สวมหมวกหลายใบ

-

ผมสวมหมวกหลายใบ

วลี ‘สวมหมวก’ เป็นสำนวน หมายถึงหน้าที่งานหรือความรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง เช่น นางบุญเรือนทำงานเป็นแม่บ้านที่สำนักงานแห่งหนึ่ง หมวกใบที่ 1 คือแม่บ้านสำนักงาน หลังเลิกงานเธอไปทำงานเป็นแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน นี่เป็นหมวกใบที่ 2 เธอกลับบ้านไปเลี้ยงลูก นี่เป็นหมวกใบที่ 3 ในวันหยุดเธอไปร่วมกลุ่มสตรีในหมู่บ้านเพื่อผลิตสินค้าเกษตรขาย นี่เป็นหมวกใบที่ 4

แต่ละบทบาทหน้าที่คือหมวกหนึ่งใบ ซึ่งอาจเป็นคนละเรื่องคนละสาย แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

บางครั้งก็อาจสลับบทบาทกัน เช่น นายสมพงษ์เป็นซีอีโอบริษัทใหญ่ มีคนขับรถประจำตำแหน่งชื่อนายขวัญ แต่ในวันหยุดนายสมพงษ์มีหน้าที่ขับรถพาภรรยาและลูกไปที่ต่างๆ เขาจึงสวมหมวกทั้งซีอีโอและคนขับรถ

ส่วนนายขวัญทำงานขับรถทั้งสัปดาห์ ในวันหยุด ลูกชายของเขาบอกพ่อว่า “พ่อขับรถมาทั้งอาทิตย์ วันหยุดผมขับให้พ่อเอง”

นายขวัญจึงสวมหมวกคนขับรถและ ‘ซีอีโอ’ ของครอบครัวเช่นกัน

นายสมคิดเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ในมหาวิทยาลัย ยามกลางวันเขาสวมหมวกอาจารย์สอนลูกศิษย์ ครั้นยามค่ำเขาไปเรียนต่อวิชาวาดรูป คราวนี้เขาสวมหมวกนักเรียน

 

…………………………..

 

เคยสงสัยไหมว่า อาชีพต่างๆ ของมนุษย์เราเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ทำไมโลกจึงมีอาชีพนั้นอาชีพนี้มากมาย? บางทีมันก็คือวิวัฒนาการหนึ่งของสายพันธุ์มนุษย์

การแบ่งอาชีพทำให้สังคมแข็งแรงขึ้น ทำให้สายพันธุ์มีโอกาสอยู่รอดสูงขึ้น และทำให้เราเป็นเราในวันนี้

ถ้ามนุษย์ทุกคนในโลกยังต้องทำงานทุกอย่าง จนวันนี้เราก็ยังไม่ได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ

มนุษย์โบราณต้องทำงานหลายอย่าง ผู้ชายคนหนึ่งต้องทำนา ทำสวน ล่าสัตว์ จับปลา ซ่อมบ้าน ซ่อมอวน ทำฉมวก เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ แต่เมื่อมนุษย์สร้างอารยธรรม ก็แบ่งหน้าที่กันเพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาย ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้นและมากขึ้น การทำนา ทำสวน ล่าสัตว์ จับปลา ซ่อมบ้าน ซ่อมอวน ฯลฯ เป็นหน้าที่เฉพาะของคนละคน เรียกว่าอาชีพ

เป็นหมวกใบใหญ่ที่สวมประจำ

ทว่าตลอดอารยธรรมของมนุษย์ ยากที่ใครคนหนึ่งจะสวมหมวกใบเดียวได้จริงๆ

เราแต่ละคนมักสวมหมวกหลายใบ บางครั้งเราก็ถูกบังคับให้สวม เช่น เจ้านายไม่สามารถจ้างพนักงานใหม่ให้ทำงานด้านหนึ่ง ก็บังคับให้เราทำงานนั้นด้วย

ในองค์กรเล็กๆ การสวมหมวกหลายใบเป็นเรื่องธรรมดาหรือเป็นภาคบังคับด้วยซ้ำ เพราะองค์กรไม่มีปัญญาจ้างคนหลายคน

ยกตัวอย่างเช่น ในเอเจนซีโฆษณาขนาดใหญ่ในสมัยก่อน แต่ละบทบาทหน้าที่แยกกันชัดเจน คนคิดไอเดีย คนคิดคำ คนคิดภาพ และคนวาดภาพเป็นคนละคนกัน ไม่ก้าวก่ายกัน ส่วนเอเจนซีขนาดเล็ก หมวกทั้งสี่ใบสวมโดยคนคนเดียว ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสีย เพราะในวงการสร้างสรรค์ บ่อยครั้งเราไม่อาจแบ่งเส้นหน้าที่รับผิดชอบได้ชัดเจน บางครั้งคนคิดคำอาจคิดภาพได้ดีกว่า บางครั้งคนคิดภาพอาจคิดคำได้ดีกว่า

สำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบ ทำงานในองค์กรเล็กก็ดีที่จะได้เรียนรู้งานหลายอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะรู้ว่า อนาคตอยากจะสวมหมวกใบไหนเป็นหลัก

 

ผมสวมหมวกหลายใบ…

อาจเพราะเป็นคนขี้เบื่อง่าย ตลอดชีวิตผมจึงสวมหมวกหลายใบ ผมเคยสวมหมวกสถาปนิก นักออกแบบภายใน นักออกแบบกราฟิก นักวาด นักออกแบบการ์ดอวยพร ช่างภาพ นักโฆษณา ผู้กำกับศิลป์ นักเขียนคำโฆษณา จนถึงปัจจุบันผมทำสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่ง สวมหมวกนักเขียนอาชีพ บางครั้งก็สวมหมวกนักวาดรูป คนทำอาร์ตเวิร์ก บางช่วงก็สวมหมวกนักโฆษณาขายหนังสือ ขณะเดียวกันก็สวมหมวกสามี  พ่อ นักเรียน และบางครั้งก็สวมหมวกครู

ปัญหาของหมวกใบใหญ่ทำให้คนบางคนมองเรื่องบทบาทหน้าที่การงานแบบขาวกับดำ ถ้าตำแหน่งบนนามบัตรเป็นอะไร ก็ยึดมั่นกับหน้าที่นั้นอย่างเดียวจนขาดความยืดหยุ่น หรือคิดว่าหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดเป็นของเขาคนเดียวเท่านั้น

ผมเคยขอให้ลูกน้องคนหนึ่งทำงานบางอย่าง คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่ใช่หน้าที่ผม” ซึ่งก็ไม่ผิด แต่มันสะท้อนทัศนคติและวิธีมองชีวิตแบบหนึ่ง

บางครั้งคนบางคนก็หลงอยู่ในกับดักของอาชีพจนลืมไปว่า มนุษย์เราสามารถทำงานได้มากกว่าหนึ่งหน้าที่

อย่างไรก็ตาม จุดที่ทำให้คนต่างกันคือทัศนคติ

หากคิดว่าหมวกเป็นหน้าที่ เป็นกำไร-ขาดทุน เช่น ทำงานมากไปคือขาดทุน เช่นนี้ก็อาจทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ต่างสายซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจเป็นประโยชน์ต่อเรา

การสวมหมวกหลายใบทำให้สมองแจกแจงแยกแยะ เป็นการสลับบทบาทเหมือนนักแสดงที่รับบทต่างกัน มันทำให้การเดินทางบนเส้นทางชีวิตไม่เรียบเป็นเส้นตรง ทำให้ชีวิตมีความหลากหลาย มีรสชาติและสีสัน

หลายหน้าที่แปลว่าหลายความรับผิดชอบ ทำให้สมองต้องแบ่ง ต้องคิด

ดีต่อสมอง

การสวมหมวกหลายใบ ทำงานหลายอย่างก็สามารถสนุกได้ และท้าทาย ทำให้ชีวิตไม่เคลื่อนไปเป็นเส้นตรง

และการสวมหมวกกี่ใบก็อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามีความสุขกับหมวกหลายใบนั้นหรือไม่

 

 

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/


คอลัมน์ ลมหายใจ / เรื่องและภาพ: วินทร์ เลียววาริณ

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!