Happiest Season – อย่าผูกรักติดไว้กับความคาดหวัง

-

แอ็บบี้ไม่ชอบเทศกาลคริสต์มาส แต่เธอกลับพบว่าคริสต์มาสปีนี้พิเศษกว่าทุกปี

แอ็บบี้กำลังคบกับฮาร์เปอร์ ความรักของทั้งคู่ไปได้ดี แอ็บบี้แอบสั่งแหวนหวังเซอร์ไพรส์ขอแต่งงาน แล้วฮาร์เปอร์ก็ชวนแอ็บบี้ไปพบครอบครัวของเธอในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งแอ็บบี้ก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะขอแต่งงานต่อหน้าพ่อของฮาร์เปอร์

ช่วงเวลา 5 วันที่จะได้พบครอบครัวของคนรัก แถมเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขตามเทศกาลน่าจะเป็นช่วงเวลาสุดโรแมนติก แต่ฮาร์เปอร์กลับสารภาพระหว่างนั่งรถไปบ้านว่า เธอยังไม่เคยบอกพ่อแม่ว่ากำลังคบกับแอ็บบี้ ที่สำคัญพ่อแม่ของฮาร์เปอร์ยังไม่รู้ว่าเธอรักเพศเดียวกัน และเธอต้องการให้แอ็บบี้เก็บเป็นความลับแล้วโกหกว่าเป็นแค่รูมเมท ซ้ำร้ายยังต้องการให้แอ็บบี้โกหกเกี่ยวกับตัวเองด้วยว่ารักเพศตรงข้าม

แล้วเมื่อไปถึงบ้านของฮาร์เปอร์ การใช้ชีวิตแบบหลอกลวงก็เริ่มต้น ทุกอย่างดูแย่ลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของแอ็บบี้

 

 

“ฉันต่างหากที่อึดอัดเพราะถูกเธอยัดกลับคืนเข้าไปในตู้เสื้อผ้า”

คำพูดของแอ็บบี้ที่ระบายใส่ฮาร์เปอร์ เกิดขึ้นหลังจากมาอยู่ร่วมกับครอบครัวของฮาร์เปอร์ได้ไม่กี่วันแล้วต้องคอยเสแสร้งว่าเป็นแค่เพื่อน ไม่ได้รับการให้เกียรติเท่าที่ควร ต้องทนเห็นฮาร์เปอร์ออกไปกินเที่ยวกับแฟนเก่าเพื่อแสดงให้พ่อแม่ยอมรับ

การใช้ชีวิตแบบปกปิดจนแอ็บบี้อึดอัดแทบหายใจไม่ออกแล้วพูดโพล่งนั้นไม่ได้หมายถึงตู้เสื้อผ้าจริงๆ แต่นั่นคือการเล่นคำเปรียบสำนวน “Come out of the closet” ซึ่งหมายถึงการเปิดตัวความรักเพศเดียวกันให้สาธารณชนหรือคนใกล้ชิดรับรู้ และทั้งคู่ก็เปิดเผยต่อสังคมมาตลอดก่อนไปเยี่ยมครอบครัวฮาร์เปอร์

แต่เมื่อถึงบ้านของคนรัก แอ็บบี้กลับต้องปกปิดทั้ง ‘ตัวตน (โกหกคนอื่นๆว่าตัวเองเป็น straight มีแฟนเป็นผู้ชาย)’ และ ‘ความสัมพันธ์’ (โกหกว่าไม่ได้รักกันแต่เป็นแค่เพื่อนกัน)

แถมไม่ใช่แค่นั้น ฮาร์เปอร์ไม่เพียงปกปิดความสัมพันธ์กับครอบครัว แต่กับเพื่อนสมัยเรียนที่เจอ เธอก็โกหกด้วย และนั่นเริ่มทำให้แอ็บบี้ยิ่งรู้สึกไม่ดี

มันก็เหมือนกับที่ตัวละครคนหนึ่งบอกว่าเธอเข้าใจดีถึงความทุกข์ใจของ ‘การรักใครสักคนที่เธอคนนั้นกลัวจะเปิดเผยตัวตนให้โลกรู้’ และฮาร์เปอร์ก็ทำแบบนี้มาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน ไม่ใช่แค่กรณีของแอ็บบี้

อาจเป็นเพราะบุคลิกของฮาร์เปอร์ที่กลัวโดนสังคมนินทา กลัวคนอื่นๆ ไม่ยอมรับ แต่เมื่อเราเข้าไปสำรวจครอบครัวของเธอก็จะพบว่า หลายคนที่กลัวเรื่องการเปิดเผยตัวตนและเรื่องเพศ เป็นผลแห่งการหล่อหลอมจากครอบครัวทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 

 

ครอบครัวของฮาร์เปอร์กำลังจะเข้าสู่แวดวงการเมือง พ่อของฮาร์เปอร์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเตรียมจะลงสมัครเป็นนายกเทศมนตรี อยู่ระหว่างระดมทุนเรี่ยไรหาผู้สนับสนุน จึงให้ความสำคัญแก่ภาพลักษณ์ของครอบครัวมาก เช่นเดียวกับแม่ของฮาร์เปอร์ที่หมั่นสร้างภาพลักษณ์ด้วยการโพสต์ภาพดีๆ ของครอบครัวลงอินสตาแกรม

ฮาร์เปอร์มีพี่สาวสองคน สโลนคือพี่คนโตเป็นอัยการ แต่หลังจากแต่งงานก็ผันตัวเป็นแม่บ้าน บุคลิกของสโลนยึดมั่นความสมบูรณ์แบบ ทุกอย่างในชีวิตต้องเป๊ะและดูดี ฮาร์เปอร์กับสโลนแสดงออกชัดว่าต่างแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันมาตั้งแต่เล็ก แต่เมื่อสโลนกลายเป็นแม่บ้านในช่วงเวลาที่พ่อของพวกเธอกำลังมุ่งมั่นปั้น ‘ภาพลักษณ์’ สโลนกลับไม่เป็นที่ต้องการของพ่อเวลาออกงานเท่าไหร่นัก เป็นเหมือนไม้ประดับที่พ่อแนะนำให้แขกรู้จัก สิ่งเดียวซึ่งพ่อแม่ภูมิใจอวดคนอื่นๆ คือ ภาพครอบครัวของสโลนอันสมบูรณ์แบบตามที่เธอพยายามสร้าง

พี่สาวคนรองของฮาร์เปอร์ชื่อเจน เจนมีบุคลิกเหมือนเด็ก เธอมักเล่าถึงงานเขียนแนวแฟนตาซีซึ่งพ่อแม่แทบไม่ให้ความสำคัญเวลาเธออวดผลงาน   แถมแม่ก็มักชักสีหน้าบ่อยๆจากบุคลิกเปิ่นๆกะเปิ๊บกะป๊าบของเธอที่ไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ภูมิฐานซึ่งครอบครัวเพียรสร้างให้สังคมเห็น เธอมีความหมายสำหรับพ่อแม่ก็เมื่อต้องใช้แก้ปัญหางานบ้าน เช่น ซ่อมสัญญาณอินเตอร์เน็ต

ฮาร์เปอร์จึงเป็นลูกรักที่พ่อพาอวดผู้คนเวลาออกงานสังคม ด้วยงานคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์พิตส์เบิร์กโพสต์ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คน

 

 

แต่เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงจุดที่แอ็บบี้ทนไม่ไหว ส่วนพ่อของฮาร์เปอร์ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการมีสปอนเซอร์หนุนลงเลือกตั้ง สถานการณ์จึงบีบคั้นถึงขั้นแตกหัก แล้วมันก็ช่วยสมาชิกครอบครัวนี้ได้เห็นบาดแผลภายในพื้นที่ครอบครัว

ลูกทั้งสามในบ้านล้วนซ่อนความรู้สึกผิดหวัง ปกปิดความปรารถนาอันแท้จริงและยอมเจ็บปวด เพื่อภาพลักษณ์ที่พ่อแม่อยากให้ครอบครัวดูดี

คนหนึ่งซ่อนความรักกับตัวตน คนหนึ่งซ่อนปัญหาครอบครัวที่ผุพัง คนหนึ่งซ่อนความรู้สึกเป็นส่วนเกินในบ้าน

ทุกคนมีชีวิตที่เป็นตัวของตัวเองเมื่ออยู่นอกบ้าน แต่พอกลับเข้าสู่ครอบครัวต้องพยายามใช้ชีวิตซึ่ง ‘นำเสนอเฉพาะด้านดี’ เพื่อหวังการยอมรับจากพ่อแม่ และข้อสำคัญคือกลัวได้รับความรักน้อยลง

และคำว่า ‘ด้านดีที่อยากให้พ่อแม่เห็น’ นั้นก็ไม่ใช่ดีในความหมายสากล แต่คือพยายามใช้ชีวิตตาม ‘ความคาดหวังของพ่อแม่’ จนบางเรื่องที่ไม่มีถูกผิดกลับกลายเป็นว่ากลัวจะผิดในสายตาพ่อแม่

การเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนมิใช่สิ่งไม่ดี การมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบก็ไม่ผิด หรือบุคลิกที่ไม่มีสง่าราศีก็มิใช่เรื่องที่น่าจะถูกรักน้อยลง แต่เมื่อครอบครัวมี ‘กรอบ’ ที่ผลิตจากความคาดหวังของพ่อแม่ ความปกติก็จะกลายเป็นไม่ปกติเมื่อกลับมาในพื้นที่ครอบครัว บาดแผลที่น่าจะได้รับการเยียวยากลับต้องเก็บซ่อนให้มิดชิดแล้วแย่ลง เพียงเพราะกรอบเหล่านั้น

แต่หากพ่อแม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เช่นเดียวกับทุกครอบครัวซึ่งรู้ว่าสิ่งที่ต้องปรับมีเพียง ‘ความคาดหวังของตัวเอง’ แล้วยอมรับลูกอย่างที่ลูกเป็น ให้ความรักลูกแบบไม่มีเงื่อนไขผูกยึดกับความคาดหวังของตัวเอง

เพียงเท่านี้พ่อแม่ก็สามารถทำให้พื้นที่ครอบครัวคือ safe place ซึ่งลูกจะไม่ต้องหลบซ่อน แต่พร้อมสำหรับการพูดคุยแล้วได้รับการเยียวยาจากคนที่พวกเขารักโดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียรักนั้นไป


คอลัมน์: มองโลกผ่านจอ

เรื่อง: “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” (www.facebook.com/ibehindyou ,i_behind_you@yahoo.com)

All Creative Team

Writer

ร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

RELATED POSTRELATED
Recommended to you

error: Don\'t copy !!!