10หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน คือนิยายเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มของ รมณ กมลนาวิน แต่เธอหาใช่หน้าใหม่ของวงการไม่ ผลงานเรื่องสั้นของเธอได้รับเลือกให้ลงในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ อีกทั้งยังเจนจัดเวทีประกวดเรื่องสั้นและคว้ารางวัลมาไม่น้อย นิยายเรื่องนี้รมณเล่าถึงชีวิตรักของปอง ผู้มีรักแท้ให้สาวน้อยคนหนึ่งและฝันถึงการมีครอบครัวอันสมบูรณ์ รวมทั้งความเกี่ยวโยงของคนในชุมชนกับธุรกิจสีเทาซึ่งมีฉากหน้าเป็นร้านนวด แม้จะรู้ถึงความไม่ขาวสะอาดแต่ชาวบ้านก็ยังต้องพึ่งพาพัวพันกับธุรกิจนี้ เพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้องของตน ผู้เขียนทำให้คนอ่านประจักษ์ในความรักอันบริสุทธิ์พร้อมกับสะท้อนปัญหาสังคมจากหน่วยเล็กๆ ในครอบครัว ถึงระดับโครงสร้าง ด้วยคุณค่าของหนังสือเล่มนี้คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 1 หนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2564 ประเภทนวนิยาย
รมณ กมลนาวิน เป็นชื่อจริงหรือนามปากกาของคุณ
รมณ กมลนาวิน เป็นชื่อ-นามสกุลจริง ใช้เป็นนามปากกาเขียนหนังสือแนววรรณกรรมสะท้อนสังคม และมีอีกนามปากกาคือ “ราโมน่า เซย์ส” ในอนาคตจะใช้กับงานประเภท E-book ส่วน “RamonaSays” เป็นชื่อแบรนด์ทำสินค้าแฮนด์เมด สมุดทำมือ และสินค้าอื่นๆ ค่ะ
เส้นทางการอ่านหนังสือของคุณเริ่มขึ้นตอนไหน
การอ่านของเราเริ่มต้นที่ร้านหนังสือดอกหญ้าข้างธนาคารกรุงเทพ ถนนรามคำแหง 24 เป็นร้านหนังสือหน้าปากซอยบ้าน ช่วงมัธยมต้นเวลานั่งรถเมล์กลับจากโรงเรียน ก่อนเข้าซอยต้องแวะร้านหนังสือ เข้าไปยืนอ่านเล่มที่สนใจ ส่วนใหญ่เป็นแนวสารคดีแปลกๆ ของต่างประเทศ หรือเรื่องลึกลับตื่นเต้น เช่น สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ชนเผ่าคนป่า มนุษย์กินคน สารคดีท่องเที่ยวเดินทางใกล้-ไกลในต่างประเทศ ทำนองนี้ ยืนอ่านทั้งแผงจนไม่รู้จะอ่านอะไร หยิบอ่านซ้ำเล่มเดิมก็มี เจ้าของร้านและพนักงานใจดีมาก ปล่อยให้เด็กๆ ยืนอ่าน นั่งอ่านกัน ไม่มีไล่ แต่พอเก็บเงินได้ก็ไปซื้อบางเล่มที่ชอบ
มีนักเขียนคนใดหรือหนังสือเล่มไหนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษบ้าง
หากถามว่าเล่มไหนที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจจนอยากเป็นนักบันทึกเรื่องราว ก็คงเป็นงานของ ‘พี่จุ้ย’ ศุ บุญเลี้ยง (นอกจากเป็นแฟนคลับงานเขียนแล้วยังเป็นแฟนเพลงด้วย) เล่มที่ชอบมากคือ ลิ้นชักนักเดินทาง พี่จุ้ยและเพื่อนเขียนบันทึกการเดินทางด้วยการโบกรถได้สนุกมาก จนเวลาไปเที่ยวไหนนึกอยากชวนเพื่อนเขียนบันทึกกัน แต่ไม่มีใครร่วมวงด้วย นอกจากพี่จุ้ยแล้วก็ยังอ่านงานคนเขียนแนวเดียวกัน เช่น พิง ลำพระเพลิง, ‘เจี๊ยบ’ วัชระ ปานเอี่ยม, วุฒิชาติ ชุ่มสนิท (บินหลา สันกาลาคีรี), ปินดา โพสยะ รวมถึงงานของประภัสสร เสวิกุล ส่วนนวนิยายอ่านของ “ทมยันตี”, “โสภาค สุวรรณ”, “กิ่งฉัตร”, “ว.วินิจฉัยกุล” โตขึ้นอีกหน่อยก็มารู้จักเรื่องสั้นแนวซีเรียสอย่างงานของ ชาติ กอบจิตติ เหล่านี้อ่านจากร้านหนังสือทั้งสิ้น สมัยนั้นห้องสมุดโรงเรียนไม่ค่อยมี หรือมีก็น้อยเล่ม หลังจากนั้นแนวการอ่านก็ขยับขยายตามวัย จนตอนนี้ชอบอ่านงานแนวซีเรียส สะท้อนสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่
แล้วมาสนใจงานเขียนหนังสือได้อย่างไร
ผลงานของ ประชาคม ลุนาชัย ทำให้รู้จักเรื่องสั้นในแบบซีเรียส (สำหรับเราสมัยนั้น) จนสนใจอ่านเรื่องสั้นมากกว่านิยาย อาจเพราะจบไว รู้เรื่องไว ต่อมาได้อ่านงานรวมเรื่องสั้นของนักเขียนอีกหลายคน จนถึงงานที่กระตุ้นให้อยากเขียนเรื่องสั้นคืองานของคุณ ‘พู’ อุรุดา โควินท์ แต่ทั้งนี้การเขียนเกิดจากรากฐานของการอ่าน
ช่วงปี 2553 หรือ 2554 ตัดสินใจว่าอยากจะเขียนหนังสือจริงจัง เลยลาออกมาฝึกฝน อ่านหนังสือเพื่อศึกษาการเขียนเลย แล้วก็มีผลงานเผยแพร่ลงสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่น มติชนสุดสัปดาห์, สกุลไทย, กุลสตรี เซ็กชั่นจุดประกายใน กรุงเทพธุรกิจ, เนชั่นสุดสัปดาห์, ฅ.คน, ขายหัวเราะ, ชายคาเรื่องสั้น เป็นต้น ควบคู่กับการส่งประกวดเวทีวรรณกรรมต่างๆ ได้รับรางวัล 13 รางวัล ล่าสุดคือ รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2564 ประเภทนวนิยาย และปลายปีนี้มีรวมเรื่องสั้นออกมาอีกเล่ม ชื่อ สเปโร โซนาตา (ท่วงทำนองแห่งความหวัง) เป็นเล่มที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์สำเภา
เล่าถึงแรงบันดาลใจของหนังสือ หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน หน่อย
นิยายเรื่องนี้ เอาเข้าจริงก็ไม่มีที่มาที่ไปซับซ้อน เกิดจากช่วงที่แม่ป่วยหนัก นอนอยู่โรงพยาบาลราวเดือนเศษ ฟังเพลงในยูทูบตอนนั่งเฝ้าข้างเตียง แล้วมาถึงเพลง “ที่สุดของหัวใจ” ร้องโดย ‘แจ้’ ดนุพล แก้วกาญจน์ ฟังเนื้อเพลงแล้วจับใจ นึกถึงตัวละครชายในเพลง เขาถูกสะบั้นรักทั้งที่ไม่รู้ความผิดของตัวเอง เห็นใจแล้วก็สงสาร จึงอยากเก็บแคแรกเตอร์นี้ไว้ อยากให้อยู่ในเรื่องสั้นหรือนิยายของเราสักเรื่อง พอยิ่งฟังซ้ำๆ พล็อตเรื่องก็เกิดขึ้นเองในหัว พัฒนาต่อยอดจนเป็นโครงเรื่อง ตอนลงมือร่างโครงในสมุด หลายๆ ประเด็นก็ผุดขึ้นมาจนประกอบสร้างเป็นนิยายเรื่องนี้
ที่มาของชื่อหนังสือคืออะไร
วรรคแรกของเพลง “ที่สุดของหัวใจ” เลือกจากบริบทตัวละครในนิยาย (ลุงดำ)
ทำไมถึงเลือกถ่ายทอดเป็นนิยาย และเป็นนิยายเรื่องแรกด้วยรึเปล่า
แรกเขียนตั้งใจให้เป็นเรื่องสั้นราวๆ สิบกว่าหน้า ยิ่งเขียนยิ่งอยากใส่ประเด็นอื่นเข้าไปด้วย ทำให้โครงเรื่องขยาย จึงเปลี่ยนเป็นนำเสนอในรูปแบบนิยาย ซึ่งมีพื้นที่เขียนมากขึ้น และเรื่องนี้เป็นนิยายเรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์ในรูปแบบกระดาษ
เหตุใดถึงเลือกถ่ายทอดประเด็นธุรกิจสีเทาแต่สร้างรายได้ให้ชุมชน กับตัวละครที่มีปมความรวดร้าวในใจ
ปัญหาสังคมประเด็นนี้ ใช้ฉากชนบทจะถ่ายทอดเรื่องราวหรือสื่อความได้ง่ายและชัดเจนกว่า
สารที่อยากสื่อถึงผู้อ่านผ่านผลงานชิ้นนี้คืออะไร
อย่างแรกเลยคือ อยากให้เห็นพฤติกรรมปากว่าตาขยิบของผู้มีอำนาจพัฒนาบ้านเมือง ที่รู้เห็นเป็นใจ แต่กลับแสร้งทำเป็นไม่รู้ ตราบเท่าที่ยังมีผลประโยชน์เอื้อต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับนายทุน ปัญหาที่เมื่อหยิบมาเขียนแล้วถูกมองว่าล้าสมัยก็ยังจะร่วม (ฝังลึก) สมัยต่อไปอีกนาน อย่างที่สองคือ การหมดหนทางเลือกของประชาชน บางทีเราก็ต่อว่ากันไม่ลงเมื่อต่างต้องดำเนินชีวิตใต้ระบบการบริหารของผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ พวกนักพัฒนาบ้านเมืองที่กอบโกยผลประโยชน์เข้าตัว หากเปรียบพลเมืองเป็นต้นไม้ พวกนักพัฒนาจำพวกนี้ก็คือศัตรูพืช กัดกินเราจากข้างใน และอย่างสุดท้ายเลยก็คือ อยากให้คนอ่านเห็นว่า ผู้ร้ายตัวจริงในประเด็นปัญหานี้คือใคร
มีเหตุการณ์ประทับใจระหว่างเขียนงานชิ้นนี้ไหม
งานชิ้นนี้เขียนด้วยความเหนื่อยยากที่สุด เพราะอยู่ในช่วงแม่ป่วยหนัก กลางวันนั่งเฝ้าข้างเตียง ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนถึงหมดเวลาเยี่ยมคือสอง-สามทุ่ม พอกลับถึงบ้านก็มานั่งเขียนต่อทุกคืน จนกระทั่งวันที่แม่จากไปก็ยังเขียนอยู่ เรื่องนี้จึงอาจเจือเอาความเศร้าและความคิดถึงแม่เข้าไปด้วย นิยายเรื่องนี้จึงขออุทิศให้แม่ แม้เราจะอยู่ในภาวะเศร้า หมดหวังกับการรักษา แต่แม่ยังเป็นกำลังใจเดียวในช่วงนั้นให้เขียนจนจบ
ความท้าทายหรือสิ่งที่ยากในการเขียนงานชิ้นนี้
สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การเขียน แต่เป็นเรื่องต่อสู้กับใจตัวเอง ที่ต้องเขียนในภาวะเศร้า
ผลงานเล่มนี้มีการทดลองใส่สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ หรือมีอะไรที่พัฒนาจากงานเขียนช่วงก่อนๆ บ้าง
ที่เห็นได้ชัดคือโครงเรื่อง เพราะเมื่อก่อนส่วนใหญ่เขียนเรื่องสั้น ซึ่งโครงเรื่องเล็กกว่า
รู้สึกอย่างไรต่อผลงานนิยายเรื่องนี้ของคุณบ้าง
พอใจในระดับหนึ่ง เขียนจบแล้วก็คิดว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข อยากทำให้ดีกว่านี้ในเรื่องหน้า
แล้วรู้สึกอย่างไรต่อรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด
เป็นเวทีคุณภาพเวทีหนึ่งที่นักเขียนภูมิใจแม้เพียงส่งผลงานเข้าร่วม อยากให้คงมาตรฐานไว้เช่นนี้ และจัดต่อเนื่องตลอดไป
การเขียนให้อะไรแก่คุณ
ได้ทบทวนความคิดตัวเองต่อคนรอบข้าง ครอบครัว และสังคม เหมือนเป็นการเรียบเรียงเหตุและผลในตอนที่มีสติครบถ้วน และเป็นเหตุผลที่อยากใช้ชีวิตทุกวันเพื่อทำงานที่รัก
3 เล่มในดวงใจ ของ รมณ กมลนาวิน
- หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude)
เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ
นิยายสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่พูดถึงภาพใหญ่มากอย่างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองละตินอเมริกา ยุคหลังอาณานิคม พูดถึงความโดดเดี่ยวของผู้เฝ้ามองความเป็นไปจนอายุถึงร้อยปี เป็นเรื่องที่อ่านแล้ววางไม่ลง ทั้งสนุกทั้งปวดหัวกับชื่อตัวละครหลายเจเนอเรชั่นของตระกูลบูเอนดิยา
- คนโซ (Hunger)
เขียนโดย คนุท แฮมซุน
นิยายที่บรรจุชั่วชีวิตของนักเขียนคนหนึ่งไว้ได้อย่างถึงรสชาติ
- รักซ้อน ซ่อนรส (Like Water for Chocolate)
เขียนโดย เลารา เอสกีเบล
เป็นงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่สำนวนแปลสละสลวยมาก (แปลโดย จิตราภรณ์) ออกแบบการเล่าด้วยสูตรการทำอาหาร แม้ในเรื่องจะเกี่ยวกับความรักซ้อน แต่ก็แอบซุกปัญหาอื่นไว้ด้วย