้า ต้องอาศัยอุณหภูมิที่ค่อนข้างต่ำ (ต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียส) และมักจะต้องเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติ ถั่งเช่าจึงมีราคาสูงมาก และคิดราคาตามขนาด น้ำหนัก และสี เช่น ในตลาดกลางของมณฑลชิงไห่ ถั่งเช่าที่ถือว่าดีที่สุดนั้นเรียกว่า King of the King ซึ่งมีถั่งเช่าอยู่เพียง 900 ชิ้นต่อน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม ขณะที่ถั่งเช่าเกรดล่างๆ จะมีจำนวนถั่งเช่ามากถึง 2,500 ชิ้นต่อกิโลกรัม จนสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติกำหนดว่า ถั่งเช่าอยู่ในสถานภาพ “เสี่ยง” ในบัญชีแดงของชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เมื่อวันที่ 9 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
สารคอร์ดีเซพิน (cordycepin) เป็นสารสำคัญที่พบมากในดอกเห็ดส่วนที่ยังไม่เกิดสปอร์ของถั่งเช่า คอร์ดีเซพินมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสารอะดีโนซีน (adenosine) ในร่างกายของเรา ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด นอกจากนี้ ถั่งเช่ายังมีกรดคอดีเซพิก (cordycepic acid) ที่ต้านอนุมูลอิสระ และสารไขมันกลุ่มคอร์ดิเซ็ป สเตอรอล (cordycep sterol) ที่ช่วยแย่งจับกับตัวดูดซึมคอเลสเตอรอล ส่งผลให้ร่างกายดูดซึมคอเลสเตอรอลลดลง รวมทั้งสารกลุ่มโพลีแซ็คคาไรด์ (polysaccharide) ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดอีกด้วย
สำหรับถั่งเช่าที่โฆษณาจำหน่ายกันทางโทรทัศน์ในบ้านเรานั้น เนื่องด้วยราคาค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับถั่งเช่าทิเบตแท้ๆ ที่เก็บจากธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ว่าเอาถั่งเช่าอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ถั่งเช่าสีทอง” มาแอบอ้างขายกัน ถังเช่าสีทองเป็นเชื้อราที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps militaris มีสีเหลืองสดทั้งตอนยังสดอยู่และตอนตากแห้งแล้ว สามารถเพาะเลี้ยงได้โดยง่ายในขวดอาหารเลี้ยงเชื้อ โดยไม่ได้ใช้หนอนของผีเสื้อกลางคืน จึงมีคนนิยมเพาะเลี้ยงกันและราคาถูกกว่าถั่งเช่าทิเบตมาก แถมยังมีปริมาณของสารคอร์ดีเซพินค่อนข้างสูงกว่า แต่จะมีสารสำคัญตัวอื่นๆ น้อยกว่า
ในทางสมุนไพรจีนนั้น มีการนำเอาถั่งเช่ามาใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังแล้ว ดังที่ปรากฏในบันทึกตั้งแต่ ค.ศ.863 ว่าถั่งเช่ามีสรรพคุณทำให้ปอดและไตแข็งแรงขึ้น ใช้ห้ามเลือด และแก้เสมหะได้ ขณะที่วงการแพทย์ปัจจุบันก็มีการศึกษาในหนูทดลอง พบว่ามีผลต่อการเพิ่มระดับของฮอร์โมนคอร์ติโคสเตอโรน (corticosterone) ซึ่งควบคุมการใช้พลังงานและปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของไตและระบบทางเดินหายใจ
ในทางกลับกัน ก็มีงานวิจัยที่โต้แย้งเรื่องสรรพคุณทางยาของถั่งเช่า เช่น มีบทความวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Cell Chemical Biology ระบุว่า ถั่งเช่าไม่ได้มีฤทธิ์ต้านมะเร็งอย่างที่เชื่อกัน และการบริโภคสารคอร์ดีเซพินในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์ของมนุษย์ได้ ยิ่งกว่านั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศจีนยังตรวจพบว่า ถั่งเช่าตามธรรมชาติมีปริมาณของสารหนู (arsenic) สูงถึง 4.4-9.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเป็นอันตรายแก่ร่างกายของมนุษย์ได้ เมื่อบริโภคต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงสั่งให้นำถั่งเช่าออกจากรายชื่อของการเป็น “อาหารเพื่อสุขภาพ” และให้จำหน่ายเป็นยาเท่านั้น โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตเสียก่อนจึงจะผลิตขายได้
ล่าสุด ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ร่วมมือกับทาง อย. ออกมาตรวจสอบการโฆษณาขายถั่งเช่าทางโทรทัศน์แล้ว และเตือนว่าถ้ามีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงของการเป็นอาหารเสริม เช่น แอบอ้างว่าใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ ก็จะมีบทลงโทษอย่างหนัก ทั้งจำและปรับเลยทีเดียว
คอลัมน์ : คิดอย่างวิทยาศาสตร์
เรื่อง: รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์