‘เฮงเสง’ เบาะไหว้เจ้าร้านสุดท้าย ที่ดำเนินธุรกิจในไทยกว่าร้อยปี

-

หากเรามีโอกาสแวะเวียนไปไหว้พระ ขอพรที่ศาลเจ้า เราก็อาจผ่านตาเบาะไหว้เจ้ากันมาบ้าง เบาะกลมๆ ซึ่งผู้สูงอายุเอาไว้ใช้รองเข่าขณะก้มตัวลงไปกราบไหว้ เพื่อที่บรรเทาอาการปวดเข่า แต่ในปัจจุบันแทบไม่เหลือธุรกิจที่ผลิตหรือทำเบาะไหว้เจ้าอีกแล้ว ‘เฮงเสง’ เลยกลายเป็นร้านทำเบาะไหว้เจ้าร้านเดียวในเวลานี้ โดยมี ‘คุณเจี๊ยบ’ วิมล เหลืองอรุณ ทายาทรุ่นที่สามเป็นผู้สืบทอดกิจการอายุกว่าร้อยปีในย่านตลาดน้อย ให้ยังคงอยู่สืบไปด้วยใจรักอย่างสุดกำลัง

“เราก็ภูมิใจนะ เพราะเป็นอาชีพของบรรพบุรุษ สืบทอดจากรุ่นอากงแล้วก็มารุ่นแม่ และเราก็ดีใจที่สามารถทําให้มันคงอยู่ มีช่วงหนึ่งที่แม่ไม่อยากทําต่อ บังเอิญว่าเราก็ชอบงานพวกนี้ ทางบ้านนั้นทําตั้งแต่เกิด เหมือนกับเราก็ซึมซับอยู่แล้ว เราทําได้จึงเข้ามาสานต่อ” คุณเจี๊ยบเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

เธอบอกว่าตอนคุณตาอพยพจากเมืองจีนมาตั้งรกรากที่เมืองไทยเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คนสมัยนั้นนิยมใช้มุ้งเยอะ ท่านจึงได้บุกเบิกกิจการทำที่นอน มุ้ง หมอนโดยใช้นุ่นเป็นวัสดุหลัก เมื่อเปลี่ยนมือให้ทายาทรุ่นที่สองเลยปรับเป็นเบาะวางเก้าอี้หรือเบาะกลม รวมถึงหันมาเน้นการทำเบาะไหว้เจ้า เนื่องจากย่านนี้มีศาลเจ้าเยอะ และคนจีนนิยมใช้เบาะไหว้เจ้าเอาไว้คุกเข่าด้วย ส่วนทายาทรุ่นที่สามผู้รับช่วงอย่างคุณเจี๊ยบ เธอยังคงสืบทอดการทำเบาะไหว้เจ้าดังเดิม ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์จาก TCDC พัฒนารูปแบบจากเบาะธรรมดาให้ทันสมัยขึ้น มีหลากหลายแบบให้ลูกค้าเลือกซื้อ เช่น หมอนรองคอ สีสันสดใสที่นำไปประดับเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านได้ อีกทั้งรับทำตามออร์เดอร์ของลูกค้าด้วย 

เบาะไหว้เจ้ามีที่นี่แค่ที่เดียว ทำแบบแฮนด์เมด เบาะเรายัดจนแข็ง เพราะฉะนั้นก็จะใช้ทน แล้วมีเอกลักษณ์เป็นรูปดอกโบตั๋น ตามศาลเจ้า ถ้าเป็นเบาะโบตั๋นก็คือของที่นี่  ส่วนปลอกผ้าบางทีเรานําเข้าจากจีนบ้าง สีออกชมพู เพราะว่าจีนชอบสีชมพูแดง เป็นดอกไม้มงคลของประเทศ หมายถึงความโชคดีเลยนํามาใช้ เราต้องมีแพตเทิร์นแล้วตัดผ้ามาเย็บ ขั้นตอนที่ยากคือตอนใส่ใยมะพร้าว ใส่นุ่น ซึ่งที่อื่นไม่สามารถทําได้ ส่วนมากมักใช้ใยซึ่งยวบเร็ว แต่ถ้าเป็นใยมะพร้าวจะแข็งนาน ผ้าเราสั่งจากโรงงาน ผ้าโบตั๋นเป็นผ้าเมืองไทย แต่ถ้าผ้าต่วนเรานําเข้าจากจีน และมีปลอกผ้า ปลอกพลาสติกหุ้มกันเปื้อน ในกรณีที่พลาสติกเสียก็มาซื้อพลาสติกอย่างเดียวได้ เรามีขาย และเราพยายามอนุรักษ์เบาะไหว้เจ้าซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีใครทำในกรุงเทพ เรามีการเย็บที่ไม่เหมือนคนอื่น ปลอกพลาสติก ตัวผ้า บางทีเขาเอาเบาะมาซ่อม เราดูก็รู้ว่าเบาะอันนี้ไม่ใช่ฝีมือเรา หากเสียมันซ่อมไม่ได้หรอก ส่วนมากต้องทิ้ง แล้วลูกค้าก็เอาปลอกมาทําเบาะตัวในหรือว่าทําปลอกพลาสติก ซึ่งจะเป็นของใหม่หมดเลยทายาทรุ่นสามอธิบายวิธีการทำอย่างพิถีพิถัน และเธอตั้งใจทำสิ่งนี้ในเชิงอนุรักษ์เพราะไม่อยากให้อาชีพที่รับช่วงมาสูญหายไป

กว่าจะได้เบาะไหว้เจ้าที่นุ่ม ทนทาน สวยงามขนาดนี้ต้องผ่านการฝึกฝน เก็บเกี่ยวประสบการณ์จนชำนาญกว่าสิบปี และเพราะขั้นตอนที่ละเมียดละไมนั้นมาจากการทำด้วยมือล้วนๆ จึงไม่สามารถใช้เครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรงได้ ในหนึ่งวันเธอจึงทำเบาะไหว้เจ้าได้แค่หนึ่งใบเท่านั้น ศาลเจ้ามักเปลี่ยนเบาะไหว้เจ้าในเทศกาลกินเจหรือตรุษจีนเพื่อความเป็นศิริมงคล จึงมีการซื้อสินค้ากันอย่างคึกคักมากในช่วงเวลานี้ หากเป็นพวงกุญแจจะเริ่มต้นที่ราคาสอง 250 บาท และเบาะใบใหญ่ราคาใบละราคา 2,000 บาท สามารถติดต่อซื้อได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจของเฮงเสง ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม และหน้าร้านที่ซอยวานิช 2 ย่านตลาดน้อย

ส่วนแผนการพัฒนาหรือสานต่อธุรกิจในอนาคต คุณเจี๊ยบบอกว่า “รุ่นที่สี่เรายังมองไม่เห็นคนที่จะมาสืบทอด เพราะลูกหลานคงไม่ได้ทํา แต่ถ้าวันหน้าเราวางมือแล้ว เราก็อาจจะส่งต่อให้ใครก็ได้ที่เขาสนใจอาชีพนี้ ตามปกติเรามีเวิร์กช็อปหมอนใบเล็ก สอนทำเป็นรูปพวงกุญแจรูปแบบง่ายๆ แต่ถ้าขั้นตอนที่ทํายากมันต้องใช้เวลาในการเรียน”



คอลัมน์: นักสืบเสาะ

เรื่อง: zentradies

ภาพ: All Creative Team

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!