เออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์ (Ernest Miller Hemingway; พ.ศ. 2442-2504) นักแต่งนวนิยายและนักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกันผู้มีลีลาภาษาสั้นกระชับ เขาเกิดที่โอ๊กพาร์ก รัฐอิลลินอยส์ เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในสังกัดหนังสือพิมพ์ เดอะแคนซัสซิตีสตาร์ แล้วเข้าเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นพลประจำรถพยาบาลทหารจนได้รับบาดเจ็บเมื่อ พ.ศ. 2461 เฮมิงเวย์เลยรับเหรียญกล้าหาญ นอกจากคิวบา เขาเคยใช้ชีวิตผจญภัยในฝรั่งเศสและสเปน ด้วยความหลงใหลใฝ่ฝันถึงวีรกรรมของลูกผู้ชายเกี่ยวกับการทำสงคราม การล่าสัตว์ การตกปลา และการสู้วัวกระทิง
ต่อมาเขาได้แต่งเรื่อง เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) สะท้อนภาพชีวิตอันโดดเดี่ยวของชายชราชาวประมงคิวบาผู้ยากไร้ชื่อซันติอาโก เขาไปตกปลาในอ่าวกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมของมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งฮาวานา ประเทศคิวบา ได้เผชิญความยากลำบากด้วยความทรหดอดทนท่ามกลางท้องทะเลที่เงียบสงบ วันหนึ่งเขาได้ต่อสู้ในระยะประชิดติดพันกันกับปลากระโทงแทงยักษ์ตัวหนึ่งถึงสองวันสองคืน พอเข้าวันที่สามบังเกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เขาสำนึกในความงามและจิตวิญญาณของท้องทะเลด้วยความอบอุ่นแห่งหัวใจ และปรารถนาหลีกหนีความวุ่นวาย แก่นของเรื่องคือความเจ็บปวดของการเย่ออย่างทรหดกับปลายักษ์ เขารู้สึกอ่อนล้าจนต้องเอ่ยกับปลาตัวนั้นด้วยเสียงดังแต่อ่อนโยนว่า “ปลาเอ๋ย ข้าทั้งรักทั้งนับถือเจ้ามากจริงๆ แต่ข้าจะต้องฆ่าเจ้าให้ตายก่อนตะวันตกดิน ข้าจะอยู่กับเจ้าจนกว่าไม่ใครก็ใครต้องตาย” เขาจึงตัดสินใจออกแรงเฮือกสุดท้ายใช้ฉมวกแทงเข้าที่กลางหลังปลานั้นจนตาย แต่กลิ่นคาวเลือดของปลายักษ์ล่อฝูงปลาฉลามเข้ามาใกล้เรือเพื่อรุมแทะกินเนื้อปลายักษ์ เขาพยายามต้านทานไว้แต่ต้องพ่ายแพ้ เพราะฉลามมีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดซานดิอาโกก็กลับขึ้นฝั่งมือเปล่าพร้อมกับซากปลามาร์ลินที่เหลือแต่โครงกระดูกเท่านั้น
ใน พ.ศ. 1953 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ด้วยประเภทบันเทิงคดี (fiction) และปีถัดมาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนส่งให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมอันทรงเกียรติ ด้วยสำนวนภาษาเรียบง่ายอันเป็นเอกลักษณ์แห่งศิลปะการประพันธ์นี้ กล่าวได้ว่าเขาผู้สร้างค่านิยมให้แก่วรรณกรรมร่วมสมัยและมีอิทธิพลต่อวิถีอารยธรรมของมนุษย์ไม่มากก็น้อย
เฮมิงเวย์โด่งดังจากผลงานประพันธ์อันว่าด้วยชีวิตของนักผจญภัยผู้หลงใหลการเดินทางและการดื่มกิน ทั้งนี้เพราะในวัยเด็กเขาเคยติดตามพ่อของเขาออกไปเดินป่า จึงได้เรียนรู้เรื่องการตั้งแคมป์ วิธีการเดินป่า การตกปลา การล่าสัตว์ รวมทั้งการทำอาหาร หนังสือแทบทุกเล่มของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาไทย และมีผู้นิยมอ่านกันอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งบรรณาธิการนิตยสารเกี่ยวกับการยิงนกตกปลาซึ่งหลงใหลเฮมิงเวย์เป็นชีวิตจิตใจ ก็ยังตั้งฉายาให้เขาว่า ‘ปาป้า’
เฮมิงเวย์เป็นผู้ชื่นชอบการทำอาหาร หลายครั้งถ้ามีเวลาเขามักทำอาหารกินเองที่บ้าน และยังมีน้ำใจเผื่อแผ่ให้เพื่อนฝูงด้วย ครั้งหนึ่งเขาเคยเชิญเพื่อนนักข่าวมากินมื้อเช้าร่วมกันในห้องพักที่โรงแรม เขาได้ทอดแพนเค้กสูตรพิเศษให้นักข่าวกิน ซึ่งคนที่ได้กินต่างก็ชมว่าเขามีรสมือดี
เมื่อไม่นานนี้มีการบริจาคเอกสารส่วนตัวของเฮมิงเวย์จำนวนหนึ่งให้แก่หอสมุดและพิพิธภัณฑ์ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ในบอสตัน เอกสารดังกล่าวเป็นสมบัติของเฮมิงเวย์ที่ถูกส่งมาจากบ้านของเขาในคิวบา มีเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจ นั่นก็คือสูตรแฮมเบอร์เกอร์จานโปรดของเฮมิงเวย์ ที่เรียกกันว่า ‘Hemingway burger’ หรือ ‘Papa’s favorite hamburger’ เป็นเรื่องราวแฮมเบอร์เกอร์ของเฮมิงเวย์ในช่วงเวลาที่เขาอาศัยอยู่ในฮาวานา ประเทศคิวบา เขามักแวะเวียนไปยังร้านอาหารยอดนิยมของฮาวานาที่ชื่อว่า El Floridita เป็นประจำ ตามปกติร้านนี้ขายเฉพาะอาหารทะเลและค็อกเทล เนื่องจากชาวคิวบานิยมกินแซนด์วิช เฮมิงเวย์จึงได้ขอให้พ่อครัวทำแฮมเบอร์เกอร์ตามสูตรที่เขาโปรดปราน ฝ่ายพ่อครัวก็กระตือรือร้นที่จะทำแฮมเบอร์เกอร์ให้นักเขียนผู้โด่งดังกินในทันที
สูตรเบอร์เกอร์ของเฮมิงเวย์จะต้องปรุงรสด้วยหัวหอม กระเทียม ซอสอินเดีย และเคเปอร์ ขั้นแรกนำเนื้อไปทอดในกระทะจนด้านนอกกรอบ แต่ตรงกลางยังชุ่มเลือดแดงอยู่ จากนั้นนำมาวางซ้อนกันกับชีส เบคอน หัวหอมใหญ่ มะเขือเทศ และผักดอง แล้วประกบด้วยขนมปังเบอร์เกอร์ เจ้าของร้านจึงเรียกเมนูซึ่งมีลักษณะสร้างสรรค์เฉพาะตัวนี้ว่า ‘Hemingway burger’ แม้จะมีการถกเถียงกันอยู่บ้างเกี่ยวกับความถูกต้องของเรื่องดังกล่าวนี้ แต่นั่นก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมรดกการทำอาหารแบบเฮมิงเวย์ เพราะเป็นที่ทราบกันว่าเขาชื่นชอบอาหารและเครื่องดื่มดีๆ จึงมักกล่าวถึงเรื่องราวของอาหารบ่อยๆ ในงานเขียน อีกทั้งย้ำถึงความสำคัญของความสุขในชีวิต
หลังจาก Hemingway burger ได้รับการเผยแพร่ก็เป็นที่นิยมอย่างล้นหลามในหลายประเทศ ทุกวันนี้แม้มีสูตรใหม่ๆ ดัดแปลงขึ้นมากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นในแง่ของรสชาติที่ทำขึ้นมาเพื่อให้ถูกปากคนในท้องถิ่น แต่องค์ประกอบหลักยังคงเหมือนเดิม
ถึงแม้เฮมิงเวย์จะล่วงลับไปแล้ว แต่เขาก็ยังคงทิ้งร่องรอยอันตรึงตราไว้บนโลกใบนี้ ทั้งวรรณกรรมชื่อดังที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าอย่างไม่จบสิ้น รวมถึงเรื่องราวของการเดินทางและอาหารที่เขาโปรดปราน
ข้ารักฤดูใบไม้ร่วงเหนือสิ่งอื่นใด
ใบไม้สีเหลืองจากต้นฝ้าย
ลอยละล่องตามลำธารปลาเทราต์เหนือเนินเขา
ยามท้องฟ้าสีครามสงบไร้ลม
จักรวมเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาตลอดไป
เฮมิงเวย์
อ้างอิง
Chat GPT และ Wikipedia
https://www.youtube.com/watch?v=o_KUQpDf_PE
Rimping Supermarket (LINE ID: @rimping) หรือ https://lin.ee/6yO2Tgq#RimpingSupermarket #Rimping #HemingwayBurger #Hemingway #Burger
คอลัมน์: กินแกล้มเล่า
เรื่อง: สุทัศน์ ศุกลรัตนเมธี
ภาพ: อินเทอร์เน็ต